

สมุนไพรมหิดล/คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
มังคุด
Garcinia X mangostana L. (1)
GUTTIFERAE (CLUSIACEAE)
ไม้ต้น สูง 10-12 เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีเหลือง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน เนื้อใบหนาและค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า
ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อมีดอกย่อยสองดอก ออกที่ซอกใบคล้ายปลายกิ่ง สมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวแกมเหลือง กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ
ผลสด ค่อนข้างกลม
สรรพคุณตำรายาไทย
เปลือกผลมังคุดตากแดดให้แห้ง ฝนกับน้ำปูนใสใช้ทาแผลพุพอง แผลเน่าเปื่อย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมังคุด
พบว่าสาร mangostin, l-isomangostin และ mangostin triacetate เมื่อกรอกปากหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวมีผลระงับการอักเสบที่อุ้งเท้าซึ่งทำให้อักเสบด้วย carrageenan และการอักเสบที่หลังโดยฝังก้อนสำลี (cotton pellet pellet implantation) ในหนูที่ตัดต่อมหมวกไตออกทั้งสองข้าง สารเหล่านี้ก็ยังสามารถระงับอาการอักเสบได้
นอกจากนี้ mangostin ยังมีผลในการรักษาแผลในหนูขาวได้ด้วย
สาร xanthone I ในเปลือกมังคุดซึ่งสกัดด้วยเบนซินมีผลต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งทำให้เป็นหนองได้