เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

วรศักดิ์ มหัทธโนบล : อาลัยอาจารย์เจียแยนจอง (ยรรยง จิระนคร)

30.07.2019

เมื่อแรกทำงานที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นั้น มีอยู่วันหนึ่งได้เห็นบุคคลวัยกลางคน 2-3 คนมาที่สถาบันเพื่อพบกับผู้อำนวยการ ซึ่งได้รู้มาก่อนแล้วว่าเป็นกลุ่มนักวิจัยในโครงการวิจัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดไทยในจีน

แต่ในจำนวนนี้มีอยู่ท่านหนึ่งที่แต่งตัวแปลกไปจากท่านอื่น คือสวมเสื้อปล่อยชายออกนอกกางเกง รูปร่างผอมบางและเล็ก ผิวขาว มีผมสีดอกเลา ใบหน้าผ่องใส และเดินเหินคล่องแคล่วว่องไวกว่าคนทั่วไป

ที่สำคัญคือ สะพายย่าม

แรกที่เห็นก็เดาว่าน่าจะเป็นคนจีน ด้วยเห็นจากกางเกงที่ใส่นั้นหลวมมากๆ ด้วยในเวลานั้นชายจีนมักสวมกางเกงแบบนั้น แล้วรัดด้วยเข็มขัดจนเอวกางเกงย่นเห็นเป็นจีบ

ที่แต่งแบบนี้นัยว่าเพื่อใช้กางเกงให้คุ้มค่าโดยเผื่อร่างกายที่อาจอ้วนขึ้นในอนาคต ซึ่งแม้แต่ผู้นำระดับสูงของจีนในเวลานั้นก็แต่งกันเช่นนี้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เดาเช่นนั้นก็เพราะไม่เคยเห็นท่านมาก่อนในวงวิชาการไทย

จนเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็เดินออกจากห้องของผู้อำนวยการ อันเป็นจังหวะเดียวกับที่ได้เดินสวนกับบุคคลกลุ่มนี้พอดี

ตอนนั้นเองก็ได้ยินเสียงของท่านดังกล่าวเป็นภาษาไทยที่ชัดเจนมาก ชัดจนบอกกับตัวเองว่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนจีน ที่ไหนได้กลับเป็นคนไทย

แต่กระนั้นก็ยังสงสัยจากการแต่งตัวอยู่ดี

 

จนเวลาผ่านไปจึงได้ทราบภายหลังว่า บุคคลที่กล่าวถึงอยู่นี้เป็นนักวิชาการที่มาจากเมืองจีน เป็นนักวิชาการด้านไทศึกษา (ไทที่ไม่มี ย ยักษ์)

จากนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ได้พบกับท่านโดยบังเอิญที่สนามบินคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) โดยการแนะนำของนักวิชาการไทยท่านหนึ่งที่อยู่ที่สนามบินนั้นด้วย

การแนะนำตัวกันในครั้งนั้นทำให้รู้ว่า บุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวท่านนี้ชื่อเซี่ยหยวนจัง แต่ในนามบัตรที่ท่านมอบให้นั้นด้านหนึ่งเป็นภาษาจีน ซึ่งได้ระบุตำแหน่งแห่งที่ที่ท่านสังกัดในจีน

อีกด้านหนึ่งแทนที่จะเป็นภาษาอังกฤษดังนามบัตรของชาวจีน แต่กลับเป็นภาษาไทยโดยระบุชื่อเสียงเรียงนามว่า ยรรยง จิระนคร

ถัดลงมาอีกบรรทัดระบุชื่อของท่านว่า เจียแยนจอง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมาจากการอ่านออกเสียงผ่านตัวโรมัน ที่ในสมัยก่อนคนไทยมักอ่านแบบที่อ่านภาษาอังกฤษ

แต่ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือว่า นักวิชาการไทยกลับเรียกขานท่านว่าอาจารย์เจี่ย คือเติมไม้เอกเข้าไปที่แซ่ของท่าน และเรียกท่านด้วยแซ่คำเดียวแบบนั้นเรื่อยมา

 

ตอนหนึ่งของการสนทนาที่สนามบินในครั้งนั้น นักวิชาการทยได้กล่าวในตอนหนึ่งว่าอาจารย์เจี่ยได้เกษียณอายุราชการแล้ว

ตอนนี้มีหลายหน่วยงานในไทยกำลังทาบทามท่านให้ไปทำงานด้วย ตอนที่ฟังนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก เนื่องจากไม่ค่อยทราบเรื่องการบริหารมากนัก จนเวลาผ่านไปนานนับปีจึงได้รับทราบว่า อาจารย์เจี่ยเลือกที่จะมาอยู่ที่จุฬาฯ

และที่ที่ท่านเลือกก็คือ สถาบันเอเชียศึกษา

ตลอดเวลาที่อาจารย์เจี่ยมาทำงานวิชาการที่สถาบันเอเชียศึกษานั้น ได้ทำให้รู้จักท่านมากขึ้น กล่าวโดยข้อมูลพื้นฐานแล้วท่านเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภายใต้สภาสังคมศาสตร์แห่งมณฑลอวิ๋นหนัน

ผลงานวิชาการของท่านแม้จะเน้นหนักไปทางด้านไทศึกษา แต่สำหรับจีนแล้วประโยชน์ที่จะได้จากท่านยังเป็นไทยศึกษาอีกด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาจารย์เจี่ยเกิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ท่านเป็นหลานของขุนนิพัทธ์จีนนคร ชาวจีนฮากกา (จีนแคะ) โพ้นทะเลผู้บุกเบิกหาดใหญ่จนเป็นเมืองในทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมีนามสกุลว่าจิระนคร จากกำเนิดและภูมิหลังที่ว่า ท่านจึงได้รับการศึกษาที่ดีในวัยเยาว์ คือจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในไทยแล้ว ทางบ้านก็ส่งท่านไปเรียนต่อที่กว่างโจว (กวางเจา) มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)

จากนั้นจึงได้ย้ายไปที่เมืองคุนหมิง

 

พ้นไปจากข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ได้รับรู้จากท่านนับตั้งแต่อยู่ที่สถาบันเอเชียศึกษา จนถึงเมื่อท่านกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่จีนนั้น ถือเป็นช่วงที่ทั้งได้รับรู้และเรียนรู้จากท่านอย่างมากมายจนยากที่จะสาธยาย

เรื่องที่รับรู้เรื่องหนึ่งคือ ช่วงวิกฤตของชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อจีนปฏิวัติขึ้นใน ค.ศ.1949 โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน การเปลี่ยนระบอบการปกครองครั้งนั้นทำให้อาจารย์เจี่ยมิอาจกลับมาไทยได้อีก และทำให้ต้องใช้ชีวิตในจีนนับแต่นั้นมา ท่านเล่าว่า ช่วงนั้นท่านสับสนในชีวิต เพราะด้านหนึ่งก็คิดถึงบ้านที่เมืองไทย แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำอะไรไม่ได้ด้วยกลับเมืองไทยไม่ได้

เช่นนี้แล้วจึงมีอยู่ทางเดียวคือ ต้องอยู่ที่จีนให้ได้

การใช้ชีวิตในฐานะที่เป็นคนต่างชาตินั้นต้องปรับตัวอย่างมาก ด้วยหลังจากนั้นท่านได้งานเป็นข้ารัฐการของทางการจีน จะคิดจะทำอะไรมักมีความเป็น “ต่างชาติ” ติดอยู่ในความคิดของผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อหน่วยงานที่ท่านสังกัดต้องการความรู้เรื่องที่เป็นไทยๆ อย่างเช่นการเมืองไทย ท่านก็ต้องสนองตอบอย่างจริงจัง กว่าที่ทางหน่วยงานจะวางใจท่านได้เวลาก็ผ่านไปนานหลายปี

แต่จนถึงเวลานั้น ฐานะทางวิชาการของท่านในด้านไทศึกษาก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วในจีน ท่านใช้ชีวิตที่กลมกลืนไปกับสังคมจีนคอมมิวนิสต์ได้ด้วยดี และแต่งงานกับหญิงชาวจีนมีครอบครัวอยู่ที่คุนหมิงสืบมา

และที่ไม่มีผลต่อชีวิตของท่านเลยก็คือ ภาษาไทย ที่ยังคงพูดและใช้ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ท่านมีกิจวัตรอย่างหนึ่งคือ ฟังวิทยุภาคภาษาไทยจากบางสถานีที่อยู่นอกประเทศเพื่อติดตามข่าวสารของไทย แล้วรายงานต่อต้นสังกัดหากมีข่าวที่สำคัญ

 

จนวันหนึ่งในราวต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.1976 กิจวัตรดังกล่าวทำให้ท่านได้ฟังข่าวชิ้นหนึ่งว่า กลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่งที่ปักกิ่งได้จับกุมอดีตภรรยาของเหมาเจ๋อตงกับสหายกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันต่อมาว่าแก๊งสี่คน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม

พอได้ฟังท่านก็แปลกใจและตกใจ เพราะข่าวสำคัญเช่นนี้ทำไมจึงเงียบเชียบในจีน ท่านจึงนำข่าวนี้ไปเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟัง

ผลคือ ท่านถูก บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือน ว่านำข่าวเหลวไหลจากต่างชาติมาบอกเล่าอย่างพร่ำเพรื่อ และห้ามมิให้พูดถึงเรื่องนี้อีก

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทางการจีนก็ได้ประกาศข่าวดังกล่าวพร้อมกับระบุข้อหาและวิพากษ์วิจารณ์แก๊งสี่คน

ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ตลกร้าย เพราะข่าวสำคัญขนาดนี้ต่างชาติกลับรู้ก่อนชาวจีน ทั้งๆ ที่เป็นข่าวของจีนโดยแท้

 

ส่วนเรื่องที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์เจี่ยก็คือ ตลอดเวลาที่อยู่ที่สถาบันเอเชียศึกษานั้นได้พบว่า ท่านมีน้ำใจที่กว้างใหญ่ไพศาลในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ

โดยหากเป็นเรื่องวิชาการแล้วท่านจะมีวิธีที่แยบยลที่อาจแบ่งได้เป็นสองด้าน

ด้านหนึ่ง เป็นการอธิบายให้ความรู้ด้วยความเข้าใจพื้นฐานของผู้ถาม

อีกด้านหนึ่ง เป็นการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ถาม

ทั้งสองด้านนี้บางทีก็แยกกันใช้ บางทีก็ใช้ในคราวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับเรื่องและผู้ที่มาถาม

อย่างตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้น ท่านจะอธิบายว่า ไทยเป็นสังคมเปิดมากกว่าจีน จึงไม่ค่อยมีปัญหาในการเปิดเผยข่าวสาร แต่กับจีนซึ่งเป็นสังคมปิดและอ่อนไหวกับเรื่องการเมืองและความมั่นคง

หากไม่คิดให้รอบคอบแล้วประกาศข่าวดังกล่าวออกไป บางทีอาจเกิดความปั่นป่วนเอาได้ง่ายๆ

การเปรียบเทียบทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ และเกิดขึ้นได้ก็เพราะครึ่งชีวิตของท่านเป็นคนไทย เวลาฟังท่านอธิบายอะไรทำนองนี้จึงเข้าใจได้ง่ายและเร็ว ซึ่งสำหรับตนเองที่ศึกษาเรื่องจีนแล้วนับว่ามีประโยชน์มาก

ส่วนด้านที่เป็นการแนะนำก็เช่น ถ้าท่านได้สนทนากับผู้ที่มาขอความรู้จากท่านไประยะหนึ่งแล้วท่านก็จะแนะนำว่า เรื่องนั้นๆ มีหนังสือให้อ้างอิงแบบสะดวกรวดเร็วประเภทหนังสือคู่มือ แล้วท่านก็เล่าว่า ที่จีนมีหนังสือประเภทนี้อยู่มากมายหลายสาขาให้เลือกมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย แล้วท่านก็ยกตัวอย่างคู่มือบางเล่มแล้วอธิบายวิธีใช้ให้ฟัง

นับแต่นั้นมา ทั้งด้วยการแนะนำของอาจารย์จีนท่านอื่นบ้าง ด้วยการขวนขวายส่วนตัวบ้าง ทำให้ได้หนังสือประเภทที่ว่าอยู่หลายเล่ม และใช้ทำมาหากินมาจนทุกวันนี้

 

ความที่ท่านเป็นผู้มีน้ำใจอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ยังถูกแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่แม้ในเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย และเป็นเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมาจนทุกวันนี้ เช่น ช่วงหนึ่งที่ได้ไปปฏิบัติราชการที่คุนหมิงนานนับเดือน ที่ทำให้ได้พบปะสนทนากับท่านอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยบางครั้งท่านก็พาไปรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน

พาไปด้วยความเข้าใจใน “รส” แห่งความเป็นคนไทยของเรา

การจากไปของอาจารย์เจียแยนจองเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.2019 ด้วยวัย 89 ปี จึงเป็นข่าวที่น่าเสียใจเท่าๆ กับที่น่าใจหาย ว่าแต่นี้ไปวงวิชาการไทศึกษาและจีนศึกษาได้สูญเสียเสาหลักไปอีกหนึ่งต้นแล้ว

จึงขอคารวะแด่ดวงวิญญาณของอาจารย์เจียแยนจองมา ณ ที่นี้ด้วย



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่