
ส่องศูนย์ปราบ “เฟคนิวส์” ตำรวจ ดึงมือฉมัง “บิ๊กปั๊ด” มาสเตอร์มายด์ ปฏิบัติการต้านข่าวปลอม

ปัจจุบัน “เฟคนิวส์” (fake news) ข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวปลอม แพร่ระบาดเป็นอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ ในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดีย นำพาข่าวปลอมให้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หลายข่าวสร้างความตื่นตระหนก ความเสียหายให้กับประชาชนที่หลงเชื่อ หรืออาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อความมั่นคงสงบสุขของสังคมและประเทศชาติ
ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงต้องทำหน้าที่เชิงรุกในการจัดการปัญหาเฟคนิวส์ในสังคมไทย
โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า มีการตั้งศูนย์เฟคนิวส์ขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างสรรหาบุคลากรจากหลายหน่วยงาน โดยเน้นย้ำว่าศูนย์เฟคนิวส์จะเป็นศูนย์ที่เน้นเรื่องการทำความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน จะไม่เกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบ สืบนำจับ
แต่จะเป็นศูนย์ที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทุกช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และเพจ มีคณะกรรมการในการติดตามดูว่าข่าวไหนควรได้รับการติดตามว่าเป็นข่าวปลอม หรือข่าวจริง
หากพบว่าเป็นข่าวปลอม จะมีการตรวจสอบภายในไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังช่องทางเดิม เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้
โดยจะสามารถลดความสับสน และความตื่นตระหนกของประชาชนลงได้มาก
คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนจะสามารถเปิดใช้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองระบบ
เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ซึ่งมีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สนองรับนโยบายดังกล่าว โดยสั่งการให้ทุกหน่วยมีการมอบหมายผู้บังคับบัญชาไปดูแลแก้ไข มิให้สร้างความเสียหายหรือความเข้าใจผิด
พร้อมมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข หรือ “บิ๊กปั๊ด” รอง ผบ.ตร.งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ ที่เป็นมือฉมังสืบสวนสอบสวน ดูแลศูนย์ของ ตร. โดยให้ยกร่างคำสั่งให้เสร็จสิ้นภายใน 30 ตุลาคมนี้
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปีนี้ เน้นหนักไปในเรื่อง “เฟคนิวส์” การบิดเบือนข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคข่าวสารหลงเชื่อ บางครั้งส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นความจริง โดยเตรียมตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อปราบปราม ทุกข่าวที่เป็นข่าวบิดเบือนจะดำเนินการทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็มีการสร้างเฟคนิวส์ ส่วนคนที่ทำจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ ก็มีข้อมูลบางส่วนแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนขอบเขตการทำงานก็จะทำทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้บางส่วน ปอท.ก็เป็นผู้รับผิดชอบ
ไม่กี่วันถัดมา ปอท.มีการจับกุมนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ถูกจับกุมข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฯ”
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นายกาณฑ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และสร้างความเกลียดชัง
ซึ่งข้อความที่โพสต์ดังกล่าว มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นประมาณ 100 ข้อความ และมีการแชร์ออกไปประมาณ 50 ครั้ง จนอาจทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกไม่ค่อยพอใจ
อาจเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ยับยั้งกลุ่มที่กำลังสร้างข่าวปลอมบนโลกออนไลน์นั่นเอง
แต่หากย้อนดูคำสั่งของ ผบ.ตร. ที่ระบุว่า จะตั้งศูนย์ปราบปรามเฉพาะกิจที่ ตร. แต่ผ่านไปหลายสัปดาห์ยังไม่มีวี่แววความชัดเจนในการตั้งศูนย์ดังกล่าว รวมถึงไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย
ซึ่งที่ผ่านมาการจับกุมผู้ต้องหาในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ก็มี ปอท. เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว
แบบนี้มองว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่??
สอบถามไปยัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ระบุว่า ทาง ผบ.ตร.ได้ลงนามตั้ง “ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปอส.ตร.” ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเซ็ตระบบการทำงาน ปรับโครงสร้างบุคลากร กำหนดกรอบการทำงาน
โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ กระทรวงดีอีเอส
ซึ่งศูนย์ ศปอส.ตร.จะรับผิดชอบในเรื่องการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีกับผู้ทำผิด ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ถูกหลอก ถูกโกงบนโซเชียลมีเดีย
สําหรับลักษณะการทำงานในเบื้องต้นจะให้ผู้เสียหายโทร.เข้ามาผ่านสายด่วน 1599 ร้อยเวรรับแจ้งความทางโทรศัพท์ จะจดข้อมูลเบื้องต้นเพื่อดูรายละเอียดความผิดต่างๆ หากผิดกฎหมายก็ส่งต่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของพื้นที่
เมื่อส่งต่อไปแล้วก็ต้องมีระบบติดตามว่ามีปัญหาขัดข้องตรงไหนหรือไม่ จะสามารถสนับสนุนทางเทคนิคอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้ ยังตั้งผู้บังคับการสืบสวนของทุกหน่วยทั่วประเทศ เข้ามาอยู่ในทีมด้วย หากพบว่ามีผู้กระทำผิดกระจายอยู่ในหลายท้องที่ และต้องประสานใช้กำลังตำรวจ ก็จะประสานโดยตรงไปที่ผู้บังคับการศูนย์สืบนั้นๆ เพื่อความรวดเร็วในการจับกุม
“ยกตัวอย่างมีประชาชนถูกหลอกให้เสียเงินทางโซเชียลมีเดีย โทร.มาหาเรา เราก็ขอรายละเอียดเบื้องต้น และส่งต่อให้ตำรวจพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้นๆ แต่ถ้ามีผู้เสียหายประมาณ 10 ราย แล้วผู้ต้องหาเป็นคนเดียวกัน เราก็จะมีทีมลงไปสืบสวนติดตามจับกุม ซึ่งทีมที่ส่งลงไปก็จะคอยช่วยเหลือตำรวจท้องที่เรื่องของเทคนิคด้วย การทำงานก็จะไม่รวมทุกคดีไว้ที่ศูนย์เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญชาวบ้านไม่ต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ชาวบ้านอยู่ตรงไหนแจ้งตรงนั้น ไม่ต้องห่วงว่าตำรวจพื้นที่จะทำไม่ได้ เราจะดูแลให้จนจบกระบวนการ”
พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวอีกว่า การตั้งศูนย์ ศปอส.ตร. นั้น จะเริ่มภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยทีมงานในศูนย์จะมีมากกว่า 100 คน ทำงานร่วมกับ ปอท. เจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญทำหน้าที่แตกต่างกันไป คนที่เข้ามาทำงานก็ต้องกลั่นกรองค่อนข้างมาก ต้องเป็นคนมีความสามารถทางเทคโนโลยี การสืบสวนสอบสวน และความสามารถด้านงานธุรการ
อย่างไรก็ตาม ทาง ผบ.ตร.ก็ได้กำชับถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความโปร่งใส เรื่องการคัดเลือกคนมาปฏิบัติหน้าที่