
ปริศนาโบราณคดี : เสน่ห์ ผู้นำ และอำนาจ เช เกวารา vs ฟิเดล คาสโตร (4)

ระหว่าง “ชาวนา” กับ “กรรมกร”
การที่ กอมมานดานเต เช เกวารา กับ ฟิเดล คาสโตร สามารถใช้เวลาบุกยึดกรุงฮาบานา นครหลวงของคิวบาภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี 2 เดือนได้นั้น ทั้งนี้ก็เพราะเขาทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากสหายชาวนา และสหายกรรมกรเป็นกำลังหลัก
ความผูกพันอันลึกซึ้งต่อสหายทั้งสองกลุ่ม ผู้ที่เชเพรียกขานและยกย่องว่า “ทุกคนเป็นนายพลโดยตนเอง” นั้น กลับกลายเป็นประเด็นที่สร้างแรงวิวาทะให้กับเชและฟิเดลอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง ภายหลังจากการที่ ฟิเดล คาสโตร เข้าสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีของคิวบาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1959
เนื่องจากเชต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของสหายชาวนาเพื่อนร่วมตาย ด้วยการโค่นล้มกลุ่มราชาที่ดินเก่าให้สิ้นซาก หลังจากยึดโฉนดที่ดินได้แล้ว เชต้องการนำมันมาจัดสรรที่นาทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้
ทว่า ในสภาพความเป็นจริงขณะนั้น คิวบากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาด้านเศรษฐกิจเยี่ยงประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลกทั้งหลาย ที่ไม่มีเม็ดเงินมาลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่สามารถพัฒนาความเจริญด้านใดๆ ได้เลย เหตุเพราะเงินที่มีอยู่ในคลังนั้น ล้วนเป็นเงินที่บาติสตากู้ยืมมาจากอเมริกาทั้งสิ้น

AFP PHOTO / BOHEMIA / HO
ในขณะที่ฟิเดลมองว่า ประเทศคิวบามีเพียงแต่ “ไร่อ้อย” เท่านั้นที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักช่วยสร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่า 80% แม้แต่บิดาของเขาเองก็ถีบตัวจากชาวนามาเป็นกรรมกรโรงงานน้ำตาล และในที่สุดเป็นเจ้าของโรงงานรายย่อย หลังจากที่คิวบาขับไล่ทุนนิยมตะวันตกออกไปได้แล้ว เศรษฐกิจคิวบาจะดำรงอยู่ได้อย่างไร หากปราศจากเงินกู้จากจักรรวรรดินิยมตะวันออกรัสเซีย เพื่อให้โรงงานอ้อยยังคงอยู่ เขายังมองไม่เห็นหนทางอื่น
เชกับฟิเดลเกิดวิวาทะกันหลายครั้งว่าควรจัดการอย่างไรให้ลงตัว ระหว่าง “สังคมอุดมคติ” กับ “สภาพความเป็นจริง” ระหว่าง “สังคมเกษตรกรรม” กับ “สังคมอุตสาหกรรม” และระหว่าง “การยอมรับอำนาจจักรวรรดิรัสเซีย” กับ “การหยัดยืนอย่างโดดเดี่ยวและยากเข็ญ”
ฟิเดลขอร้องให้เชเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชยอมรับว่าสถานการณ์ความยากจนในคิวบาได้บีบบังคับให้เขาต้องคล้อยตามฟิเดลในบางกรณี
ระยะแรกเชชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปที่ดินสำหรับชาวนา ต่อมาเปลี่ยนเป็นเน้นการขยายโรงงานอุตสาหกรรม และเขาเสนอฟิเดลว่า แทนที่จะปล่อยให้ชาวคิวบาปลูกพืชเชิงเดี่ยวเฉพาะแค่อ้อยเพียงอย่างเดียวต่อไป ชาวคิวบาจะต้องเรียนรู้การปลูกพืชชนิดอื่นๆ ควบคู่และทดแทนไปพร้อมๆ กันด้วย

AFP PHOTO / CONSEJO DE ESTADO / HO
เปลี่ยนเงินค่าจ้างเป็นสวัสดิการ
เมื่อเชและฟิเดลค่อยๆ ปรับฐานประชากรจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมกึ่งอุตสาหกรรมมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว ฟิเดลก็เริ่มประสบกับวิกฤตการขาดแคลนเงินตรามาพัฒนาประเทศ เขาจึงขอร้องให้เชเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามารับหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลาง ในทำนองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน
เช จากนายแพทย์นักอุดมคติ เจ้าของทฤษฎีสงครามจรยุทธ์ (สงครามกองโจร) ผู้เพิ่งผันตัวเองมาขับเคลื่อนเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคิวบาหมาดๆ ต้องเริ่มต้นศึกษาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักเพื่อต่อสู้กับความยากจนของประชากรคิวบาอีกมิติหนึ่ง
เขาคือบุคคลเพียงคนเดียวที่ฟิเดลไว้วางใจจากประสบการณ์ตรง อะไรก็ตามแต่ที่เชได้รับมอบหมายให้ทำ เชไม่เคย “สักแต่ว่าทำ” หากแต่เขา “ต้องทำให้ดีที่สุด”

AFP PHOTO / –
เชเขียนบันทึกในหนังสือเรื่อง Man and Socialism in Cuba (คนกับสังคมนิยมในคิวบา) ตอนหนึ่งว่า
“เงินและความโลภคือบาป การแข่งขันกันด้านทุนนิยม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์กลายร่างเป็นสัตว์ป่า และการปล่อยกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยถือเป็นสิ่งที่น่าละอายใจ”
ตลอดระยะเวลาที่เชช่วยงานพัฒนาประเทศคิวบาให้กับฟิเดลนานถึง 6 ปี เชปฏิเสธที่จะรับเงินเดือน เขาใช้ชีวิตการกินอยู่อย่างสมถะ ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ขณะที่มนุษย์ทำงาน เราควรมีความสุขและภาคภูมิใจกับมัน ไม่ใช่ทำงานเพื่อแค่รอเม็ดเงิน ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐมนตรี ชาวนาหรือกรรมกร ทุกคนควรตระหนักอยู่เสมอว่า เราคือผู้สร้างโลกให้งดงามน่าอยู่ สิ่งตอบแทนที่คนทำงานหนักควรได้รับ ไม่ควรเป็นเงินตราที่กระตุ้นให้เกิดความโลภ แต่ควรเป็นสวัสดิการหรือปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ในการดำรงชีวิต เช่น การเข้าถึงการศึกษา การได้รับการรักษาพยาบาล ระบบการคมนาคม ฯลฯ”
ด้วยเหตุนี้ ประเทศคิวบาจึงกลายเป็นต้นแบบของคำว่า “รัฐสวัสดิการ” และ “ประเทศสังคมนิยม” มิใช่ “ประเทศคอมมิวนิสต์”

Raul Castro (R) and Che Guevara / AFP PHOTO / BOHEMIA / HO
ไฉนฟิเดลกล้าใช้งานบุคคลที่รังเกียจเงินตราเช่นเชให้มารับหน้าที่นักบริหารการเงินการคลังในระดับชาติ ณ ห้วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการก่อร่างสร้างคิวบาเช่นนี้ได้เล่า
ฤๅฟิเดลมิอาจไว้วางใจใครอื่นใดได้เลยนอกเสียจากเช หรือฟิเดลต้องการท้าทายทฤษฎีสุดโต่งที่ต่างขั้วระหว่างเขากับเชว่าใครจะแน่กว่ากัน ปล่อยให้เชแสดงบทบาทนั้นก่อน รอวันล้มไม่เป็นท่าจึงถือโอกาสเข้าแก้สถานการณ์ด้วยทฤษฎีฝักใฝ่โซเวียต เพราะฟิเดลเองก็วิพากษ์เชอยู่บ่อยๆ ว่า แนวคิดแบบนั้นอาจทำให้โลกย้อนถอยหลังสู่สังคมยุคบุรพกาล
หรือว่าฟิเดลมองเห็นศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเชอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ
ฟิเดลรู้อยู่เต็มอกว่าเชปฏิเสธแนวคิดการกู้ยืมเงินจากรัสเซียตามข้อเสนอของเขา โดยที่เชบริภาษว่า
“อุดมการณ์ของลัทธิสังคมนิยม ไม่ได้สอนให้คนหวนกลับไปสู่ยุคมืดหรือสมัยกลางที่บาทหลวงคอยขูดรีดดอกเบี้ยจากคนจน ชาวนาและกรรมกรไม่ควรถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักเพียงเพราะเห็นแก่เงิน แต่ควรสร้างสรรค์ผลิตผลอย่างมีความสุข ภาคภูมิใจ อิ่มเอม ที่ได้ปลดปล่อยตัวเองออกมาจากยุคมืดมนอนธกาล
ลัทธิสังคมนิยมมีความหมายมากกว่าแค่การยกระดับค่าครองชีพของคนให้สูงขึ้น ทว่า จะต้องหมายถึงคุณภาพของชีวิตที่ดีขึ้นด้วย และหากเราทำได้ถึงจุดนั้น บางทีเงินตราอาจกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเลยก็ได้ เหมือนกับการค้าทาสที่ต้องสิ้นสุดลง”
เชชูธง “อุดมการณ์ด้านศีลธรรม” หรือการพัฒนาสำนึกที่ควรมีอยู่ในจิตใจของการทำงานหรือนักลงทุนทุกสาขา เขามองว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น โรงงานเบียร์ที่มีส่วนมอมเมาประชาชน ก็ไม่ควรเปิดโอกาสให้ขยายกิจการใหญ่โตมากเกินไป
ในขณะที่กิจกรรมอันประเทืองปัญญา เช่น สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์หนังสือที่ผลิตตำราเรียน วรรณกรรม หากปล่อยให้แข่งขันแบบเสรี ผู้ประกอบอาชีพหลังนี้ย่อมสู้กับตลาดน้ำเมาไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกจัดสรรแบ่งปันเงินทุนให้แก่บางสาขาอาชีพที่ยังประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณค่าความเป็นมนุษย์มากกว่าด้วย
ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เชกับฟิเดลมีความเห็นไม่ค่อยจะสอดคล้องกันเท่าใดนัก และน่าจะเป็นแรงผลักสำคัญที่ส่งผลให้เชกับฟิเดลต้องแยกทางกันเดินไปตามอุดมการณ์ของแต่ละคน
สัปดาห์หน้าจะเป็นตอนสุดท้าย ว่าด้วย “บทเรียนแห่งอำนาจของ ฟิเดล คาสโตร” ผู้กล่าววลีเด็ดว่า “ประวัติศาสตร์จะทำให้ข้าพเจ้าพ้นจากความผิด”
และร่วมเฉลิมฉลองสดุดีวีรบุรุษผู้ไม่เคยตาย “เช เกวารา” ในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการลาจากโลกนี้ไปของเขา
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


