เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /ระวัง! ‘การ์ดตก’ กลับไปนับ 1 ใหม่

03.05.2020

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ระวัง! ‘การ์ดตก’ กลับไปนับ 1 ใหม่

 

หลังจากรัฐบาลได้ใช้มาตรการค่อนข้างเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

ซึ่งมีผลให้ต้องปิดสถานที่เสี่ยง อันมีผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชนนั้น

พอผ่านไปได้สักครึ่งทาง ก็เริ่มมีเสียงจากนักการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้านบางคนหรือแนวร่วมฝ่ายค้านกดดันให้รัฐบาลเลิกล็อกดาวน์

โดยอ้างว่าสามารถควบคุมการระบาดได้พร้อมๆ กับการเปิดให้มีการทำธุรกิจตามปกติ

อีกทั้งอ้างว่าขณะนี้ระดับการติดเชื้อลดน้อยลงแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มงวด

เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะการที่อัตราผู้ติดเชื้อลดลงจากระดับ 188 คนต่อวัน (วันที่ 22 มีนาคมเป็นต้นมา) กลับมาเหลือหลักสิบ (เฉลี่ยวันละ 30-40 กว่าคนในกลางเดือนเมษายน) ก็เกิดจากการใช้มาตรการที่เข้มงวด

ถ้าเลิกเข้มงวด การ์ดตก ก็อาจเป็นไปได้ที่การติดเชื้อจะกลับมาพุ่งทะยาน และต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่

การจะเปิดให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันและเปิดธุรกิจตามปกติแบบเต็มที่ อาจยิ่งล่าช้าออกไป

เปรียบเสมือนเราไปแข่งวิ่ง อุตส่าห์อดทนฝึกฝนอย่างหนักมาเป็นปี พอไปลงแข่ง ใกล้จะถึงเส้นชัยแล้วกลับหยุดวิ่งไปดื้อๆ ทั้งที่เหลือไม่กี่ก้าว

 

พวกแนวร่วมฝ่ายค้านที่เร่งเร้าจะให้เปิดธุรกิจโดยไว สามารถเรียกร้องอย่างไรก็ได้ เพราะหากผลลัพธ์ออกมาว่ามีผู้ติดเชื้อมากขึ้น คนที่ต้องรับผิดชอบและถูกด่าก็คือรัฐบาล ส่วนฝ่ายเร่งเร้าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

เชื่อเถอะว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งทะยานอีก ฝ่ายตรงข้ามก็จะตำหนิรัฐบาลวันยังค่ำ

แบบเดียวกับเรื่องแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เห็นได้จากช่วงต้นเดือนมีนาคม ที่ยังไม่มีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง แต่ประชาชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดือดร้อนหนักเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา

รัฐบาลจึงมีแนวคิดจะแจกเงินผู้มีรายได้น้อยหัวละ 2,000 บาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นการทำตามบางดินแดน เช่น ฮ่องกงที่เริ่มแจกเงินประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

แต่ถูกต่อต้านหนัก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สั่งถอย แล้วเปลี่ยนเป็นการคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าแทน

ตอนนั้น (8 มีนาคม) นักการเมืองบางคนในพรรคเพื่อไทย เช่น วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช หัวหน้าศูนย์สารสนเทศ พรรคเพื่อไทย ออกมาคัดค้านและโจมตีรัฐบาลว่าบริหารงานไม่เป็น การแจกเงินไม่ใช่ทางแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ควรใช้วิธีแจกหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนจะดีกว่า

แต่พอถึงเดือนเมษายน หลังจากรัฐบาลออกมาตรการแจกเงินประชาชนคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยกำหนดคุณสมบัติผู้จะได้รับ นายวัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย ออกมาเสนอว่า รัฐบาลควรแจกเงินให้ทุกครัวเรือน 8,000-10,000 บาท ไม่ว่าจะยากดีมีจน คือจ่ายไปเลยทุกคน ไม่ต้องมีการคัดกรองคุณสมบัติ

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ซีกฝ่ายค้านพูดขัดแย้งกันเอง คนหนึ่งค้านการแจก อีกคนให้แจกแบบหว่านไปเลยไม่เลือกยากดีมีจน

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรัฐบาลแจกแบบไม่คัดกรอง จะมีอะไรมารับประกันว่าฝ่ายค้านจะไม่ตลบหลังรัฐบาลในภายหลัง ด้วยการนำประเด็นมาโจมตีหรือเอาผิด

ดังนั้น คนเป็นรัฐบาลก็ย่อมเสียวสันหลังเหมือนกันเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน จึงต้องรัดกุมไว้ก่อน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทย ทำให้เราได้เห็นความคิดแปลกๆ ของมนุษย์ บางคนก็ดูเหมือนฉลาด การศึกษาสูง แต่พอให้คิดอย่างมีตรรกะ กลับดูเหมือนสอบตก

31 มกราคม ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ที่ถูกบางคนตั้งฉายาว่า “หม่อมไม่ (เคย) ปลื้ม” สื่อในเครือทักษิณ โพสต์ด่ารัฐบาลว่า “ถ้าเป็นผมจะสั่งบล็อกเที่ยวบินทั้งหมดไม่ให้เข้าประเทศ นายกฯ ตัดสินใจช้ามาก สมควรเปลี่ยนนายกฯ เห็นแก่เงิน แทนที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสาธารณสุข”

ความหมายก็คือ การตำหนิว่ารัฐบาลเห็นแก่รายได้ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ (ไม่ยอมแบนคนจีน) มากกว่าความปลอดภัยทางสาธารณสุข

แต่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์อาจลืมนึกถึงความเดือดร้อนของประชาชน ตั้งแต่นายทุนไปจนถึงชาวบ้านจำนวนมากที่ยังชีพด้วยการผูกติดกับกิจการท่องเที่ยว

พอถึงวันที่ 7 เมษายน ซึ่ง ครม.มีมติเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม หม่อมหลวงไม่ปลื้ม โพสต์ย้อนแย้งกับสิ่งที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ ดังนี้ “จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงแล้ว (54 ราย) คิดสิ ดังนั้น ไม่มีเหตุผลต้องเลื่อนเปิดเทอม ทุเรศคิดได้ไง นอกจากการศึกษาพังแล้ว เศรษฐกิจก็พัง เอาโรงเรียนของเราคืนมา เอาเศรษฐกิจของเราคืนมา ไวรัสคุมได้แม้ว่าจะเปิดทุกอย่างด้วยการฝึก social distancing ลองไปดูญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซิ”

สรุปว่าในโพสต์นี้ หม่อมไม่ปลื้มต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ การศึกษา มากกว่าด้านสาธารณสุข

 

ลองคิดดู วันที่ 31 มกราคม ไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 ราย รวมติดเชื้อสะสมแค่ 19 ราย แต่หม่อมปลื้มบอกว่า ถ้าตัวเองเป็นนายกฯ จะสั่งบล็อกทุกเที่ยวบินไม่ให้เข้าประเทศ (ซึ่งก็คือปิดประเทศ) พอถึงวันที่ 7 เมษายน ไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 54 คน ติดเชื้อสะสม 2,423 คน หม่อมปลื้มกลับบอกว่าไม่มีเหตุผลที่จะเลื่อนเปิดเทอม เป็นตรรกะที่ถูกต้องหรือ

แล้วทำไมไม่คิดย้อนกลับบ้างว่า การที่สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาเหลือ 54 จากระดับหลักร้อยต่อวัน มันเกิดจากอะไร

ส่วนที่บอกว่าให้รัฐบาลไทยไปดูสิงคโปร์ ญี่ปุ่นนั้น หม่อมไม่ปลื้มอาจไม่ได้ติดตามข่าวสองประเทศนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทั้งสองประเทศที่คนไทยบางคน (เช่น โบว์ มหัทธนา คู่หูนายวัฒนา เมืองสุข) ชื่นชมนักหนาว่าคุมโควิดได้ดีนั้น บัดนี้จำนวนผู้ติดเชื้อทะลักทลายแซงไทยไปแล้ว

ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนเป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันในสิงคโปร์พุ่งขึ้นแตะหลักร้อยเป็นครั้งแรกนับจากการแพร่ระบาด จากนั้นก็ทำสถิติใหม่อย่างน่าตกใจอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 13 เมษายน ติดเชื้อเพิ่ม 386 ราย 16 เมษายน ติดเชื้อเพิ่ม 728 คน 18 เมษายน เพิ่มอีก 942 ทำให้ในวันที่ 19 เมษายน สิงคโปร์ติดเชื้อสะสมสูงสุดอันดับ 1 ในอาเซียนเป็นครั้งแรกจำนวน 6,588 ราย แซงฟิลิปปินส์และมาเลเซียไปอย่างเร็ว ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของไทยในวันเดียวกันยังไม่ถึง 3,000 คน

ต่อมา 20 เมษายน สิงคโปร์ทำสถิติใหม่อีกครั้ง มีผู้ติดเชื้อวันเดียว 1,426 ราย วันที่ 21 เมษายน ติดอีก 1,111 ราย ทำให้ยอดสะสมทะลุ 9,000 ไปแล้ว

สิงคโปร์นั้นใช้มาตรการเข้มงวดและกฎหมายแรงก็จริง แต่หละหลวมบางจุด เช่น การดูแลแรงงานต่างด้าวที่กลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ในตอนนี้ และยังมีช่องโหว่คือไม่แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ตื่นตัวเรื่องนี้มาก่อนสิงคโปร์ค่อนข้างนาน

ส่วนสิงคโปร์เพิ่งตื่น ออกกฎหมายบังคับประชาชนสวมหน้ากากเมื่อวันที่ 14 เมษายน

 

ความผิดพลาดครั้งนี้ของสิงคโปร์ ทั้งที่ทำได้ดีมาตลอด ทำให้ต้องกลับมาเข้มงวดมากกว่าเดิมโดยขยายเวลา “กึ่งล็อกดาวน์” ไปอีก 4 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ทั้งที่ควรจะสามารถผ่อนคลายและออกวิ่งได้ก่อนเพื่อนบ้านในอาเซียน

ส่วนญี่ปุ่น หลังจากปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตเถิดเทิงตามสบาย ไปเบียดเสียดเป็นปลากระป๋อง ชมซากุระบานช่วงปลายเดือนมีนาคม ก็กลับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 7 เมษายน หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เคยน้อยๆ นิ่งๆ หลักสิบต่อวัน พุ่งพรวดวันละ 100 กว่า และถึงแม้จะประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยังเดินหน้าเกิน 10,000 คนไปแล้ว เนื่องจากบังคับอะไรประชาชนไม่ได้ ปรับหรือจับไม่ได้ นัยว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจลงโทษ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ

ด้วยเหตุนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นห่วงว่า ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงจะเดินตามรอยอิตาลี เป็นระเบิดเวลาแห่งไวรัสของเอเชีย



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ลุงป้อมออกแถลงการณ์ บี้นายกฯลาออกแสดงความรับผิดชอบ ย้อนตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจเคยเตือนแล้วภาวะผู้นำ ไม่ใช่เวทีมือสมัครเล่น
“รมว.นฤมล” ดึงภาครัฐ-เอกชน ลงนาม MOU ส่งเสริมการปลูกกาแฟ หนุนเพิ่มผลผลิต ตอบโจทย์ความต้องการในประเทศ ลดการนำเข้า ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย
ย้อนรอยประวัติศาสตร์อาวุธชีวภาพสุดสยอง (2)
สรุป บทแก้ต่าง ของ ธงชัย วินิจจะกูล ต่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ
130 ปี ปฐมบทการปกครองท้องถิ่นไทย (พ.ศ.2440) จุดเริ่มต้นที่กลายเป็นปัญหาในระยะยาว
วัย 50+ ระวัง ‘งูสวัด’ อสรพิษร้าย (ป้องกันได้ด้วย ‘วัคซีน’)
มนุษย์สัมพันธ์กับท้องฟ้า
รูปร่าง Dad bod เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
33 ปี ชีวิตสีกากี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (128)
ปฐมคัมภีร์การแพทย์แดนมังกร (2)
เมษา พฤษภา 2553 มรภูมิ ‘ร้อน’ ลาดหลุมแก้ว คืนสุกดิบ ก่อนปะทะ ‘ใหญ่’
ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (70)