เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระแม่โพสพ และเทพีศรี ผีแม่ข้าวอุษาคเนย์ ที่ถูกบวชให้เป็นพราหมณ์

07.05.2020

ถึงแม้จะมีชื่อแขกๆ ว่า “พระแม่โพสพ” แต่พระแม่องค์นี้ก็ไม่ได้เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และไม่ได้มีในอินเดียหรอกนะครับ

แถมเอาเข้าจริงแล้ว ก็ยังมีหลักฐานในทวาทศมาสโคลงดั้น วรรณกรรมยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ที่เรียก “พระแม่โพสพ” ว่า “พระไพศพ” ที่ปราชญ์ทางภาษาเขาอธิบายกันว่า มาจากคำสันสกฤตว่า “ไพศฺรพณะ” (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำบาลีว่า “เวสฺสวณฺ” หรือที่ไทยเรียกว่าท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรนั่นเอง

ตามคติในศาสนาพุทธแล้ว ท้าวเวสสุวรรณเป็นหนึ่งในสี่ของท้าวจตุโลกบาล โดยประจำอยู่ทางทิศเหนือ ในสวรรค์ชั้นแรกซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาวงแหวนยุคนธร ที่มีชื่อว่าจาตุมหาราชิกา โดยทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเทพเจ้าองค์นี้เป็นเทพผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นประธานใหญ่ของหมู่อสูรและรากษส ตลอดจนภูตผีทั้งปวง

อันที่จริงแล้ว คำ “โพสพ” ในชื่อพระแม่องค์นี้ จึงไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “ข้าว” ทั้งที่พระแม่เป็นเทพีแห่งข้าวมันเสียอย่างนั้น แถมชื่อของพระแม่ยังกลายมาจากชื่อของเทพเจ้าที่เป็นผู้ชายด้วยอีกต่างหาก

 

ดังนั้น พ่อพราหมณ์จากชมพูทวีป ท่านจึงไม่คุ้นหูเมื่อมีใครเอ่ยถึงชื่อพระแม่โพสพ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ก็ไม่มีเทพหรือเทพีองค์ไหนที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นข้าวเป็นการเฉพาะ

พระแม่โพสพจึงเป็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผีแม่ข้าวใน “ศาสนาผีพื้นเมือง” ของอุษาคเนย์ ที่แต่เดิมควรจะมีชื่อเรียกอย่างอื่นมาก่อน ต่อมาเมื่อรับศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียแล้ว จึงค่อยถูกจับบวชให้เป็นพราหมณ์ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อเรียกด้วยภาษาที่กลายมาจากบาลี-สันสกฤตในภายหลัง

ที่สำคัญก็คือ ชื่อ “โพสพ” นี้ก็มีมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเสียด้วย เพราะนักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ค้นคว้าเอาไว้ว่า คำ “แม่โพสพ” มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในพระอัยการเบ็ดเสร็จ (ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง) ที่ถูกตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1884 หรือเก่าแก่กว่าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 9 ปีเลยทีเดียว

 

แต่เรื่องของเทพีแห่งข้าวของอุษาคเนย์ที่ถูกจับบวชให้เข้ารีตเป็นพราหมณ์ ไม่ได้มีแต่เฉพาะเรื่องพระแม่โพสพของไทยเท่านั้นนะครับ

เพราะยังมีหลักฐานที่สำคัญอีกแห่งอยู่บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แถมยังเป็น “เทพี” หรือเป็น “ผีผู้หญิง” มาแต่เดิม เหมือนพระแม่โพสพอีกด้วย

ในชวาเรียกเทพีแห่งข้าวของพวกเขาว่า “ศรี” ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่คำชวาเก่า แต่เป็นคำที่เอามาจากภาษาสันสกฤต คำว่าศรีนั้นเป็นพระนามอีกพระนามหนึ่งของ “พระลักษมี” เทพีแห่งความงามและความอุดมสมบูรณ์ ผู้เป็นชายาของพระนารายณ์ ตามคติของพวกพราหมณ์

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรด้วยที่ในวัฒนธรรมชวา เทพีศรีก็เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์อื่นๆ ด้วย เพราะนอกจากจะผีแม่ข้าวของพวกชวาจะถูกรวมเข้ากับเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพวกพราหมณ์อย่างพระลักษมีแล้ว ข้าวยังเป็นอาหารหลักของผู้คนบนเกาะใหญ่แห่งนี้ เช่นเดียวกับในไทย

ทั้งพระแม่โพสพและเทพีศรี จึงต่างก็เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ไปโดยปริยาย

และสิ่งที่เทพีศรีเหมือนกันกับพระแม่โพสพอีกอย่างก็คือ ทางฟากของชวาเอง ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของเทพีแห่งข้าว และความอุดมสมบูรณ์ไม่ต่างไปจากพระแม่โพสพ

 

นิทานเก่าแก่ของชวามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพีศรีอยู่หลายเรื่อง แต่มี 2 เรื่องที่ควรกล่าวถึงในที่นี้

เรื่องแรกเล่าว่า แต่เดิมข้าวมีอยู่แต่บนสวรรค์ จนกระทั่งมีเด็กคนหนึ่งซึ่งขึ้นมาอยู่บนสวรรค์กับเทพีศรีนานหลายปี ได้แอบนำข้าวลงไปปลูกยังโลกมนุษย์ สุดท้ายเทพีศรีรู้เข้าก็โกรธ แต่เด็กคนนั้นอ้อนวอนขอให้เทพียอมให้มนุษย์ปลูกข้าวบนโลกได้ เทพีจึงยอมใจอ่อน และบอกให้มนุษย์ดูแลข้าวให้ดี เพราะข้าวก็เปรียบได้ดังลูกของพระนาง

ส่วนเรื่องที่สอง มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ภัทรคุรุ (ภาคหนึ่งของพระอิศวร) ผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุดในจักรวาลวิทยาของชวา ได้สาปให้ชายที่คิดคดต่อพระองค์ให้ตกลงไปที่ก้นของสมุทร ซึ่งก็คือท้องของนาคราช ความชั่วร้ายในท้องทำให้นาคราชป่วยไข้ ภัทรคุรุจึงได้มาช่วยด้วยการแตะไปที่ตัวของนาคราช จนทำให้ความชั่วร้ายนั้นหลุดหายไป พร้อมกับทำให้เกิดพี่น้องขึ้นมาคู่หนึ่ง คือมีเทพีศรี เป็นพี่สาว และสุทานะ เป็นน้องชาย

สุดท้ายทั้งคู่ได้แต่งงานกันเอง ซึ่งก็เป็นที่มาของพิธีกรรมที่ชาวนาในชวาใช้ในเทศกาลเฉลิมฉลองในท้องนา โดยมีความเชื่อว่า เจ้าสาวทุกคนก็คือเทพีศรี ส่วนเจ้าบ่าวทุกคนก็คือสุทานะ ซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ เพราะเชื่อว่าศรีเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสุทานะเป็นวิญญาณแห่งข้าว

นิทานเกี่ยวกับเทพีศรียังมีอีกหลายเรื่อง หลายสำนวน และยังพบกระจายไปนอกเกาะชวา ทั้งที่เกาะบาหลีและเกาะอื่นๆ ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน แต่โดยรวมแล้วสามารถสรุปได้ว่า “เทพีศรี” ในวัฒนธรรมชวา เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ (Mother Goddess) ที่มี “ข้าว” เป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่ในศาสนาผีพื้นเมืองของชวาเอง ไม่ต่างอะไรไปกับความเชื่อเรื่อง “พระแม่โพสพ” ของไทยนั่นเอง

 

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568