เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

วิรัตน์ แสงทองคำ / viratts.WordPress.com/ชีพจร ‘เซ็นทรัล’

01.03.2021

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

ชีพจร ‘เซ็นทรัล’

 

ธุรกิจหนึ่งซึ่งบ่งบอกความเป็นไปในมิติสำคัญทางสังคม

“บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เซ็นทรัลรีเทล” เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลาย ประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format and Multi-category) ในประเทศไทย และมีการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเป็นผู้นำในประเทศอิตาลี และเป็นหนึ่งในผู้นำในประเทศเวียดนาม” คำนิยามธุรกิจเบื้องต้นที่จะกล่าวถึง (อ้างจากข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ https://www.centralretail.com/th/about-us/)

ต่อด้วยภาพเชิงขยาย-ธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล ธุรกิจครอบครัวใหญ่หนึ่งแห่งสังคมไทยในนามตระกูลจิราธิวัธน์ ทั้งในแง่ความมั่งคั่งและตำนาน

ในภาพที่มองกัน กลุ่มเซ็นทรัลมีฐานะสำคัญ ผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย จากธุรกิจครอบครัว จากยุคก่อตั้งเมื่อราว 7 ทศวรรษที่แล้ว เติบโตมาอย่างเป็นจังหวะก้าว ตามกระแสสังคมอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนในสังคมเมือง ขยายฐานต่อเนื่องจากเมืองสู่หัวเมืองใหญ่ ฯลฯ

ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จากร้านโชห่วย จนมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้างสรรพสินค้า โมเดลใหม่ ทดแทนห้างฝรั่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก้าวสู่ยุคไลฟ์สไตล์ตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตสังคมไทยในเมืองใหญ่

ในยุคสงครามเวียดนาม กลุ่มเซ็นทรัลในฐานะธุรกิจครอบครัว รุ่นที่ 2 ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสังคมไทยในรูปแบบหลากหลายที่สุด

ล่าสุด ในรุ่นที่ 3 ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศตามแผนที่น่าสนใจ ทั้งในประเทศเติบโตใหม่-เวียดนาม และประเทศต้นแบบสังคมเมืองแห่งโลก-อิตาลี

 

เซ็นทรัลรีเทลกับเรื่องราวและความเป็นไป จึงมีความหมาย เป็นดัชนีหนึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมในหลายๆ มิติ

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เซ็นทรัลรีเทลตัดสินใจเดินแผนการเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อกลางปี 2562 ตามจังหวะเวลาเข้าท่าเข้าทาง สังคมไทยเพิ่งมีรัฐบาลใหม่มาจากกระบวนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งว่างเว้นมา 5 ปีเต็ม

ขณะเดียวกัน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏตัวในฐานะประธานกรรมการ เซ็นทรัลรีเทล ด้วยบทสนทนาที่น่าฟัง

“จากการที่ได้ร่วมทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างใกล้ชิด ผมเชื่อมั่นว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมและพร้อมที่สุดสำหรับเซ็นทรัลรีเทลที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป จากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการเติบโตของ GDP พร้อมด้วยกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ขยายตัว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการเป็น 1 ใน 20 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก” ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวไว้ในถ้อยแถลง

ในแง่ธุรกิจครอบครัว ตระกูลจิราธิวัธน์ตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ มีเดิมพันกว่าครั้งใดๆ ตั้งใจตั้งราคา IPO (42 บาท/หุ้น) ไว้อย่างที่เชื่อ ที่ควรเป็นไป

ในที่สุดบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นทรีลรีเทล (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ-CRC) ได้ฤกษ์เข้าตลาดหุ้น (20/2/2020) เป็นหลักทรัพย์ใหม่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (ก่อนจะถูกทำลายสถิติในเวลาต่อมา โดย OR-บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก)

เป็นจังหวะที่ท้าทาย ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ปะทุขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เวลานั้นมีผู้ติดเชื้อแล้วมากถึง 75,000 คน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,200 คน

ความท้าทายมีราคาสูงทีเดียว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ราคาหุ้น CRC ยังไม่เคยพ้นน้ำ (สูงกว่าราคา IPO) เลย บางช่วงตกลงถึงเกือบๆ 50% (มีนาคม) ปัจจุบันราคายังคงระดับต่ำกว่าราวๆ 20%

 

ที่สำคัญที่เป็นจริง ปรากฏในรายงานผลการประกอบการงวด 9 เดือนปี 2563 (สิ้นสุด 30 กันยายน 2563) “มีรายได้รวม 143,234 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.4 และขาดทุนสุทธิ 760 ล้านบาท ลดลง 6,620 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน”

เชื่อกันว่าผลประกอบการขาดทุนที่ว่า น่าจะเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ในหลายสิบปีทีเดียว

คำอรรถาธิบายเป็นไปอย่างที่ว่ากัน ให้ภาพ “ตัวแทน” สังคมธุรกิจไม่น้อย “มีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย-เวียดนาม และอิตาลี โดยการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกเป็นการชั่วคราว และในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนียนสโตร์มีการจำกัดระยะเวลาการให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม” (อ้างจากการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ เซ็นทรัลรีเทล นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ-12 พฤศจิกายน 2563)

และอีกตอนซึ่งต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ

“แม้ว่าภายหลังรัฐบาลจะได้มีมาตรการผ่อนปรนโดยให้สามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ลูกค้ายังคงชะลอการใช้จ่าย จากความกังวลในเรื่องการระบาดของโรคในต่างประเทศ การกลับมาระบาดในรอบใหม่และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว รวมทั้งมาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง” และแล้วความกังวลนั้น (ที่ขีดเส้นใต้ไว้) ก็เกิดขึ้นจริงๆ และหนักหน่วงเอาการ

COVID-19 กับภาวะระบาดรอบใหม่ในปลายปี 2563 หนักหน่วงกว่าช่วงต้นๆ อย่างมากอย่างที่รู้กัน แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2564 ผนวกไว้ในผลประกอบการตามรอบบัญชี คงมีผลไม่มาก

 

อันที่จริงมีภาพอย่างเจาะจงที่สำคัญซ่อนอยู่ (อ้างอิงจาก Thailand Conference : Investor presentation 25 มกราคม 2564) ภาวะการขาดทุนครั้งสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นในไตรมาสที่สองถึงกว่า 2 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่สามฟื้นตัวมีกำไรอีกครั้ง แต่โดยรวมยังขาดทุนอยู่

ความคาดหมายการฟื้นตัวแบบ V-shape จะเกิดขึ้นหรือไม่ในไตรมาสที่สี่ เป็นเรื่องไม่นานเกินรอ

บทสรุปทั้งปี 2563 ว่า เซ็นทรัลรีเทลจะประสบภาวะขาดทุนครั้งแรกในปีแรกที่เข้าตลาดหุ้นหรือไม่ จะเป็นวาระแรกเปิดฉากยุคใหม่ จาก Private company สู่ Public company อย่างไม่เป็นใจสักเท่าไหร่หรือไม่

ในอีกมุม ชีพจร “เซ็นทรัลรีเทล” (ผ่าน Thailand Conference : Investor presentation-อ้างแล้ว) ให้ภาพบางมิติ ความเป็นไปทางธุรกิจ เป็นภาพซ้อน สัมพันธ์และเชื่อมโยงกับสังคมวงกว้าง เป็นบทเรียนที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน

พิจารณาจากโครงสร้างรายได้ของเซ็นทรัลรีเทล เชื่อว่าแสดงความเป็นไปแห่งวิถีชีวิตปัจเจกท่ามกลางวิกฤต เป็นทิศทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคดูสมเหตุสมผลขึ้น นอกจากทิศทางที่เห็นๆ กัน ว่าด้วยการเติบโตซึ่งเกี่ยวข้องระบบออนไลน์แล้ว ธุรกิจที่เป็นไปจริง อย่างที่เรียกว่า Foods (ซูเปอร์มาร์เก็ต พลาซ่า และร้านสะดวกซื้อ) และ Hardline (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง และสินค้าดีไอวาย) มีความสำคัญมากขึ้น

ขณะที่สินค้าแฟชั่นซึ่งเป็นสินค้าหลักของเซ็นทรัลรีเทล ที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดค่อยๆ ลดบทบาทลง

 

อีกภาพที่ใหญ่พึงสังเกต พิจารณาสัดส่วนรายได้เซ็นทรัลรีเทลในแต่ละพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่ละประเทศซึ่งมีพัฒนาการแตกต่างกัน ภายใต้เงื่อนไขซึ่งควรอ้างประกอบไว้

“เซ็นทรัลรีเทลมีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีกที่สำคัญ 1,952 ร้านค้า ใน 55 จังหวัดในประเทศไทย 124 ร้านค้าใน 37 จังหวัดในประเทศเวียดนาม และห้างสรรพสินค้า 9 สาขาใน 8 เมืองในประเทศอิตาลี” (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)

ในสังคมไทย พื้นฐานพื้นที่ดั้งเดิมของเซ็นทรัลรีเทลภายใต้เครือข่ายอันครอบคลุม ครองสัดส่วนแบ่งรายได้มากที่สุดก็จริง

ทว่ามีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง ด้วยข้อมูลที่ปรากฏ จาก 75% (2562) เหลือ 72% (2563)

ส่วนประเทศอิตาลี-ต้นแบบสังคมเมืองที่ดำเนินมายาวนาน ทั้งนี้ เซ็นทรัลรีเทลมีเครือข่ายเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ดูจะลดบทบาทลงพอสมควร จากสัดส่วน 7% เหลือ 4%

ขณะประเทศเวียดนาม ถือว่าเป็นที่ที่ระบบเศรษฐกิจกำลังเติบโต มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจจาก 18% เป็น 24%

อย่างที่เคยว่า สังคมไทยปัจจุบัน ดัชนีและความเป็นไปสำคัญๆ อยู่ที่ “ธุรกิจใหญ่”

 

#V-shape

#เซ็นทรัลรีเทล



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่