
โล่เงิน : กางรายงาน สปท. คลี่สูตรปฏิรูปแต่งตั้งสีกากี (ตอนจบ) สัดส่วน 70 : 30 โมเดลนับอาวุโส สเป๊กหินหัวหน้าหน่วย

“โล่เงิน” ฉบับที่แล้ว เปิดปมปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายในวงการสีกากี ยกเหตุและผลจำเป็นต้อง “ปฏิรูปการแต่งตั้งตำรวจ”
อ้างอิงตามรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เรื่อง “การวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ (ฉบับปรับปรุง)” ที่ชี้ว่า กฎ เกณฑ์ ที่ใช้ในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ หากอยากเห็นการแต่งตั้งที่เป็นธรรม เนื่องจากยังมีช่องว่างของกฎเกณฑ์และวิธีการ ขยายความต่อในฉบับนี้
“สปท.” กำหนดแนวทางปฏิรูปไว้ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจะต้องเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความอาวุโส ผลการปฏิบัติงาน ความรู้ ความสามารถ และมีการวางตัวข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับงาน
เมื่อโปร่งใส เป็นธรรม ตำรวจสามารถเจริญเติบโตได้ด้วยผลปฏิบัติงาน ไม่ต้องวิ่งเต้นหาใครสนับสนุน จะทำให้ตำรวจทำงานกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
รายงานฉบับนี้เสนอวิธีการและขั้นตอนในการพิจารณาแต่งตั้ง สาระโดยสังเขป
ดังนี้
1.การคัดเลือกหรือแต่งตั้งดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ หัวหน้าหน่วยเป็นประธาน รองหัวหน้าทุกคนเป็นกรรมการ ให้ผู้มีอำนาจคัดเลือกแต่งตั้งตามที่กรรมการเห็นชอบ
2. การแต่งตั้งให้ทำปีละครั้ง ในวาระประจำปี ระดับสารวัตร (สว.) ถึงรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปี การแต่งตั้งจะทำนอกวาระประจำปีได้ต่อเมื่อมีเหตุผลความจำเป็นอย่างแท้จริงที่ไม่อาจรอได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก่อน ทั้งนี้ หากการแต่งตั้งไม่แล้วเสร็จ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องเสนอ ก.ตร. ขยายเวลา แต่ได้ไม่เกิน 30 วัน
3. การพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้พิจารณาโดยยึดอาวุโส ประกอบความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ โดยเฉลี่ยน้ำหนักระหว่างความอาวุโส ความรู้ ความสามารถ และความประพฤติเท่าๆ กัน โดยให้ เพิ่ม-ลด ลำดับอาวุโสในบัญชีอาวุโส (สำหรับแต่งตั้ง) ตามผลการปฏิบัติงานและความประพฤติ กำหนดหลักเกณฑ์การเพิ่มอาวุโสในการแต่งตั้ง ให้มีการประเมินความรู้ ความสามารถ ความประพฤติของข้าราชการตำรวจ โดยให้กองบัญชาการกำหนดเกณฑ์การประเมินใช้ในการให้คะแนนการปฏิบัติงานของตำรวจแต่ละระดับ กำหนดข้อพิจารณาในการประเมินอย่างชัดเจน ประกาศทราบโดยทั่ว สำหรับหน่วยป้องกันปราบปรามอาชญากรรม (โรงพัก) ต้องมีส่วนราชการใกล้เคียงภาคประชาชน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัง กต.ตร. สถานี (ซึ่งออกแบบใหม่) มีส่วนร่วมพิจารณา
การประเมินทำในรูปกรรมการมีหัวหน้าหน่วยเป็นประธาน รองหัวหน้าทุกคนเป็นกรรมการ และต้องประกาศผลการประเมินอย่างเปิดเผย เปิดช่องให้อุทธรณ์ร้องทุกข์ได้
เมื่อผลออกมาผู้ที่ได้คะแนนประเมินสูงสุด ร้อยละ 20 ของจำนวนตำรวจที่มีตำแหน่งระดับเดียวกันในหน่วย จะได้บวกเพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ไป “เพิ่มอาวุโส” แต่ใช้ในการแต่งตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ ก.ตร. สามารถพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่จะเพิ่มจำนวนปี นอกเหนือจากที่หน่วยกำหนดได้
ขณะเดียวกัน หากข้าราชการตำรวจถูกลงโทษทางวินัยสูงกว่าถูกภาคทัณฑ์ จากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือความประพฤติส่วนตัว จะถูกลดจำนวนปีอาวุโส หากเป็นโทษทางวินัยอันเกิดจากปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ ต้องให้ ก.ตร. วินิจฉัย โดยการ “ลดอาวุโส” นี้ใช้เพื่อการแต่งตั้งเท่านั้นเช่นกัน ต่อไปการจัดทำบัญชีอาวุโสในการแต่งตั้ง ให้เรียกว่า “บัญชีอาวุโส ประกอบความรู้ ความสามารถ และความประพฤติ”
ทั้งนี้ อาวุโสบวกเพิ่มที่ได้รับ ให้สะสมไว้ใช้ได้จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น
4.การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้พิจารณาจากผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน มียศและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในแต่ละระดับตามกฎ ก.ตร. โดยใช้เวลาการดำรงตำแหน่งตามปกติ ก่อนมีการเพิ่ม-ลดอาวุโส ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. ถึงรอง ผบ.ตร. และเทียบเท่า ให้พิจารณาเรียงตามอาวุโส
ส่วนตำแหน่งระดับสารวัตร (สว. ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก ร้อยละ 70 ของตำแหน่งว่าง พิจารณาเรียงตามลำดับบัญชีอาวุโสประกอบความรู้ ห้ามข้ามลำดับ เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัยอย่างแท้จริง
ส่วนที่ 2 ร้อยละ 30 ของตำแหน่งว่าง พิจารณาจากผู้เหมาะสม พิจารณาโดยข้ามอาวุโสประกอบความรู้ฯ ได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลให้ชัดเจนว่าเหมาะกว่าผู้ที่อาวุโสกว่าอย่างไร ทั้งนี้ การจะแต่งตั้งข้ามบัญชีอาวุโสประกอบความรู้ฯ
ทุกกรณี ต้องให้ ก.ตร. เห็นชอบ ขณะที่ในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ในระดับรอง ผบก. ลงมา ต้องแต่งตั้งจากผู้อยู่ในหน่วยไม่น้อยกว่า 2 ปี เว้นนายเวร ผู้ช่วยนายเวร หรือนายตำรวจราชสำนักประจำ
5. การโยกสลับในระดับเดียวกัน ตั้งแต่ระดับ สว. ถึงรอง ผบช. ย้ายได้เมื่ออยู่ในตำแหน่งครบ 2 ปี เว้นแต่ผู้นั้นสมัครใจ ถูกลงโทษทางวินัยสูงกว่า ภาคทัณฑ์ ต้องคดีอาญา ศาลพิพากษาว่ากระทำผิด ตำแหน่งเดิมถูกยกเลิก ตัดโอน นายเวร ผู้ช่วยนายเวร นายตำรวจราชสำนักประจำ
6.นอกจากเพิ่ม-ลดอาวุโสในการแต่งตั้งแล้ว มีการกำหนดระดับของ บช., บก. และสถานีตำรวจ เพื่อสร้างระบบการเติบโต จากหน่วยปริมาณงานน้อยไปยังหน่วยปริมาณงานมาก โดยตำแหน่งระดับ ผบช. มี 2 ระดับ คือผบช. ที่มีหน่วยบริหาร เช่น ผบช.ภ., ผบช.ก. และ ผบช. ที่ไม่มีหน่วยบริหาร เช่น จเรตำรวจ ผบช.ประจำฯ ขณะที่หน่วยงานส่วนป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพื้นที่ กำหนดระดับของหน่วยงานระดับ บก. สถานี แบ่งครึ่ง เป็นระดับ 1 และ 2 ตามปริมาณและคุณภาพงาน
โดยให้ ก.ตร. เห็นชอบ
7.การแต่งตั้งหมุนเวียน เลื่อนระดับระหว่างหน่วยงาน กำหนดว่าหากจะแต่งตั้งหมุนเวียน ผบช. มาในหน่วยงานที่มีหน่วยบริหาร ต้องคัดเลือกจาก ผบช. ที่มีหน่วยบริหารก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาจาก ผบช. ในหน่วยที่ไม่มีหน่วยบริหาร การคัดเลือกเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จากรอง ผบช. ขึ้น ผบช. ให้ขึ้นเป็น ผบช. ที่ไม่มีหน่วยบริหารก่อน ขณะที่การแต่งตั้งในส่วนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ให้แต่งตั้งขึ้นในหน่วยระดับ 2 ก่อน กรณีแต่งตั้งหมุนเวียนหากอยู่ในหน่วยระดับ 1 แล้ว โยกได้ในหน่วยระดับ 1 เท่านั้น ลดเกรดไม่ได้ เว้นแต่ถูกลงโทษทางวินัยสูงกว่าภาคทัณฑ์ หรือต้องคดีอาญา
8. การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยส่วนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม หรือหน่วยที่มีอำนาจสอบสวน การแต่งตั้งผู้กำกับการหัวหน้าสถานี ที่มีอำนาจสอบสวนนอกจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งแล้ว ผู้ได้รับการแต่งตั้งต้องผ่านการทำสำนวนการสอบสวนไม่น้อยกว่า 280 สำนวน (ไม่รวมคดีศาลแขวงที่ผู้ต้องหารับสารภาพ) และดำรงตำแหน่งในสายงานสอบสวนไม่น้อยกว่า 4 ปี
และการแต่งตั้ง ผบช.-ผบก. ในหน่วยส่วนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม หรือหน่วยอื่นที่มีอำนาจสอบสวนต้องมีคุณสมบัติเหมือน ผกก. หัวหน้าสถานี
ท้ายรายงาน สปท. สรุปว่า การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่ง-โยกย้ายอย่างเป็นธรรม ถือเป็นส่วนหนึ่งของขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
ทำให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพ ก่อเกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรวม เพราะไม่ต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจทั้งภายในและภายนอก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างขวัญ กำลังใจให้แก่ข้าราชการตำรวจ โดยทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายมีความเป็นธรรมและมีการวางตัวผู้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด
กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งให้มีความชัดเจน แน่นอน ลดการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจตามที่ สปท. เสนอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเจริญเติบโตก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนสำคัญในการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง !!
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


