เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

กัมพูชาในอุ้งมือ ‘ฮุน มาเนต’ ใต้ปีกมังกร!?

20.08.2023

ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชาไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ พล.อ.ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตที่รับไม้สืบทอดอำนาจต่อจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้เป็นบิดา ซึ่งถอยฉากไปควบคุมอำนาจอยู่เบื้องหลัง หลังการกุมอำนาจบริหารปกครองประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลายาวนานถึง 38 ปี

ตอนนี้ก็เหลือเพียงรอได้รับการโหวตไว้วางใจพร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จากสมาชิกรัฐสภา ที่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของฮุน เซน ครองเสียงข้างมากอยู่เกือบจะเบ็ดเสร็จ ซึ่งกำหนดจะมีการโหวตขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ก็จะเป็นผลให้การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฮุน มาเนต เป็นไปโดยสมบูรณ์ตามกระบวนขั้นตอนทางรัฐธรรมนูญ

เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างราบรื่น ไร้ซึ่งความรุนแรงนองเลือดเหมือนดั่งในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1953 ที่ผ่านมาแล้วทั้งเหตุการณ์รัฐประหาร สงครามกลางการเมือง ระบอบปกครองอันโหดเหี้ยมของเขมรแดงและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจอย่างดุเดือดรุนแรง

 

หลายคนมองว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจในกัมพูชาครั้งนี้ จะยังเป็นโอกาสแห่งความหวังของการอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่อย่างฮุน มาเนต ได้ในฐานะที่เขาเป็นคนหนุ่มที่ไปศึกษาร่ำเรียนถึงประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่โรงเรียนเตรียมทหารเวสต์ปอยต์และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และที่มหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักร ซึ่งต่างเป็นประเทศแม่แบบของแนวคิดเสรีประชาธิปไตย ก็น่าจะได้รับอิทธิพลความคิดที่ก้าวหน้ามาได้บ้างไม่มากก็น้อย

อันต่างไปจากวิธีคิดแบบผู้นำยุคเก่าลายครามอย่างฮุน เซน พ่อของเขา ที่ถูกฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและชาติตะวันตกตีตราว่าเป็นผู้นำเผด็จการที่ใช้อำนาจรัฐในมือปราบปรามกดทับผู้เห็นต่างทางการเมือง

แม้ฮุน เซน จะยอมลงจากตำแหน่งไป แต่ถึงอย่างไรในสายตาของคนส่วนใหญ่ต่างเชื่อต่างมองว่า ฮุน เซน ก็จะยังคงมีอิทธิพลบทบาทสำคัญในฉากหลังของการกำหนดว่าจะนำพาประเทศกัมพูชาไปในทิศทางใดภายใต้การนำรัฐนาวาของฮุน มาเนต ผู้เป็นบุตรชายอยู่ดี

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่เป็นจับตาของเหล่านักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญก็คือ ทิศทางนโยบายด้านการต่างประเทศของกัมพูชาจะมีการขยับปรับเปลี่ยนใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ ในความสัมพันธ์บนทางสองแพร่งระหว่างสองขั้วมหาอำนาจโลก ที่ต่างเป็นคู่แข่งขันกันแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคต่างๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยการพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์

หนึ่งคือ จีน พี่ใหญ่ในภูมิภาคที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของกัมพูชา

กับสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจขั้วตรงข้าม ที่หันหน้ากลับมาสู่เอเชียอีกคำรบ แต่ก็มีความสัมพันธ์กับกัมพูชาที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากสหรัฐมักโจมตีสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาอยู่เนืองๆ รวมถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ของกัมพูชาเองด้วยที่สหรัฐกล่าวหาว่า “ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม”

ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าการเปลี่ยนผู้นำสู่คนรุ่นใหม่อย่างฮุน มาเนต ที่เปิดรับแนวคิดที่แตกต่างได้ในแบบตะวันตก สิ่งนี้ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบความเป็นผู้นำด้วยตนเองของฮุน มาเนต ได้ โดยไม่พึ่งบารมีของผู้เป็นพ่อ ในการดำเนินงานทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยอาจจะได้เห็นการขยับปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างสหรัฐให้ดีขึ้นในสักวัน

 

แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า ความสัมพันธ์กัมพูชา-จีน จะยังคงเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาอยู่ต่อไป ด้วยเหตุผลที่จีนไม่เพียงเป็นมหามิตรใกล้ชิดทางการเมืองของกัมพูชามายาวนานเท่านั้น แต่ยังเป็นพี่ใหญ่ที่คอยเกื้อกูลสนับสนุนกัมพูชาอยู่เสมอมา

โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทุกอย่างในกัมพูชาก็นำเข้ามาจากประเทศจีน

และในปีที่แล้วการลงทุนของจีนในประเทศกัมพูชา ยังคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 90.5 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในประเทศกัมพูชาอีกด้วย

ฮุน เซน เคยกล่าวเปรยวลีเด็ดไว้วลีหนึ่ง ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของกัมพูชากับจีนไว้ได้เป็นอย่างดีเมื่อราว 2 ปีก่อนว่า “หากไม่พึ่งจีน แล้วเราจะพึ่งใคร”

การมาเยือนพนมเปญด้วยตัวเองของนายหวัง อี้ ผู้กำกับดูแลการดำเนินนโยบายต่างประเทศสูงสุดของจีน ซึ่งหวนกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนอีกครั้ง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหวัง อี้ ได้เข้าพบปะหารือกับพ่อลูกตระกูลฮุน พร้อมย้ำถึงการมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติสืบไป

เป็นการตอกย้ำชัดอีกครั้งถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของจีนและกัมพูชา ที่เป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดในอาเซียนของจีน ท่ามกลางบรรยากาศการเผชิญหน้าในภูมิภาคทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายชาติในภูมิภาคนี้อย่างฟิลิปปินส์ ที่มักเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันเหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้อยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งมองอีกด้านก็สะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วม ที่จีนและกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การจะผูกสัมพันธ์ยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ต่อไปของทั้งสองชาติ จนถึงยุคสมัยของผู้นำกัมพูชาที่ชื่อ ฮุน มาเนต จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากอย่างยิ่ง มากกว่าจะหันไปขยับสัมพันธ์กับสหรัฐที่โจมตีรัฐบาลฮุน เซน มาโดยตลอด



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ