

เรื่องราวของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ยังวนเวียนอยู่ในหัว
จริงอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีผู้ที่สละชีวิตเพื่อความยุติธรรม หรือประชาธิปไตยจำนวนมาก ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
การสละชีวิตของพวกเขาเป็นป้ายบอกทางให้แก่สังคมว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นในไม่กี่สัปดาห์หลังการอุทิศของพวกเขา หรืออาจจะใช้เวลานับสิบปีหลังจากนั้น
แต่พวกเขาที่ส่วนมากเป็นคนธรรมดา ไร้อำนาจ ไร้ทรัพยากร ยืนยันด้วยชีวิตของตัวเองมานานนับศตวรรษว่ามนุษย์คู่ควรกับสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้นได้
คำถามที่มีมานานแสนนานว่าทำไมมนุษย์ที่โดยพื้นฐานแล้วรักตัว กลัวตาย และทำทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด สามารถที่จะยอมสละชีวิตที่มีค่าของตัวเอง เพื่อนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่ได้ทำให้ตัวเอง หรือแม้กระทั่งอาจไม่ได้ชื่อเสียงใด เป็นเพียงหน่วยนับเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ ที่แม้อาจมีคนจดจำ คนที่เรารักอาจพูดถึง แต่ไม่นานคนเหล่านั้นก็จะลืมเรื่องราว ไม่นานเมื่อพวกเขาตายไปหมด เรื่องราวทั้งหมดก็จะหล่นหายและจางไป
“แล้วการอุทิศชีวิตนั้น จะสำคัญอย่างไร ในเมื่อท้ายที่สุดทุกคนจะถูกลืม”
หากวิเคราะห์ด้วยเหตุผลกลไก ความคุ้มได้คุ้มเสียในทางอรรถประโยชน์ ความตายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า เพราะหมายความว่าเราจะไม่ได้ใช้ดอกผลจากการต่อสู้ใดๆ ไม่ว่าแพ้ หรือชนะ ไม่รับรู้แม้แต่ความสุขของคนเบื้องหลัง ไม่รับรู้ความยินดี หรือขมขื่นใดๆ
ความตายของโสเครติส การเลือกดื่มยาพิษฆ่าตัวตายแม้มีโอกาสที่จะหลบหนี ด้วยหลักการที่ว่าเขาเชื่อในระบบกฎหมาย แต่ไม่เชื่อในกฎหมาย และการบังคับใช้อย่างอยุติธรรม เขาเลือกใช้ชีวิตของตนยืนยันหลักการนี้
โธมัส มัวร์ ผู้เขียนหนังสือ Utopia ปฏิเสธการยอมรับอำนาจของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และยอมรับโทษประหารชีวิต แม้ด้วยตำแหน่งและบทบาทของเขา เพียงแค่การกล่าวยอมรับ ก็สามารถนำพาชีวิตที่ปกติสุขของเขาต่อไป
เออร์เนสโต เช กูวารา นักปฏิวัติจากอาร์เจนตินาผู้นำการปฏิวัติคิวบา ปฏิเสธการให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายผู้มีอำนาจ ศพของเขาถูกแขวนติดกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อยืนยันให้ประชาชนผู้ถูกกดขี่รู้ว่า เช ได้ตายไปแล้ว
สี่พี่น้อง มิราบาล (Mirabal) จากโดมินิกัน สามในสี่คนเสียชีวิตจากการลอบสังหารและทรมาน พวกเขาแลกความตายให้กับสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นข้างหน้า และมากมายถึงชีวิตคนในครอบครัวเขาด้วย
ชุนแตอิล นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานของเกาหลีใต้ นำข้อเสนอของตัวเองที่ยื่นผ่านกระทรวงแรงงานมามากมาย แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำการสุมไฟเพื่อเผาตัวเองตาย เพื่อเป็นการยืนยันถึงหลักการที่สำคัญต่อเพื่อนมนุษย์แต่ไม่มีการเหลียวแล ใช้เวลาอีกกว่าทศวรรษที่การตายของเขาจะชักนำให้เกิดการต่อสู้และปฏิรูปด้านแรงงานในเกาหลีใต้
นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ยืนยันต่อคณะรัฐประหารว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้สติไม่ดี และเขาใช้ชีวิตยืนยันหลังจากขับแท็กซี่ชนรถถังแล้วรอดชีวิต เขาแขวนคอตายเพื่อยืนยันว่าเขาสติดีครบทุกอย่าง แต่ขอให้โลกรับรู้ว่ามีคนพร้อมยอมตายเพื่ออุดมการณ์
บุ้ง-เนติพร ในวัยยังไม่เต็มสามสิบ เห็นรัฐประหารมาแล้วสองครั้งในชีวิต เห็นการชุมนุมใหญ่หลายครั้ง เห็นกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่มีปัญหา
เธอเลือกใช้ชีวิตของเธอยืนยันถึงสิ่งที่ควรเป็น
ข้อเสนอของเธอช่างเรียบง่าย นั่นคือ การปฏิรูปขบวนการยุติธรรม และสิทธิ์การประกันตัวของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง
ข้อเสนอเหล่านี้ถูกพูดในที่ประชุมวิชาการมากมาย ในคณะนิติศาสตร์ ในเนติบัณฑิตยสภา
แต่เมื่อเรื่องเหล่านี้ถูกนำเสนอโดยเธอ ประชาชนคนธรรมดา ที่ไร้อำนาจและทรัพยากรต่างๆ ข้อเสนอของเธอถูกพับไว้บนหิ้ง ไม่มีสัญญาณการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ข้อหาที่เธอถูกดำเนินคดีนั้นไม่ได้เป็นข้อหาอุกฉกรรจ์ ไม่ได้กระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินใคร
เป็นข้อหาที่พรรคการเมืองใหญ่เคยให้คำมั่นในการแก้ไขก่อนการเลือกตั้ง
แต่ไม่มีใครทำเมื่อมีอำนาจ
เธอเลือกที่จะยืนยันเรื่องนี้
เหมือน เช กูวารา ชุนแตอิล โสเครติ โธมัส มัวร์ พี่น้องมิราบาล เธอใช้ทางเลือกในชีวิตของเธอยืนยัน
ความตายของเธอนำเธอสู่ความไม่ตาย
ข่าวของเธอแจ้งเตือนขึ้นมาในหน้าจอมือถือขณะที่ผมกำลังเล่นกับลูกสาววัยสี่เดือน
ผมน้ำตาไหลออกมาโดยพลันอย่างกลั้นไม่อยู่ สบตาลูกสาวตัวน้อยที่ไม่เดียงสา และไม่รู้ว่าโลกใบนี้มีสิ่งนี้รอเธออยู่ข้างหน้า
ปัจจัยที่ 5 ที่ช่วยคงความเป็นมนุษย์ ที่หากปราศจากสิ่งนี้ แม้เราแสวงหาปัจจัย 4 ได้ครบถ้วนหรือล้นเกิน ก็ไม่มีความหมาย
ปัจจัยที่ 5 นี้เราเรียกว่า “ความยุติธรรม” แน่ล่ะ มันต่างจากอาหาร บ้าน เสื้อผ้า ยา ที่อาจทำให้เราพ้นความหิว ความหนาว ความป่วยได้
แต่ความยุติธรรมคือกุญแจดอกสุดท้ายที่เปลี่ยนสัตว์ เป็นมนุษย์
ความตายของบุ้ง-เนติพร คือการยืนยันหลักการนี้
ความตายของเธอคือความเศร้าของฝนแรกในปีนี้
แต่จะกระตุ้นเตือนให้เราเห็นว่า มนุษย์ทุกยุคสมัยต่างอุทิศชีวิต เพื่อ “สังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

