เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ระหว่างสยามกับปาตานี

30.05.2024

คราวนี้มาถึงการบรรยายและอภิปรายของผมในหัวข้อเรื่อง “ความเป็นมาของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้” หรือสั้นๆ ว่า “ปัญหาปาตานี” (ปัตตานี) ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร

โดยทั่วไปภารกิจของผมใน “โครงการสันติภาพ” นี้คือการพูดถึงที่มาของปัญหาดังกล่าว ก็คือการเล่าประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ แล้วเพิ่มรายละเอียดของความไม่ลงรอยที่ค่อยกลายมาเป็นความขัดแย้งจากในระดับพื้นที่มาสู่การเป็นปัญหาความขัดแย้งระดับชาติ

หากต้องเล่าให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยดังกล่าวนี้ เวลาสามชั่วโมงก็คงไม่พอ ต้องต่อไปถึงเย็น แต่ในความเป็นจริง ผู้จัดให้เวลาผมเพียง 20 นาทีเท่านั้น เพราะต้องเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นขึ้นมาพูดด้วย

น่าสนใจว่าองค์ประกอบของกรรมการและผู้ร่วมกิจการมีหลากหลาย เช่น ตัวแทนชาวบ้านไทยพุทธในสามจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ตัวแทนชาวบ้านมลายูมุสลิม ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม และที่ขาดไม่ได้คือตัวแทนพรรคการเมืองได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวหน้า พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังประชารัฐ

ผมไปร่วมการเสนอและบรรยายความเป็นมาของปัญหาความรุนแรงและทางออกในสามจังหวัดชายแดนใต้ 5 ครั้ง จากปัตตานี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่นและอยุธยาที่มหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากทำการบ้านในการบรรยายที่แม้พยายามทำให้สั้นกะทัดรัด แต่เมื่อให้ข้อมูลและความคิดเห็นทางประวัติศาสตร์ประกอบไปด้วยก็ทำให้เรื่องยาวออกไปจนได้ จนทำให้ผมไม่อาจยุติการบรรยายได้จนจบ ต้องตัดบทและรวบยอดเอาเท่าที่ได้

ในที่สุดผมเขียนเค้าโครงการบรรยายที่รวบประวัติศาสตร์ขัดแย้งทั้งหมดในรอบกว่าศตวรรษเข้ามาเป็นช่วงเวลาใหญ่ๆ แบ่งได้เป็น 3 ช่วงคือ

โปสเตอร์การตีความรัฐนิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จัดทำโดยจังหวัดสงขลา

ช่วงเวลาแรกผมตั้งชื่อว่ายุคของการรวมและรวบ จากปี ค.ศ.1892 (ระบบเทศาภิบาล), 1902 (ยึดอำนาจปาตานี), 1909 (สนธิสัญญาอังกฤษสยาม), 1922 (กบฏน้ำใส) ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ศัพท์วิชาการเรียกว่าการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ผลลัพธ์สำคัญคือสยามได้เอกราชของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของรัฐไทย แต่ปาตานีเสีย “เอกราช” ความเป็นอิสระของตนผ่านรายาตนกูอับดุล กาเดร์ ที่เป็นมลายูมุสลิม

ยุคแรกนี้คำสำคัญคือ “รวบกับรวม” เหตุผลคืออิทธิพลของลัทธิอาณานิคมตะวันตก นำสู่นโยบายของสยามคือการรวบดินแดน การรวมคนเชื้อชาติต่างๆ ภายใต้การสร้างอุดมการณ์ชาติคือความเป็นไทย เกิดความเป็นสมัยใหม่ในรูปแบบสถาบันสมัยใหม่ เช่น ระบบกระทรวง ระบบราชการ ระบบการศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล รถไฟ ถนน ประปา และไฟฟ้า

ข้อค้นพบล่าสุดของผมคือระบบการศึกษาเป็นแกนกลางของการสร้างความเป็นไทย (ในระยะแรกและระยะหลัง) ความหมายคือการวิเคราะห์เรื่องระบบการศึกษาไทยจุดประสงค์ไม่ใช่เรื่องเนื้อหาในความรู้ หากแต่แท้จริงคือจุดหมายทางการเมืองในการกล่อมเกลาความคิดผู้เรียน

ช่วงเวลาที่สอง คือระยะของ “ความแตกร้าว” และความรุนแรงเชิงโครงสร้างโดยรัฐ จากปี 1932, 1939 (รัฐนิยม) 1944 (พ.ร.บ.แพ่งพาณิชย์ครอบครัวทรัพย์สิน) 1946 (พ.ร.บ.ศาสนูปถัมภ์อิสลาม) 1947 (ร้องขอ 7 ข้อฮัจญีสุหรง),1948 (จับกุมฮัจญีสุหรงและกบฏดุซงญอ) 1954 (การอุ้มหายฮัจญีสุหรง) ตั้ง “Gabungan Melayu Patani Raya” (GAMPAR) หรือสมาคมมลายูปัตตานีที่ยิ่งใหญ่ในกลันตัน (1948) เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งขบวนการต่อสู้ของคนปาตานีในเวลาต่อมา

ช่วงเวลาที่สามคือแห่งห้วงเวลาของการ “ยอมรับ” (recognition) ของทั้งสองฝ่ายที่เริ่มอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐกับขบวนการ ถึงเริ่มการเจรจาสันติภาพและสันติสุข ข้อเสนอของบีอาร์เอ็น 5 ข้อ และปัญหาใหญ่ในการเจรจาคืออำนาจอธิปไตยระหว่างรัฐไทยสยามกับรัฐปาตานี

ผมแทรกเล่าเหตุการณ์ละเอียดบางตอน โดยเฉพาะตอนที่มีข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์มีหลักฐานมากก็พูดมากเกินไป

เช่น ตอนที่รัฐบาลสยามออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองกล่าวคือตั้งแต่นี้ต่อไปจะแต่งตั้งปลัดเมือง ยกกระบัตรเมืองและผู้ช่วยราชการไปช่วยพระยาเมืองทั้งหลายปกครองตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.114 และส่งพนักงานสรรพากรไปเก็บภาษีอากรตามระเบียบของกระทรวงการคลัง และผู้พิพากษาไปตัดสินคดีตามพระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ.114 และจะแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณให้ไป “ตรวจตราแนะนำราชการทั้งปวงต่างพระเนตรพระกรรณในราชการทุกเมืองหรือราชการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อยตามพระราขประสงค์”

ส่วนพระยาเมืองนั้นรัฐบาลจะจ่ายเบี้ยหวัด “ให้พอเลี้ยงชีพ” และในส่วนศาสนา รัฐบาลจะเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีว่าด้วยการแต่งงานและการสืบตระกูล โดยจะรักษาไว้ซึ่งอำนาจของผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่นหรือ “โต๊ะกาลี” ในคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น (เตช บุนนาค, 2523, หน้า 65)

 

ข้อความข้างต้นนี้ไม่มีอะไรยากหรือเข้าใจไม่ได้เพราะเป็นภาษาธรรมดาไม่มีศัพท์แสงทฤษฎีหลักอะไรให้ต้องนิยาม แต่ถ้าเพียงเอ่ยแล้วผ่านไป ผมเกรงว่าผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่คงไม่เคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้โดยเฉพาะรายละเอียดดังกล่าวนี้อาจไม่เข้าใจเต็มที่ เนื่องจากผมเองตอนที่ไปค้นคว้าศึกษาปัญหาในปาตานีก็อ่านเจอข้อมูลดังกล่าวตอนแรกก็ยังนึกไม่ออกว่า แค่นั้นเองทำไมถึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “กบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง” ตามมาได้เล่า

พอเริ่มลงมืออธิบายก็ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมสยามถึงต้องการส่งข้าหลวงจากกรุงไปปกครองแทนเจ้าเมืองหรือรายามลายูมุสลิม และต้องเก็บภาษีแทนรวมทั้งเพิ่มอีกสิบกว่าชนิด เช่น ค่านาและรัชชูปการ อากรค่าน้ำ ค่าธรรมเนียมล้อเลื่อน การสำรวจผลไม้ การป่าไม้ การกะเกณฑ์ อากรศาล เกณฑ์ตำรวจภูธร เสือป่า การบีบคั้นกดขี่อื่นๆ

คำตอบคือทั้งหมดนั้นเพื่อทำให้ระบบการปกครองเป็นเอกภาพ

ทำไมต้องเป็นเอกภาพก็ก่อนนี้ก็ติดต่อสัมพันธ์กันมาอย่างเมืองประเทศราชในระบบบรรณาการ มีปัญหาอะไรหรือ

ตอบอย่างสั้นที่สุดเพราะระบบปกครองแบบศักดินาที่เรียกว่าจตุสดมภ์หรือเวียง วัง คลังและนานั้น เป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจไปตามกรมกองและเสนาบดี ไม่เป็นเอกภาพไม่เป็นระบบ ปกครองแบบตามใจผู้มีอำนาจ ในยุคใหม่กรุงสยามก่อตั้งระบบกระทรวงแบบใหม่จึงต้องการความเป็นเอกภาพแห่งรัฐสมัยใหม่ให้ฝรั่งมองเห็นและยอมรับในความสามารถของรัฐบาลสยาม

การบรรลุความเป็นเอกภาพได้มาจากการทำให้ทุกส่วนและทุกคนในพระราชอาณาจักรกระทำตัวและคิดเหมือนกันกับที่กรุงเทพฯ คิดและทำ

ข้อนี้แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็ต้องพูดว่า คือการทำให้ทุกเมืองและทุกคนเป็นเหมือนกันหมดคือเป็นไทย

 

อาจมีคนช่างคิดถามต่อไปอีกว่า ทำไมกรุงสยามถึงต้องการทำให้ทุกคนในพระราชอาณาเขตคิดและทำเหมือนกันด้วยเล่า มันไม่ฝืนธรรมชาติดอกหรือ

ในความเป็นจริงก็คงไม่มีใครทำและคิดอะไรเหมือนกันหมดทุกอย่าง แต่สิ่งที่รัฐบาลทุกแห่งในโลกนี้คิดเหมือนกันคืออย่างน้อยที่สุดต้องการให้พลเมืองของตนประพฤติปฏิบัติตนตามนโยบายที่รัฐบาลปกครอง คือทำตามกฎหมาย ยอมรับคำสั่งและคำตัดสินของศาลไทยที่เพิ่งปฏิรูปเป็นแบบสมัยใหม่ (ตะวันตก)

อันนี้เป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ที่มีรัฐบาลกลางอันเดียว มีอาณาเขตประเทศแน่นอน

และที่สำคัญมีประชากรที่มีความคิดจิตใจแบบเดียวกันด้วย นั่นคือถึงต้องปลูกฝังให้เกิดความคิดรักชาติ แต่ของกรุงสยามแถมมากหน่อยด้วยการมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่งั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนไทยแท้จริง

ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขบังคับที่ทุกรัฐชาติมีเหมือนกันหมด ถ้าเราไม่มีก็แสดงว่ายังไม่เป็นรัฐชาติจริง ฝรั่งเขาจะดูถูกเอาได้ ดังนั้น จึงต้องวางแผนและนโยบายต่างๆ เพื่อไปบรรลุความเป็นเอกภาพเพื่อเอกราชของชาติ

 

หลังจากได้บรรยายไปสี่ครั้งผมจึงพบข้อมูลและนำไปสู่การตีความประวัติศาสตร์ช่วงแรกนี้ใหม่ นั่นคือบทบาทของระบบการศึกษาแบบใหม่จากส่วนกลางที่มีต่อมณฑลปัตตานีโดยเฉพาะและต่อมณฑลอื่นๆ ทั่วประเทศ

ข้อสงสัยที่ผมมีมานานแล้วคือทำไมกรุงเทพฯ ถึงยืนยันและยืนกระต่ายขาเดียวในการจัดการให้คนปาตานีโดยเฉพาะเยาวชนต้องพูดอ่านและเขียนภาษาไทยให้ได้ จนถึงขั้นเป็นการใช้กฎหมายบังคับและลงโทษด้วยก็ตาม

ในเมื่อการศึกษาเป็นของดีมีคุณ ถึงไม่บังคับผู้ปกครองย่อมมองเห็นข้อดีไม่ช้าก็เร็ว ในที่สุดก็ย่อมหาทางให้ลูกหลานมาเข้าโรงเรียนจนได้ ไม่เห็นต้องใช้กำลังอะไรเลย

นั่นเป็นความคิดแบบง่ายๆ ของผมซึ่งเป็นไทยภาคกลางที่ไม่มีความแตกต่างหลากหลายในภาษาจากกรุงเทพฯ นอกจากสำเนียง

แต่ความจริงเบื้องหลังนโยบายการศึกษาพลีของรัชกาลที่ 6 ในปี 1920 คือการทำให้ “ไพร่บ้านพลเมืองนิยมและยำเกรงรัฐบาลไทย” ต่างหาก

การรู้หนังสือเพื่อไปทำมาหากินอะไรนั้นมาทีหลังและตามมีตามเกิด ก่อนโน้นเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น

หลักฐานใหม่ที่ผมได้คือเอกสารที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูล ร.5 เรื่องการจัดการศึกษาในมณฑลปัตตานี ร.ศ.125 โดยอ้างถึงการใช้อุบายอันสุขุมคือตั้งเจ้านายและข้าราชการในกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงประจำในท้องที่อีสานนานๆ ไม่ผลัดเปลี่ยนโดยเร็ว และกับให้พระจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและภาษาไทย ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองนิยมและยำเกรงทุกวันนี้จึงมีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองเหล่านั้นได้ทั่วๆ ไป ดังนั้น จึงนำความสำเร็จในอีสานไปสู่ข้อสรุปว่า “มณฑลปัตตานีนั้นจะต้องอุดหนุนการเล่าเรียนภาษาไทยให้เด็กๆ มลายูพูดไทยได้ นี่เป็นข้อสำคัญในเบื้องต้น ด้วยความประสงค์จะให้ใช้ภาษาไทยได้ทั่วทั้งมณฑลเป็นที่สุด”

แต่ผิดคาดในระยะแรกคนมลายูไม่ทำตาม ต้องบังคับด้วย พ.ร.บ.ประถมศึกษา 1921 เกิดสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่าการ “กระด้างกระเดื่อง มีการรวบรวมผู้คน ชักชวนกันให้ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเกณฑ์บังคับเข้าโรงเรียน สองคือเก็บเงินภาษีพลี “ซ่องสุมก่อการขบถ” อ้างว่าภายใต้การนำของอับดุลกาเดร์ อดีตเจ้าเมืองปัตตานี

นั่นคือกรณีกบฏน้ำใสปี 1922

(ยังมีต่อ)



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

เมษา พฤษภา 2553 เจาะใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจาะใจ อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ อาวุธชีวภาพสุดสยอง (3)
ปฏิบัติการ 1,326 วัน สถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน(1) : การทูตหลังฉาก ยุครัฐบาลทหาร
‘คำชม’ (ほめ言葉) ใครๆ ก็อยากได้
ครั้งที่สองกับ Lionel Messi ลูกยิงประตู 2 ลูก สวยงามตราตรึง
ตึกไม้แห่งมาลเมอ กับรากลึกของนโยบายป่าไม้สวีเดน
รำลึกแอนโธนี รีด ผู้ก้าวข้ามพรมแดนทั้งหลายในอุษาคเนย์ศึกษา
แลนดิ้งสู่เกาะผี : การเดินทางผ่านอัลบั้มใหม่ ของวง King Gizzard
ดาวกับดวง โดย พิมพ์พรร วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2568
ชื่อ ‘สุวรรณภูมิ’ มีที่มาจากการเป็นแหล่งวัตถุ และเทคโนโลยีการผลิต ‘ทองสำริด’
“พล.อ.ประวิตร”ส่งสัญญาณแรง หลังมีคลิปหลุดผู้นำเขมรสั่งไล่ล่าคนเห็นต่างบนแผ่นดินไทย ลั่น ไทยต้องไม่ถูกมองว่าอ่อนแอ ถาม“แพทองธาร”กล้าที่จะยืนข้างประชาชนหรือไม่ ?
“เท้ง ณัฐพงษ์” เสนอใช้กลไกสภาแก้ปัญหาประชาชนอย่างเร่งด่วน ประธานนัดประชุม 3 ก.ค.ทันที – รัฐบาลถอนร่างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์