เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

สิ้น ‘อิบราฮิม ไรซี’ สะเทือนอนาคตอิหร่าน

27.05.2024

การถึงแก่อสัญกรรมของ อิบราฮิม ไรซี ดูออกจะเป็นเรื่องราวธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้นำของประเทศอื่นๆ ทุกประเทศทั่วโลก และไม่น่าจะมีนัยสำคัญอะไรต่อเนื่องไปถึงอนาคตมากมายนักเช่นเดียวกัน

แต่ในความเป็นจริง อสัญกรรมครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป และส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ต่อระบอบการปกครองของอิหร่าน รวมไปถึงคนอย่าง อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี

นั่นไม่ใช่เป็นเพราะไรซีคือประธานาธิบดีที่โดดเด่น หรือเป็นขุมพลังอันอาจยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

แต่เป็นเพราะประเทศอื่นๆ ที่ว่า ไม่มีผู้นำสูงสุดอย่าง อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี และไม่มีระบอบปกครอง ระบบการเมือง แบบเดียวกันกับอิหร่าน

 

ไรซีได้รับ “เลือกตั้ง” ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2021 เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อจาก ฮัสซัน รูฮานี ผู้นำอิหร่าน “สายกลาง” ที่ได้ชื่อว่าเป็นทั้ง “สถาปนิก” และผู้ส่งเสริมผลักดัน ความตกลงว่าด้วยนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจโลกจนสำเร็จเมื่อปี 2015

ชัยชนะในการเลือกตั้งของไรซีครั้งนั้น ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยกันโดยทั่วไปว่า เป็นความสำเร็จที่ถูกกำหนดขึ้นไว้ล่วงหน้าอย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยกลุ่มการเมืองสายแข็งกร้าว ภายใต้การนำของผู้นำสูงสุดอย่าง อาลี คาเมนี

สองสามปีในตำแหน่งประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญในแผนของกลุ่มแข็งกร้าวของอิหร่าน ที่ต้องการปลูกฝังแนวทางจารีตนิยม ยึดถือการตีความบัญญัติในคัมภีร์อย่างสุดโต่ง ลงไว้ในประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น อิบราฮิม ไรซี คือผู้ที่ “ถูกเลือก” จากกลุ่มการเมืองสายแข็งกร้าวสุดโต่งนี้เอาไว้ ให้กลายเป็น “ผู้สืบทอด” ที่พร้อมดำเนินการทุกประการเพื่อยังผลให้การสืบทอดตำแหน่งสืบต่อจาก อาลี คาเมนี ในกรณีที่ผู้นำสูงสุดวัย 85 ปี ถึงแก่อสัญกรรมในที่สุดในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

 

ว่ากันว่า อิบราฮิม ไรซี ครูสอนศาสนาแนวทาง “ฮาร์ดไลน์” วัย 63 ปี ผู้นี้คือ “ทายาท” ทางการเมืองของ อยาตอลเลาะห์ คาเมนี

ข้อเท็จจริงที่สนับสนุนกระแสข่าวดังกล่าวก็คือ ในกระบวนการการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาผู้ชำนาญการ (Assembly of Experts) องค์กรที่จะคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งไรซีเป็นหนึ่งในสมาชิกสมัชชามาตั้งแต่ปี 2006 ผู้ที่เดินทางสายกลางอย่างรูฮานี กลับถูกกีดกันไม่ให้ลงสมัครเพื่อรับการเลือกตั้งด้วยโดยเจตนา พร้อมๆ กับนักการเมืองอีกหลายคนที่อยู่ในแนวทางปฏิรูป หรืออนุรักษนิยม

แต่กลับเปิดทางให้กับนักการเมืองสายสุดโต่ง ตบเท้าลงสมัครและกลายเป็นผู้สมัครระดับแนวหน้าได้อย่างน่าสนใจ

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี กำลัง “เก็บกวาด” เตรียมการจัดระเบียบ “สำนัก” ของตนเองเพื่อการสืบทอดในอนาคตอันใกล้

ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี เป็นประธานาธิบดีที่ไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้รับความชื่นชมในหมู่ประชาชนชาวอิหร่านอย่างยิ่ง

สาเหตุสำคัญอาจเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ปัญหาค่าเงินริอัล อ่อนค่าลงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นตามมาว่า ถึงที่สุดแล้ว ไรซีจะก้าวขึ้นสืบทอดตำแหน่งของคาเมนี จริงหรือ

อันเป็นคำถามซึ่งในเวลานี้ไม่อาจหาคำตอบได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากอสัญกรรมกะทันหันครั้งนี้

 

แต่ที่แน่นอนก็คือ การถึงแก่อสัญกรรมของไรซี ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นในปี 2025 ให้จำเป็นต้องเร่งเร็วขึ้นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ต้องเลือกประธานาธิบดีคนใหม่แทนที่ผู้ที่ถึงแก่อสัญกรรมภายใน 50 วัน

นั่นหมายถึงว่า คาเมนีและพวกรวมทั้งคนอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่ในศูนย์กลางแห่งอำนาจของอิหร่าน จำเป็นต้องเร่งรีบเตรียมการเพื่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเร็ววันนี้อย่างเร่งด่วน

กลายเป็นความท้าทายใหม่สำหรับระบอบการปกครองของอิหร่าน ภายใต้บริบทแวดล้อมภายนอกที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งเช่นในเวลานี้

อสัญกรรมของไรซี ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสำคัญภายในหรือนโนยบายการต่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะถูกชี้ขาดโดยคาเมนีก็ตามที แต่อาจเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่บ่งชี้ถึงสัญญาณของความอ่อนแอ หรือความไม่เสถียรทางการเมือง

ซึ่งอิหร่านไม่ยินดีอย่างยิ่งที่แสดงให้โลกภายนอกได้พบเห็น

 

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า แนวทางหนึ่งซึ่งชาวอิหร่านใช้เพื่อสะท้อนความไม่พึงพอใจต่อผู้ปกครองของตนเองได้ คือการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองของรัฐบาล

นี่คือเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านครั้งล่าสุดเมื่อปี 2021 ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

และในการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาอิหร่านในปีนี้ จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ คือไม่ถึง 41 เปอร์เซ็นต์

ทั้งสองกรณี กลายเป็นเรื่อง “ขายหน้า” สำหรับอิหร่าน ที่อ้างเอาความนิยมในหมู่ผู้ปกครองเป็นความชอบธรรมในการปกครองประเทศมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลาม

แต่อาลี คาเมนี และพวก ยินดีที่จะสละทิ้งความชอบธรรมที่ว่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่า คนของตนสามารถเข้าสู่ตำแหน่งที่ต้องการได้ และการสืบทอดอำนาจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ทำนองเดียวกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ อสัญกรรมของ อิบราฮิม ไรซี อาจสร้างความปั่นป่วนให้กับกลุ่มก้อนทางการเมืองสายแข็งกร้าวสุดโต่งนี้ไม่น้อย

แต่เชื่อกันว่า อาลี คาเมนี จะทำทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อให้อำนาจของกลุ่ม และมรดกตกทอดที่ตนคัดสรรแล้ว สามารถดำรงคงอยู่คู่กับอิหร่านต่อไป



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ปมขัดแย้งไทย-กัมพูชา จับตา เจซีบี 14 มิ.ย. เขมรยื่นศาลโลก คอนเน็กชั่น ทักษิณ-ฮุนเซน ดาบสองคม
‘ทักษิณ’ แค่ ‘เลื่อน’ ไม่หนี ผ่อน ปมร้อน คดีชั้น 14มติแพทยสภา-ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวน
“ตั๊น จิตภัสร์”ซ้อมหนักกีฬาเริงระบำในอากาศ เตรียมลุยรายการแข่งแรก “เวิลด์คัพ มาร์เซย ฝรั่งเศส” พร้อมสานต่อภารกิจ ”กีฬาอากาศคนพิการ” ตามรอยพ่อให้สำเร็จ
นายกฯ เปิดโครงการพลังสตรีฯ กำลังสำคัญพัฒนาประเทศขอผู้หญิงภูมิใจในตัวเอง – ยืนยันสานต่อกองทุนสตรีพร้อมยกระดับให้แข็งแกร่ง
สงครามชาตินิยมในศึกพิพาทกัมพูชา | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
“รมว.นฤมล”เปิดงานประกวดเส้นไหม ปี 68 สานงานต่อตามพระราชปณิธาน“พระพันปีหลวง”กำชับ เร่งเพิ่มจำนวนเกษตรกรหม่อนไหม รักษาให้อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทย
‘พิชัย’ เดินหน้าเชิญชวนญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม เซมิคอนดักเตอร์-เทคโนโลยีอนาคตในไทย พร้อมหนุนเอกชนไทยรับมือโลกการค้ายุคใหม่
“พิชัย” รับลูกนายกฯ ทุบนอมินี-สินค้าด้อยคุณภาพ สั่งลุยตรวจ 46,918 บริษัทต้องสงสัย ปกป้องระบบเศรษฐกิจไทย
ยางแท่นเครื่องคืออะไรพร้อมวิธีเช็กยางแท่นเครื่องเสื่อมสภาพ
สินเชื่อบ้านแลกเงินคืออะไร ? ตัวช่วยสำหรับคนอยากได้เงินด่วน
กรณี ‘ชั้น 14’ ในทรรศนะ ‘วรเจตน์’ นี่ไม่ใช่ยุค ‘เปาบุ้นจิ้น’
รองเลขาฯ นายกฯ งง สส.ปชน. ค้าน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ทั้งที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ฉะ อ้างแรงงานต่างด้าว สร้างความเกลียดชังระหว่างชนชาติ