

ทุกวันนี้ มีอาคารจอดรถ หรือมีอาคารขนาดใหญ่ ที่มีที่จอดรถหลายชั้น ทั้งที่อยู่ใต้อาคารหรือเหนืออาคาร เพื่อเพิ่มจำนวนที่จอดรถพอเพียงกับความต้องการ หรือตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
ทุกวันนี้ ผู้ใช้อาคารหรือผู้ขับรถยนต์ คุ้นเคยกับการเข้าออกที่จอดรถ การจอดรถตามชั้นต่างๆ และจดจำตำแหน่งที่จอดรถได้ เพราะมีข้อมูลตรงยอดเสาใกล้เคียง ไว้อ้างอิง
แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน สมัยที่ที่จอดรถยังเป็นเพียงลานจอดรถ บนที่ว่างรอบอาคาร อาจมีการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาบ้าง หรือสร้างหลังคาง่ายๆ คลุมบ้าง นอกจากจำนวนที่จอดรถไม่ได้มากมายแล้ว ตำแหน่งที่จอดรถยนต์ยังสามารถอ้างอิง อาคารหรือต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียงได้
แต่สำหรับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว อภิมหาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ โครงการแรกในประเทศไทย ที่มีทั้งศูนย์การค้าและโรงแรม มีพื้นที่รวมกว่าสองแสนตารางเมตร มีที่จอดรถมากถึงสองพันคัน ในอาคารสูงแปดชั้น
หลังจากเปิดโครงการในปี พ.ศ.2526 แม้จำนวนผู้ใช้บริการยังไม่มาก รวมทั้งจำนวนรถยนต์ที่นำมาจอดไม่มาก กลับมีปัญหาการขับรถวนขึ้นลงตามทางลาดเอียงครึ่งวงกลม ด้วยเป็นเรื่องใหม่ไม่คุ้นเคย
อีกทั้งเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เนื่องจากอาคารจอดรถ ที่เป็นโครงสร้างคอนกรีต มีเสาคานพื้นซ้ำๆ กัน คล้ายๆ กัน ทำให้ผู้ที่ขับรถยนต์จำไม่ได้ว่า จอดรถตรงตำแหน่งไหน ชั้นไหน
จึงเป็นที่มาของการเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เริ่มต้นจากการกำหนดชั้นที่จอดรถชัดเจน โดยมีเลขกำกับ การระบายแถบสีตรงหัวเสา ทุกต้น ทุกชั้น ให้ต่างกันไปในแต่ละชั้น เช่น ชั้นสีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว ฯลฯ ตรงหัวเสายังระบุตัวเลขและตัวอักษรไว้บนหัวเสาในชั้นที่จอดรถ เพื่อช่วยให้เจ้าของรถยนต์จำได้ว่า จอดรถยนต์ที่ชั้นสีแดง แนวเสา 12 C เป็นต้น
ตัวเลขและตัวอักษรดังกล่าว มาจากผังพื้นอาคารแต่ละชั้น ที่ใช้อ้างอิง ในการระหว่างการก่อสร้างอาคาร โดยสถาปนิกจะกำหนดตัวอักษร A B C ตามแนวเสาทางนอนด้านหนึ่ง และระบุตัวเลข 1 2 3 ตามทางตั้งอีกด้านหนึ่ง
เมื่อใช้วิธีนี้แก้ปัญหาได้ จึงกลายเป็นแนวปฏิบัติต่อเนื่องกันเรื่อยมา นอกจากอาคารอื่นของกลุ่มธุรกิจเซ็นทรัล ยังรวมไปถึงอาคารอื่นๆ ทั่วไป
แต่ก็มีสถาปนิกและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่รู้ที่มาและไม่เข้าใจวิธีการนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ไม่ได้ปรับตัวเลขชั้น จากแบบก่อสร้าง ในกรณีที่ออกแบบชั้นจอดรถไม่ปกติ อยู่ใต้ดินบ้าง หรือมีชั้นลอยบ้าง ทำให้มีพยัญชนะแสดงชั้น ซ้ำซ้อนกับแนวเสา เช่น B L LL M G หรือ B1 B2 เป็นต้น จนยุ่งยากในการจดจำตำแหน่งเสาใกล้ที่จอดรถ
รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องไร้เดียงสา อยากทำอะไรแปลกบ้าง คิดนอกกรอบบ้าง อุตริกำหนดเป็นผลไม้บ้าง เป็นสัตว์บ้าง ล้วนสร้างความงุนงงให้กับผู้ขับรถยนต์ เพราะไม่มีทางรู้ว่า ชั้นมะม่วงนั้น อยู่เหนือชั้นมะพร้าว หรืออยู่ใต้ชั้นสับปะรด เป็นต้น
คงต้องขอบคุณ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นบุกเบิก คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ที่ให้โอกาสผู้เขียนซึ่งในตอนนั้นยังเยาว์วัย มีโอกาสได้ทำงานและได้รับค่าตอบแทน
ที่จริงยังมีงานอื่นๆ ที่เสนอในครั้งนั้น ได้แก่ การกำหนดชื่อทางเข้าออกศูนย์การค้าที่มีหลายทาง เป็นทางออกจตุจักร ลาดพร้าว และบางเขน ตามตำแหน่งและทิศทางจริง เพื่อง่ายต่อการจดจำ และนัดหมาย ซึ่งเป็นต้นทางของการกำหนดทางเข้าออก และโซนต่างๆ ในอาคาร ที่มีคนนำไปคิดให้วุ่นวาย ตั้งเป็นชื่อเมือง ชื่อต้นไม้ หรือชื่อสถานที่ในต่างประเทศ ให้สับสน
การกำหนดป้าย กำหนดทิศทางไปส่วนต่างๆ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรม และที่จอดรถ เพื่อลดปริมาณจราจรตรงทางเข้า และการวนหาจุดหมาย อีกทั้งกระจายรถยนต์ไปตามชั้นและตำแหน่งต่างๆ
สิ่งที่เคยทำมาครั้งนี้ ห่างไกลจากทฤษฎีการออกแบบหรือสุนทรียะ แต่ทว่า ช่วยแก้ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในอดีต และเป็นต้นทางที่มีผู้นำไปปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยมา จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบัน •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



