

ต้องยอมรับว่า นายวิษณุ เครืองาม เป็นนักเลงหนังสือ ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนออกผ่าน”การเขียน” หากที่สำคัญอย่างยิ่งคือสะท้อนออกผ่าน”การพูด”
อย่างเช่นการหยิบสำนวน”เหาะเกินลงกา”มาอธิบายบทบาท ของญาติผู้น้อง นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เมื่อรับบทร่างรัฐธรรมนูญ แจ่มชัดยิ่งว่า นายวิษณุ เครืองาม อ่าน”รามเกียรติ์”กระจ่าง
ในห้วงแห่งการจะเข้ามามีบทบาทในสถานะแห่งที่ปรึกษา”ของ”นายกรัฐมนตรีเมื่อมองผ่านกระบวนการปฏิเสธประสานกับแต่ละข้อเสนอยิ่งเห็นอย่างเป็นรูปธรรม
การปฏิเสธตำแหน่ง”รองนายกรัฐมนตรี” การปฏิเสธตำแหน่ง“ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”แล้วไปยุติอยู่ที่ตำแหน่งที่ปรึกษา”ของ”นายกรัฐมนตรีก่อให้เกิดนัยประหวัด
1 เป็นนัยประหวัดไปยังธรรมนิยมอันสำแดงอย่างแจ้งชัดของการเสนอและการปฏิเสธตำแหน่งในยุทธนิยายเรื่อง”สามก๊ก” ไม่ว่าจะเป็นโจโฉ ไม่ว่าจะเป็นสุมาอี้
ขณะเดียวกัน 1 คือปฏิบัติอันทำให้การต้อนรับการเยือนเหมือนกับการเดินทางของเล่าปี่ไปยังเขาโงลังกั๋ง
ยิ่งในระหว่าง”คำถาม”และ”คำตอบ”ยิ่งแหลมคม
ความแหลมคมมิได้สัมพันธ์อยู่กับปรากฏการณ์อันสำแดงผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์ภายใต้ #ไม่มียางอาย หากแต่ยังมีการอ้างอิงไปยังวลีที่ว่า”ตระบัดสัตย์”อย่างมีนัยสำคัญ
รากฐานแห่ง #ไม่มียางอาย เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีตัวละครใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง
มีหรือที่ระดับ นายวิษณุ เครืองาม จะไม่เคยรับรู้มาก่อน
ในเมื่อยอดดู #ไม่มียางอาย เมื่อเวลา 19.46 น.ของวันที่ 29 พฤษภาคม คือ 22.5K และเมือเวลา 03.14 น.ของวันที่ 30 พฤษภาคม คือ 27K
ยิ่งกว่านั้น นายวิษณุ เครืองาม ยังยืนยันอย่างหนักแน่นด้วยประโยคที่ว่า “ถ้าผมตระบัดสัตย์ ผมก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว”
จึงเด่นชัดยิ่งในการปฏิเสธตำแหน่ง”รองนายกรัฐมนตรี” และปฏิเสธตำแหน่ง”ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”
ภายในคำปฏิเสธของ นายวิษณุ เครืองาม จึงมากด้วย”คม”
ใครที่ติดตามแต่ละคำพูดของ นายวิษณุ เครืองาม เบื้องหน้าคำถามที่รัวเข้ามาจากนักข่าวหลายสำนัก
ล้วนตระหนักในความเป็น”นักเลง”หนังสือเป็นรูปธรรม
การเสนอคำว่า”เนติบริกร”ให้กับบทบาทของ นายวิษณุ เครืองาม ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้เป็นเรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย
ตรงกันข้าม มีรากฐานมาจากความเจนจัดในเรื่อง”กฎหมาย” มีรากฐานมาจากการเป็นนักเลง”หนังสือ”ครบถ้วน
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

