

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 7-13 มิถุนายน 2567
• กวีนิพนธ์
ชี้แจง
ตามที่ มติชนสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์กวีนิพนธ์ที่เข้ารอบ “การประกวดมติชนอวอร์ด 2024”
ในฉบับที่ 2285 ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2567
มีความผิดพลาด เรื่อง “ชื่อ” กวีนิพนธ์ บทดังกล่าว
โดยชื่อเรื่อง ไม่ใช่ “กาพย์ฉบัง16”
ที่ถูกต้องคือ “หัวเขาแดง” ประพันธ์โดย ณฐกร กวินนาถ
จึงเรียนมาเพื่อทราบและขออภัยในความผิดพลาดดังกล่าว
กองบรรณาธิการ
มติชนสุดสัปดาห์
• จิตรกรรม
เรียนจบมาห้าสิบกว่าปีไม่เคยแสดงงาน และไม่ได้ทำต่อเนื่อง
เพิ่งมามีเวลานั่งทบทวนเรื่องเก่าๆ
ก็เลยได้งานมาชุดหนึ่งในช่วงหลายสิบปี
งานแสดงครั้งนี้เกิดขึ้นโดยฝีมือลูกสาวเป็นผู้ดำเนินการ
ผมเองกลายเป็นผู้สูงอายุ ไม่ค่อยได้สนใจมากนัก
ในฐานะเพื่อนเก่า มติชนสุดสัปดาห์ ช่วยหาทางเป็นข่าวให้นิดหนึ่งจะเป็นพระคุณครับ
จัตวา กลิ่นสุนทร
ส่งข่าวมาจาก ผู้อาวุโส “จัตวา กลิ่นสุนทร”
ซึ่งที่ผ่านมามีภาพ นักหนังสือพิมพ์และอดีตสมาชิกวุฒิสภา มากกว่าความเป็นจิตรกร
แต่ตอนนี้ ถึงวาระที่จะแสดงงาน การเป็น “นักวาดรูป”
โดย “จัตวา กลิ่นสุนทร” บอกเล่ามาว่า
“ผมไม่เคยลืมภาพเหล่านี้ตั้งแต่เด็กจนสู่ยามสูงวัย
เหมือนกับไม่เคยลืมการวาดรูป
ไม่ลืมสีสัน แสงแดด และการสร้างภาพจากจินตนาการบนผืนผ้า
โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันด้วยเรื่องราวของทะเลบ้านเกิด”
สนใจการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรก ของ จัตวา กลิ่นสุนทร
เชิญชมที่ Explode Gallery เจริญกรุง
เปิดงาน 6 มิถุนายน 2567 เวลา 18.00 น.
แสดงผลงานถึง 6 กรกฎาคม 2567
• หลอก!!
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการถูกหลอกให้โอนเงิน”
ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2567 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,088 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
ผลสำรวจพบว่า คนอีสานถูกหลอกและหลงเชื่อจนสูญเงินผ่านการคุยโทรศัพท์และเฟซบุ๊กมากที่สุด
ประเด็นที่โดนหลอกง่ายที่สุด คือ หลอกโดยปลอมเป็นตำรวจ/เจ้าหน้าที่รัฐ/ธนาคาร และหลอกขายสินค้า/บริการออนไลน์
หน่วยงานหรือเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันการถูกหลอกที่คนอีสานรู้จักมากที่สุด คือ ตำรวจไซเบอร์ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย แต่ยังรู้จักไม่ทั่วถึง
วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพที่ใช้เป็นประจำ คือ จะเช็กให้ชัวร์ก่อนโอน และหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความระมัดระวังในการป้องกันมิจฉาชีพ
และให้คะแนนรัฐบาลในการปราบปรามมิจฉาชีพและข่าวลวง 46% จาก 100%
เมื่อสอบถามว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ท่านได้รับข้อความ/การติดต่อสื่อสารจากกลุ่มมิจฉาชีพ ทางช่องทางใดบ้าง พบว่า รายละเอียดของการติดต่อสื่อสารจาก 9 ช่องทางดังนี้
1.การพูดคุยทางโทรศัพท์ 2.เฟซบุ๊กและเมสเซนเจอร์ 3.ข้อความ SMS 4.ไลน์ (LINE) 5.การท่องเว็บ 6.อินสตาแกรม 7.บัญชีเอ็กซ์ (X) 8.อีเมล 9.ติ๊กต็อก
จาก 9 ช่องทาง ตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คนอีสานถูกหลอกและหลงเชื่อจนสูญเงินสูงถึงร้อยละ 17.3
โดยถูกหลอกจากช่องทางการพูดคุยทางโทรศัพท์มากที่สุด ร้อยละ 8.1
รองลงมา เฟซบุ๊กและเมสเซนเจอร์ ร้อยละ 5.0
ตามมาด้วย ข้อความ SMS ร้อยละ 2.2 ไลน์ ร้อยละ 1.2 การท่องเว็บ ร้อยละ 0.4 อินสตาแกรม ร้อยละ 0.2 บัญชีเอ็กซ์ ร้อยละ 0.2 อีเมล ร้อยละ 0.1 และยังไม่มีการหลงเชื่อจนการสูญเงินผ่านติ๊กต็อก
เมื่อสอบถามต่อว่า ประเด็นอะไรที่ท่านคิดว่าตัวท่านเองอาจจะโดนหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพได้ง่ายที่สุด
พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.6 ตอบว่าหลอกโดยปลอมเป็นตำรวจ/เจ้าหน้าที่รัฐ/ธนาคาร
อันดับ 2 ร้อยละ 16.8 หลอกขายสินค้า/บริการออนไลน์
อันดับ 3 ร้อยละ 9.7 หลอกว่าถูกรางวัลหรือจะได้รับเงินก้อนใหญ่
อันดับ 4 ร้อยละ 8.2 หลอกให้กรอกข้อมูลรับเงินจากรัฐบาล
อันดับ 5 ร้อยละ 6.3 มิจฉาชีพแฮ็กบัญชีไลน์/เฟซบุ๊กเพื่อนแล้วหลอกยืมเงิน
อันดับ 6 ร้อยละ 5.5 หลอกลงทุนได้ผลตอบแทนสูง
อันดับ 7 ร้อยละ 5.0 หลอกให้กรอกข้อมูลเพื่อรับของรางวัล
อันดับ 8 ร้อยละ 4.6 หลอกกู้เงินออนไลน์
อันดับ 9 ร้อยละ 4.1 หลอกโดยพนัน/เกมออนไลน์
อันดับ 10 ร้อยละ 2.4 หลอกว่าโอนผิดให้โอนคืน
และอันดับ 11 ร้อยละ 1.8 หลอกให้รักบอกให้โอน
เมื่อสอบถามว่า ผลงานรัฐบาลในการปราบปรามมิจฉาชีพและข่าวลวง เป็นอย่างไร
พบว่า มีผู้ตอบระดับดีมาก เพียงร้อยละ 1.1
ระดับดี ร้อยละ 17.8
ระดับปานกลางหรือพอใช้ ร้อยละ 51.4
ระดับแย่ ร้อยละ 23.1 และระดับแย่มาก ร้อยละ 6.6
และเมื่อเฉลี่ยเป็นคะแนนเต็ม 100% พบว่าได้คะแนนเฉลี่ย 46.0% ซึ่งต่ำกว่าครึ่ง
รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์
หัวหน้าโครงการอีสานโพล
คนอีสาน ให้รัฐบาล “สอบตก”
กับการปราบปรามหลอกลวงผ่านโซเชียล-ออนไลน์
และเชื่อว่า คนไทยทั่วประเทศ
ก็เห็นไม่ต่างกัน
รัฐบาลสอบตก!?! •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022