
ตลาดหุ้นไทย… ต่ำสุดรอบ 4 ปี วิกฤตการเมือง-วิกฤตเชื่อมั่น

ตลาดหุ้นไทยปีนี้ อาการยังไม่ได้ดีไปกว่าปีก่อน แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาแล้วก็ตาม โดยช่วงเวลา 5 เดือนเศษ (1 มกราคม-10 มิถุนายน 2567) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยออกไปแล้ว 89,817.58 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา หุ้นไทยร่วงหนักตั้งแต่ครึ่งวันเช้า ดัชนี SET ลงมาทดสอบระดับต่ำสุด (Low) ที่บริเวณ 1,313.26 จุด หรือลดลง 19.48 จุด ลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เคยลงไปต่ำสุดที่บริเวณ 1,024.46 จุด
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า SET Index ที่ปรับตัวร่วงหนักดังกล่าว เกิดจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอน ว่าจะไปสู่ทิศทางไหน โดยเฉพาะเรื่องศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทำให้นักลงทุน อาจจะมีการขายหุ้นลดความเสี่ยงออกมา หลังจากที่สัญญาณทางเทคนิคเป็นภาพเชิงลบด้วย
“คำแนะนำลงทุนช่วงนี้ ถ้าเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจจะดูจังหวะตลาด หากมีสัญญาณฟื้นตัว ดัชนี SET สามารถกลับขึ้นมายืนเหนือ 1,320 จุดได้ ก็เปิดโอกาสเข้าไปเก็งกำไรได้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และ ดัชนีปิดต่ำกว่า 1,320 จุด แนะนำควร Wait and See ไปก่อน ซึ่งช่วงนี้ก็ Wait and See มา 1 สัปดาห์แล้ว”
“ส่วนหุ้นที่น่าจะ Outperform ก็จะเป็นกลุ่มหุ้น Defensive อาทิ กลุ่มสื่อสาร, กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มท่องเที่ยว”
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2567) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนสิงหาคม 2567) อยู่ที่ระดับ 100.72 โดยยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมา คือสถานการณ์เงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงินบาท
ส่วนปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นผลจากนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากประกาศแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี และแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินบาท แผนการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2567 และ “เสถียรภาพการเมืองไทย” ที่ยังสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InovestX) ชี้ว่า ในระยะสั้น มองว่า SET ยังเปราะบาง โดยได้รับแรงกดดันจากประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ SET ยัง Underperform (ทำผลงานได้ต่ำกว่า) ตลาดหุ้นในภูมิภาค
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง 13 วันทำการติดต่อกัน นับจากวันที่ 21 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2567 คิดเป็นมูค่ารวม 24,421.77 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วงเวลา 5 เดือนเศษ (1 มกราคม-10 มิถุนายน 2567) ที่นักลงทุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทยไป 89,817.58 ล้านบาท ปรากฏว่า นักลงทุนที่ “แบกตลาด” ก็คือ นักลงทุนในประเทศที่ซื้อสุทธิไป 89,747.27 ล้านบาทนั่นเอง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ตกช่วงนี้ การเมืองก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ตลาดมีความกังวล แต่อย่างที่บอกไปแล้ว ก็คือ เป็นเรื่องของแต่ละคน ซึ่งในส่วนของตนได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นเป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ปัจจุบันยังซบเซา มีปัญหาด้านกำลังซื้อ โดยในช่วง 6-7 เดือนแรก ไทยยังขาดงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงขาดมาตรการด้านการเงินที่จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจให้มีคันเร่งด้วย ดังนั้น หวังว่าในช่วงหลังของปีนี้มาตรการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และยังมีมาตรการอื่นๆ ของกระทรวงการคลังเข้ามาเพิ่มเติมด้วย จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจุบันมาตรการทางด้านการเงินและมาตรการทางด้านการคลังยังไม่สอดประสานกันและทำงานยังไม่เต็มที่ เช่น มาตรการด้านการคลัง ในเรื่องการขาดงบประมาณ ส่วนมาตรการด้านการเงิน คือเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังต้องทำให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ
“ต้องมีมาตรการเข้าไปแก้ไข และอยากให้เน้นเรื่องการแก้ไขสภาพเศรษฐกิจ เพราะเมื่อสภาพเศรษฐกิจก็จะสะท้อนไปที่ตลาดหุ้น คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลังที่พยายามออกมา ซึ่งปัจจุบัน ยอมรับว่า มาตรการด้านการคลังและการเงิน ยังไม่สอดประสานกันเท่าที่อยากจะให้เป็น”
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หุ้นไทยที่ร่วงลงแรงช่วงนี้ มองว่าเป็นเรื่องของกลไกไม่ใช่ปัจจัยฟื้นฐาน เกิดจากมีเครื่องมือที่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติ Short Sell ซึ่งการที่หลังจากนี้จะมีมาตราการ Uptick Rule ออกมาควบคุม Short Sell จึงทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการ Short Sell ทำกำไร จึงมีการถล่มหนัก
ส่วนประเด็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความตำแหน่งนายกฯ นั้น นายประกิตกล่าวว่า นายกฯ ได้ส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยไม่ได้ขอขยายเวลา แสดงว่านายกฯ ต้องค่อนข้างมีความมั่นใจ ดังนั้น จึงมองว่าใน 1-2 เดือนหลังจากนี้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะกลับมีดีขึ้นได้ โดยมองเป้า SET สิ้นปีอยู่ที่ 1,500 จุด ซึ่งช่วงครึ่งปีหลัง หุ้นไทยจะกลับมาดีขึ้นได้ จากที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้หารือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้า GDP ปีนี้ต้องขยายตัวได้ 3% และมาตรการระยะยาวตั้งเป้า ต้องขยายตัวราว 5%
“หลักสำคัญคือรัฐบาลต้องการเร่งเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนให้สูงกว่า 70% จึงมองว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น และจะส่งผลให้ บจ. มีกำไรที่ดีขึ้นได้ รวมถึงการนำดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ช่วงปลายปี และการฟื้น LTF จะเข้ามาช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดหุ้นได้ 2-3 หมื่นล้านบาท หรือสูงสุด 6 หมื่นล้านบาทต่อปี”
ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากต้องลุ้นปัจจัยภายนอกแล้ว ก็ต้องลุ้นให้การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพด้วย
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024