

หลังจากเอาจริงกับการดูนกมาระยะเวลาหนึ่ง ใช้เวลาว่างที่มีตระเวนไปแทบทุกแห่งที่เป็นแหล่งอาศัยของนก ไม่ว่าจะเป็นบนยอดดอย ป่า พื้นที่ชุมน้ำ รวมทั้งเกาะแก่งในทะเล
ผมได้รับโอกาสให้เขียนบันทึกเรื่องราวการดูนก ให้กับนิตยสารท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง พูดได้ว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินบนเส้นทางสายนี้
ในงานเขียนชิ้นแรก ผมเขียนชื่อนกภาษาไทยและวงเล็บชื่อภาษาอังกฤษไว้ บางครั้งก็ลงชื่อวิทยาศาสตร์ของนกชนิดนั้นๆ ไว้ด้วย
เขียนราวกับรู้จักนกที่เขียนถึงอย่างแท้จริง
ผลจากการตระเวนไปทั่ว ทำให้ผมรู้จักชนิดนกมากขึ้น รายชื่อนกในประเทศไทยในหนังสือคู่มือที่นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล จัดทำ ถูกผมทำเครื่องหมายพบเห็นแล้วพร้อมบันทึกวันเวลาและสถานที่พบ จนกระทั่งเกินกว่าค่อนของชนิดนกที่พบในประเทศไทยที่มีข้อมูลการพบเจอราว 900 ชนิด
ในวันเวลานั้น ผมพบนกมากขึ้น พร้อมกับงานที่เขียนเปลี่ยนไป เปลี่ยนเพราะเริ่ม “เข้าใจ”
ในงาน ชื่อนกผมเขียนแค่ภาษาไทย ไม่มีวงเล็บ ไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว
ไม่ใช่เพราะขี้เกียจเขียน หรือปฏิเสธชื่อวิทยาศาสตร์อันทำให้รู้ว่านกชนิดนี้มีเทือกเถาเหล่ากอมาอย่างไร
เพียงแต่ผมเริ่มรู้ว่า ผมรู้จักนกจริงๆ มากขึ้น เริ่มรู้สึกถึงความเป็นชีวิต ได้เห็นและเข้าใจการดำเนินชีวิตของพวกมัน เห็นหน้าที่ซึ่งนกได้รับมอบหมายมาให้กระทำ
อาจเป็นความรู้สึกเดียวกับที่ชาวบ้านในดง อย่างลุงลพ, ลุงแก้ว เก็บหาชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นใบ, ราก หรือผลของต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งมากิน เพื่อบรรเทาอาการปวดหัว, ปวดท้อง, ปวดฟัน
พวกเขาไม่รู้หรอกว่า ต้นไม้ต้นนั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอะไร รู้เพียงว่า พ่อ-แม่สอนมาว่า ต้นอะไรมีฤทธิ์เป็นยา ใช้แก้อาการต่างๆ ได้
และแน่นอนว่า ไม่ว่าใครอยากตัดโค่น “ต้นยา” ของพวกเขาทิ้ง
ถึงที่สุด ผมรู้สึกว่า หากรู้จักใครสักคน ผมสนใจสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาคิด ณ เวลานั้น มากกว่าจะสนใจว่าเขามีความเป็นมาเช่นไร
เมื่อเริ่มรู้สึก มันทำให้ผมยอมรับได้ไม่ยากว่า ระหว่างเรา ผมกับนก ไม่มีความแตกต่าง ผมไม่ได้เป็นชีวิตอันเหนือกว่าแต่อย่างใด
ผมพร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้จากพวกมัน และไม่แปลกใจหรือตื่นเต้นเวลาที่มีผู้พบเห็นพืช, นก หรือสัตว์ป่าชนิดที่ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน แต่ดีใจที่เราได้รู้มากขึ้น
งานของผม คือการนำภาพและเรื่องราวของชีวิตในป่ามานำเสนอ โดยมีกล้องและเลนส์เป็นเครื่องมือ การดูนกช่วยให้ผมเริ่มต้นได้บนทางสายนี้
นกชนิดหนึ่ง ซึ่งหากได้พบเจอทุกครั้ง ไม่ว่าจะพบในสถานที่ใด มันทำให้ผมนึกถึงความรู้สึกครั้งแรกที่มันสอนให้ผมได้รับบทเรียนหนึ่ง “บท” อันเป็นความผูกพันระหว่างพ่อกับลูก มันทำให้เห็นว่าความรักความห่วงใยที่พ่อมีต่อลูกนั้น ลึกซึ้งเพียงใด เป็นความรักชนิดที่ยอมตายแทน
นกชนิดนั้นมีชื่อว่า นกอีแจว

นกอีแจว – อีแจวเป็นหนึ่งในชนิดของกลุ่มนกน้ำ ใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ การเลี้ยงดูลูก เป็นหน้าที่ของนกตัวผู้ ซึ่งพ่อนกจะทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
เวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ทำให้ผมต้องยอมรับว่า การจะทำตัวให้อยู่ร่วมกับพวกมันให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ในป่า ผมเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมที่ชีวิตในป่าไม่เคยวางใจ
ผมทำได้เพียงพยายามทำสิ่งอันเรียกว่า รบกวนพวกมันให้น้อยที่สุด
สัตว์ป่า, นก ไม่แยกว่าคนที่พบ คนไหนถือกล้อง คนไหนถือปืน
จากสายตาของพวกมัน คนคือชีวิตที่อันตราย
ผมยอมรับความจริงว่า ผมเป็นแค่ชีวิตเล็กๆ ชีวิตหนึ่ง เป็นสิ่งแปลกปลอมเมื่ออยู่ในป่า การทำความรู้จักกับชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันอย่างสังคมพึ่งพาจำเป็น ยอมรับความจริงอีกประการว่า ไม่มีสัตว์ป่า หรือนกตัวไหนอยากพบ
วันเวลาช่วยให้ผมเข้าใจเรื่องของการเคารพกฎของการรักษา “ระยะห่าง” ไม่เข้าใกล้เกินระยะที่สัตว์ป่าอนุญาต
อันเป็นกฎที่ผมนำมาใช้ในชีวิตขณะอยู่ในสังคมของคน
กล้อง เป็นเครื่องมือที่ดีในการเรียนรู้
สิ่งหนึ่งที่กล้องบอกตลอดมา ขณะแนบสายตากับช่องมอง นั่นคือช่วงเวลาขณะนั้นของภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า เป็นเวลา ณ ขณะนี้
กล้องเป็นเครื่องมือที่ดี ผมใช้เพื่อเรียนรู้บทเรียนต่างๆ จากเหล่าสัตว์ป่ามาเนิ่นนาน
ทุกครั้งที่แนบสายตากับช่องมอง ผมเห็นภาพ “ปัจจุบัน” ไม่ใช่ภาพเมื่อวาน หรือพรุ่งนี้
กล้องสอนให้เรียนรู้กับการอยู่กับปัจจุบัน
ผมใช้เวลานานพอสมควร จึงจะเข้าใจ •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024?fbclid=IwAR22RbstgOdFjK3Kl_MAt_MusBlq5oxijEcCbx_-0y6zmJhXvZl3Q_2G-cE