

ไม่มีความขัดแย้งในคณะราษฎร
พิจารณาจากบันทึกของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ที่กล่าวถึงเหตุการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องจากผลของการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “หากการเมืองไทยจะมีความขัดแย้งและมีการแย่งชิงอำนาจก็มิใช่ปัญหาภายในคณะราษฎร หากเป็นปัญหาระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายตรงข้ามที่มีมานับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจที่ปรากฏให้เห็นเสมอๆ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามของฝ่ายอำนาจเก่าในทุกลักษณะเพื่อทำลายคณะราษฎรในทุกวิถีทาง ทั้งทางเปิดผ่านรัฐสภา ทั้งสงครามข่าวสาร ทั้งการใช้กำลัง และแม้กระทั่งการลอบสังหาร
มีบันทึกหนึ่งที่น่าสนใจในความพยายามของฝ่ายอำนาจเก่านอกเหนือจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่ล้มเหลว ดังปรากฏใน “พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ” ของ โพยม โรจนวิภาค และ บันทึกของนายจิตตะเสน ปัญจะ
“แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์”
โพยม โรจนวิภาค บันทึกแผนสังหารผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารไว้ใน “พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ” ว่า
“แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์ซึ่งกลุ่มพวกก่อการในกรุงเทพฯ จัดขึ้นนอกเหนือแผนการของพระองค์เจ้าบวรเดช คือการบุกเข้าประหารคนสำคัญของฝ่ายรัฐบาลซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวัน ‘ท่านขุน’ ที่บ้านท่าวาสุกรีเป็นผู้ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ก่อการในกรุงเทพฯ ซึ่งข้าพเจ้าและผู้ช่วยได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางด้านท่านขุนอยู่ตลอดมาจึงทราบว่า กลุ่มนี้ได้ว่าจ้างนักเลงปืนชั้นยอดจากต่างจังหวัดมากำจัดบุคคลสำคัญคนหนึ่ง
ในจังหวะที่บุคคลนั้นพรวดพราดออกมาจากห้องนอนขณะมีเสียงสัญญาณบอกเหตุร้ายดังขึ้นเมื่อกองทัพฝ่ายโคราชยกมาถึงสถานีจิตรลดาและกองหน้าส่วนหนึ่งกำลังบุกรุกเข้าวังปารุสกวัน
เมื่อมือปืนทำงานสำเร็จแล้วจะต้องวิ่งลงจากตัวตึกผ่านไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้บนแผนผังบริเวณวังตามที่เขาได้ศึกษาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง จะไม่รู้ก็เพียงว่าจุดดับของตัวเขาเองอยู่ตรงไหนเท่านั้น เมื่อวิ่งมาถึงมุมหนึ่งของตึกซึ่งเป็นจุดจบตามแผนการอันโหดเหี้ยมตามแบบฉบับที่ผู้มีอำนาจใหญ่ในยุคทมิฬนั้นชอบใช้กัน การกระทำดังกล่าวนี้คือการปิดปากมือปืนที่เขาจ้างมาด้วยการยิงทิ้งเสียทันทีตรงจุดที่เขาจัดวางมือปืนพวกของเขาไว้คอยลงมือสังหารนักเลงมือปืนรับจ้างเสียด้วยเพื่อเป็นการปิดปาก ฆาตกรที่ถูกจัดเตรียมมาไว้ค่ามือปืนรับจ้างนั้นมีอยู่แล้ว 2 คนเพื่อช่วยกันปฏิบัติงานให้ได้ผลแน่นอน”
ไม่เพียงแต่ได้รับรู้แผนการนี้เท่านั้น เพราะ พ.27 ต้องเข้าร่วมในแผนนี้ด้วยแม้จะพยายามบ่ายเบี่ยง
“พอพบกันค่ำวันนี้ ท่านขุนก็มอบปืนพกให้เรา 2 กระบอก แจ้งว่าเพิ่งซื้อมากระบอกละ 400 และย้ำยืนยันอีกว่า ‘เชื่อว่าเราทั้งสองและตัวท่านขุนเองจะไม่มีโอกาสใช้ปืน’ เพราะมือปืนที่ท่านขุนจัดหามานั้นมือแน่มาก ไม่เคยพลาด ปืนที่มอบให้เรานี้ให้เก็บไว้ป้องกันตัวเผื่อจำเป็น”
แต่การเลื่อนเวลาเคลื่อนกำลังจากนครราชสีมาจาก 10 ตุลาคม เป็น 11 ตุลาคม แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสกวันครั้งนี้จึงต้องล้มเลิกไป
อนึ่ง “แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์” นี้ ผู้เขียนบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า “กลุ่มพวกก่อการในกรุงเทพฯ จัดขึ้นนอกเหนือแผนการของพระองค์เจ้าบวรเดช”
หากแผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์เป็นจริงตามบันทึกของ โพยม โรจนวิภาค ก็เป็นการปฏิบัติในลักษณะ “แนวร่วม” ที่กำหนดโดย “กลุ่มผู้ก่อการในกรุงเทพฯ” อาศัยสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อวัตถุประสงค์ของตน ซึ่งฝ่ายทหารหัวเมืองทั้งพระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามมิได้รู้เห็นด้วยแต่อย่างใด
ในบันทึกฉบับนี้ ระบุด้วยว่าฝ่ายผู้วางแผนทราบดีว่า ในคืนวันที่ 10 ตุลาคมนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนา มิได้พักอยู่ในวังปารุสกวัน เพราะต้องเดินทางไปตรวจราชการที่ราชบุรีซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาล มณฑลราชบุรี แต่ผู้นำอื่นๆ ของคณะราษฎรต่างพำนักอยู่ในวังปารุสกวัน
“ตัดหัวคณะราษฎร”
ยังมีอีกบันทึกหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ
“ปาจารยสาร” ฉบับ 26 ประจำ 1 กรกฎาคม-ตุลาคม 2542 หน้า 79 “บันทึกของนายจิตตะเสน ปัญจะ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สั่งประหารคณะผู้ก่อการ 2475”
จิตตะเสน ปัญจะ บันทึกว่ามีพระบรมราชโองการประหารชีวิตคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2476 พระบรมราชโองการฉบับนี้ปรากฏรายชื่อคณะราษฎรผู้ต้องโทษประหารจำนวนมาก เป็นรายชื่อคณะราษฎรที่ไปขอขมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 7 และ 9 ธันวาคม พ.ศ.2475 รวม 61 คน อันเป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นกบฏ
จิตตะเสน ปัญจะ เล่าว่า เจ้าพนักงานอารักษ์คนหนึ่งเห็นว่ามีชื่อของเขาอยู่จึงเอามาให้เขาดู ความจริงได้แตกขึ้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงคิดให้ไปลงนามเป็นหลักฐานว่าเป็นผู้ก่อการ นี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่คณะก่อการต้องลุกขึ้นทำการปฏิวัติอีกครั้ง ยึดอำนาจกลับคืนจากพระยามนโนปกรณ์นิติธาดา
พระราชโองการฉบับนี้ใจความสำคัญตอนท้ายว่า
“จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลงโทษประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ณ ท้องสนามหลวงในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476” พร้อมกับมีรายชื่อผู้มีความผิดตามโทษนี้จำนวน 60 คน “ผู้ที่มียศและบรรดาศักดิ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์ทุกคน” และ “ให้เจ้าพนักงานนำผู้ที่มีรายชื่อทั้ง 60 คนนี้ไปดำเนินการตัดหัวประหารชีวิต ณ ท้องสนามหลวงในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476 เวลาย่ำรุ่งแล้วเอาหัวเสียบประจานไว้ ณ ท้องสนามหลวง”
โดยมีนามผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่สะกดว่า “มะโนปกรณ์นิติธาดา”
จิตตะเสน ปัญจะ ยังเล่าต่อด้วยว่า หลังจากที่คณะราษฎรสามารถล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาลงได้แล้วเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 มีผู้เสนอให้ตัดหัวพระยามโนฯ เช่นเดียวกับที่คิดจะทำกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นรีพับลิก แล้วให้พระยาพหลฯ เป็นประธานาธิบดีต่อไป เพราะเห็นว่าราชวงศ์ไม่ร่วมมือ คิดเป็นศัตรูจะยึดอำนาจกลับคืน และคิดฆ่าคณะก่อการ แต่คณะกรรมการส่วนมากเห็นว่าเมื่อยึดอำนาจกลับมาได้แล้ว ก็ไม่คิดจองเวรพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า คำบอกเล่าของ จิตตะเสน ปัญจะ ซึ่งนำมาเปิดเผยเมื่อ พ.ศ.2542 หลังเหตุการณ์ผ่านไปถึง 66 ปีนี้มีความคลาดเคลื่อนจากหลักฐานที่ได้รับการยอมรับบางประการ
การเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ในหนังสือ “เศรษฐกิจและการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ” ของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์ บันทึกไว้ตรงกับบันทึกหลายฉบับว่า “คณะราษฎรรู้สึกตนว่าได้กล่าวล่วงเกินพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนาน 2475 ฉะนั้น จึงได้ขอพระราชทานขมาโทษเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 ครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2475 ก็ได้ทำพิธีขอพระราชทานขมาโทษอย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 49 หน้า 3108 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2475″
นอกจากนั้น เอกสารที่นำมาเผยแพร่โดยอ้างว่า เป็น “พระบรมราชโองการ” นั้นไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการหลายแหล่ง แม้แต่ชื่อของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็สะกดผิด
อนึ่ง ควรทราบเป็นอย่างยิ่งว่า นายจิตตะเสน ปัญจะ ผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง “คณะราษฎร” สายพลเรือน และการเปิดเผยข้อมูลนี้ล้วนเป็นผลเสียต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ อย่างรุนแรง จึงควร “ฟังหูไว้หู”
การเมืองที่หลั่งเลือด
การต่อสู้ระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับคณะราษฎรตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นั้น ฝ่ายคณะราษฎรพยายามประนีประนอมกับอำนาจเก่าอย่างถึงที่สุด เริ่มตั้งแต่การยอมให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายอำนาจเก่าก็ใช้ทุกวิธีการที่จะช่วงชิงอำนาจคืน ทั้งวิธีการทางรัฐสภา ทั้งการใช้กำลังทหาร รวมทั้งวิธีการ “ใต้ดิน” จึงนับได้ว่าเป็น “การเมืองที่หลั่งเลือด”
จนเมื่อหลวงพิบูลสงครามก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนาแล้วเปิดฉากกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งปิดท้ายด้วยการจัดตั้งศาลพิเศษ 2482 และการประหารชีวิต 18 ราย ส่งผลให้ความพยายามโค่นล้มคณะราษฎรของฝ่ายอำนาจเก่าที่เริ่มมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 รวมเวลาถึง 6 ปีเศษยุติลงอย่างเด็ดขาด ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรสามารถบริหารราชการได้อย่างราบรื่น
แม้ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันมาจนบัดนี้ว่า การประหารชีวิต 18 รายเป็นการปฏิบัติที่เกินเลยไปหรือไม่ก็ตาม
ตลอดเวลา 6 ปีนี้ มิตรภาพระหว่าง “นักปฏิวัติแถว 2 ปรีดี-แปลก-อดุล” ยังคงผนึกเหนียวแน่น การโยนความผิดของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปให้หลวงอดุลเดชจรัส กรณีประหารชีวิต 18 รายดังปรากฏหลักฐานใน “บันทึกจอมพล” ยังไม่ส่งผลต่อมิตรภาพ “แปลก-อดุล”
เนื่องจาก “บันทึกจอมพล” ของนายฉันทนาได้ปรากฏเผยแพร่ต่อสาธารณชนในภายหลังเมื่อ พ.ศ.2489
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


