

ที่ผ่านมาทุกท่านอาจคุ้นชินกับคำอธิบายว่าด้วยสถานการณ์ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งกำลังจะเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและแรงงานรุ่นใหม่จำนวนน้อยลง
ผมได้มีโอกาสอธิบายไปในบทความเมื่อเดือนที่แล้วว่า สถานการณ์ของกองทุนประกันสังคมไม่สามารถคำนวณผ่านฉากทัศน์ของการคิดแบบคณิตศาสตร์ประกันภัยอย่างเดียว เพราะการเป็นกองทุนหลักที่ดูแลสวัสดิการของประชาชน
ย่อมหมายความว่าการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ รวมถึงตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ และสังคมย่อมมีความซับซ้อนมากกว่าการใช้ไฟล์ Excel และกราฟไม่กี่เส้นในการอธิบาย
ในบทความนี้ผมจึงถือโอกาสอธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เราสามารถสร้างได้แก่ประกันสังคม เพื่อสร้างภาพให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากกว่าการปรับลดสิทธิประโยชน์ หรือการขยายอายุเกษียณต่างๆ
หลักการนี้ เราเรียกว่า “สามเพิ่ม” เพิ่มที่ว่านี้คือหลักการการสร้างความมั่นใจ ความโปร่งใส และการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกันตนเป็นตัวตั้งผ่านการพิจารณาเงื่อนไข การเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน รวมถึงเพิ่มฐานเงินเดือนสำหรับกลุ่มที่มีความพร้อมเพื่อนำสู่การคำนวณสิทธิประโยชน์ระยะยาวเพิ่มมากขึ้น
หากย้อนกลับไป สมการที่เราคุ้นชินคืออีกประมาณ 30 ปี หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร กราฟของประกันสังคมก็จะทิ้งต่ำลง
ซึ่งแน่นอนว่าสมการในลักษณะนี้ในโลกจริงคงไม่เกิดขึ้นเพราะย่อมมีการปรับเปลี่ยนตัวแปรต่างๆ อยู่ตลอดเวลาในช่วงก่อนจะถึงสถานการณ์นั้น
ผมมีโอกาสสนทนากับ คุณเอธภาวิน เจตน์จิราวัฒน์ ซึ่งได้ชักชวนให้ใช้ประสบการณ์ในการบริหารกองทุนด้านสวัสดิการในหลากหลายประเทศ เข้ามาเป็นอนุกรรมการด้านการลงทุน ในสัดส่วนผู้ประกันตน
สิ่งสำคัญที่คุณเอธภาวินได้ฉายให้เห็นน่าสนใจมากว่า แม้จะมีการปรับตัวสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการสัดส่วนผู้ประกันตนได้นำเสนอ ก็ไม่ได้ทำให้กองทุนมีอายุขัยน้อยลงแบบมีนัยสำคัญ คือประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น
ดังนั้น ตัวสิทธิประโยชน์จึงไม่ใช่ตัวร้ายหลักของเรื่องนี้ เป็น “เพิ่มที่หนึ่ง” เพราะมันจะกลายเป็นตัวทวีคูณสำคัญให้คนรู้สึกมีความเชื่อมั่นในประกันสังคมมากขึ้น
แต่ตัวเพิ่มที่สองนี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญ ปัจจุบันกำไรจากการลงทุนของประกันสังคมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ เพราะกรอบการลงทุนยังมุ่งไปอยู่ที่สินทรัพย์ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ
หลักการที่ฟังดูง่ายแต่ก็ยากเหมือนกันคือ การเพิ่ม “ผลตอบแทนการลงทุน” หากผลตอบแทนการลงทุนสามารถขยายสู่ร้อยละ 6 ต่อปีได้ ก็จะนำสู่การขยายอายุของกองทุนได้อย่างทบต้นทบดอก
เป็นเวลาหลายทศวรรษทีเดียว แม้จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ปัญหาสำคัญของการลงทุน เราจะพบว่าหากเพิ่มผลตอบแทนที่กำไรมากขึ้น เราก็จำเป็นที่ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ลงรายละเอียดมากขึ้น มีการตรวจสอบการลงทุนที่เข้มงวดมากขึ้น
การกำหนดแผนความเสี่ยงกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่โปร่งใสหรือไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ต้องลดสัดส่วนลงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกันตน
การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ปล่อยให้การลงทุนนำสู่ความสุ่มเสี่ยงแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมาย หรือมีประโยชน์อื่นใดแอบแฝงที่ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้ประกันตน
เงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ต้องมาคู่กัน คือการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารความเสี่ยงที่สามารถทำงานได้จริงๆ จึงนับเป็น “เพิ่มที่สอง”
เพิ่มที่สาม ที่จะเป็นตัวช่วย คือฐานเงินเดือนของผู้ประกันตน ที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนแล้ว ยังสามารถขยายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนในทางเดียวกัน เพราะมีสิทธิประโยชน์สองตัวที่ผูกติดกับฐานเงินเดือน
นั่นคือสิทธิประโยชน์ด้านการว่างงานและสิทธิประโยชน์ด้านบำนาญ
ปัจจุบันบำนาญที่ได้รับอย่างมากสำหรับผู้ประกันตนที่สมทบเป็นเวลา 35 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาท
แต่หากสามารถทำให้กลุ่มที่มีความพร้อมสามารถปรับฐานเงินเดือนของตนเองให้สอดรับกับรายได้ที่แท้จริง กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรง เพราะจะทำให้มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้นสูงสุดราวประมาณ 8-9 พันบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงสำคัญยังมีผู้ประกันตนจำนวนมาก กว่า 2 ล้านคนที่มีเงินเดือนระหว่าง 15,000-20,000 บาท ต่อเดือน ที่รายได้ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง การต้องส่งประกันสังคมเพิ่ม 200 บาทต่อเดือน เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก
การปรับฐานเงินเดือนจึงควรเริ่มบังคับใช้สำหรับกลุ่มที่มีรายได้สูงที่การปรับฐานส่วนนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขา แต่กลายมาเป็นผลประโยชน์ย้อนกลับไม่ว่าจะเป็นบำนาญหรือ การลดหย่อนภาษีไปพร้อมกัน
แนวทางสามเพิ่มนี้ จะเห็นได้ว่าไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน ความโปร่งใส รวมถึงหลักการว่าด้วย ความยั่งยืนของกองทุน
หากสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ผมเชื่อว่า จะสามารถนำสู่ฉากทัศน์ใหม่ๆ ของการเปลี่ยนแปลงสังคมและกองทุนประกันสังคมในอนาคตอันใกล้
และกลายเป็นจุดเริ่มจุดเปลี่ยนให้เห็นความเป็นไปได้ในการขยายและสร้างรัฐสวัสดิการในมิติอื่นๆ ต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


