

ศึกฟุตบอล ยูโร 2024 ที่ประเทศเยอรมนี ถือเป็นทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ “ทันสมัย” ที่สุด ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลายซึ่งนำมาใช้เพื่อให้คำตัดสินโปร่งใสยุติธรรมมากที่สุด
เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในยูโรหนนี้มีตั้งแต่ VAR หรือระบบวิดีโอช่วยตัดสินที่แฟนบอลน่าจะคุ้นเคยกันดีในยุคปัจจุบัน โดยติดตั้งกล้องวิดีโอ 10 ตัวทั่วสนาม ทุกสนาม เพื่อจับมุมมอง 29 จุดบนร่างกายของนักเตะแต่ละคน ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้งเทคโนโลยีจับล้ำหน้าแบบกึ่งอัตโนมัติ เทคโนโลยีโกลไลน์ที่ติดตั้งกล้อง 7 ตัวบริเวณประตู แล้วส่งสัญญาณไปยังนาฬิกาของผู้ตัดสินหากบอลข้ามเส้นเต็มใบ สามารถยืนยันผลได้ทันทีใน 1 วินาทีหลังเกิดเหตุการณ์
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ในลูกบอลของ อาดิดาส ลูกบอลประจำการแข่งขัน เพื่อตรวจจับการสัมผัสลูกในแต่ละจังหวะ เรียกว่า “เทคโนโลยีตรวจจับการสัมผัสบอล” (Connected Ball technology)
ใช้แนวคิดเดียวกับ สนิกโกมิเตอร์ (snickometer) ของกีฬาคริกเก็ต ที่ใช้ตรวจจับว่าลูกคริกเก็ตสัมผัสไม้หรือวัตถุอื่นก่อน
การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประกอบกัน ก็เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคำตัดสินแต่ละจังหวะรวดเร็วขึ้น ทำให้เกมไหลลื่นขึ้น รวมถึงแม่นยำมากขึ้น
สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ระบุหลังจบการแข่งขันรอบแรกว่า การตัดสินด้วย VAR ในยูโรหนนี้ใช้เวลาเฉลี่ยครั้งละ 51 วินาที เร็วกว่าการแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาลล่าสุด 5 วินาที
และเพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัดสินค้านสายตา ยูฟ่ายังให้แสดงข้อมูลจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้ผู้ชมทางบ้านได้เห็นผ่านการถ่ายทอดสด ว่าทุกคำตัดสินนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
ถึงกระนั้น ความถูกต้องแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้นก็ใช่ว่าจะถูกใจแฟนๆ หรือคนในแวดวงลูกหนังไปเสียหมด
โรเมลู ลูกากู กองหน้าทีมชาติเบลเยียม อาจจะเป็นคนที่โชคร้ายที่สุดในแง่มุมนี้ เพราะแค่เพียง 2 นัดแรก เขาก็โดน VAR ริบประตูไปถึง 3 ลูกแล้ว
2 ลูกมาจากจังหวะล้ำหน้า ส่วนอีกลูกมาจากจังหวะที่ โลอิส โอเพนด้า เพื่อนร่วมทีม ทำแฮนด์บอลก่อนเปิดบอลให้ลูกากูทำประตู โดยกรณีหลังใช้เทคโนโลยีสนิกโกมิเตอร์เข้ามาช่วยยืนยัน
2-3 ประตูของลูกากูที่ไม่เป็นประตูนั้น นักวิจารณ์หลายคนมองว่าเป็นความโชคร้าย โดยเฉพาะจังหวะที่มือสัมผัสบอลของโอเพนด้าที่อดีตนักบอลซึ่งทำหน้าที่นักวิจารณ์บางคน อาทิ เคนนี่ คันนิงแฮม หรือ เควิน ดอยล์ มองว่าเล็กน้อยมากเสียจนไม่น่ามีผลสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบอะไรเลย
ต่อมาในคู่ระหว่างฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์ในรอบแรกเช่นกัน ประตูที่ ชาวี่ ซิมนส์ ซ้ำเข้าไปในนาทีที่ 69 ก็ถูก VAR ริบ หลังจากเชิ้ตดำใช้เวลาอยู่นานในการตัดสินว่า เดนเซล ดุมฟรีส์ แข้งดัตช์ที่ยืนอยู่ใกล้กับปากประตูแต่ไม่ได้เล่นบอลนั้น มีส่วนในการรบกวนผู้รักษาประตู ไมก์ ไมญอง เพราะไปขวางทางพุ่งเข้าเซฟลูก
แม้ว่าในทางปฏิบัติ ต่อให้ดุมฟรีส์ไม่ยืนอยู่ตรงนั้น ไมญองก็ไม่น่าพุ่งไปเซฟได้ทันก็ตาม
อีกกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกิดขึ้นในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งเจ้าภาพ เยอรมนี เอาชนะเดนมาร์ก 2-0
ในระยะเวลา 5 นาที สถานการณ์ของเกมดังกล่าวพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อ VAR ริบประตูของ โยอาคิม อันเดอร์เซ่น ในนาที 48 เนื่องจาก โธมัส เดลานีย์ แข้งเดนส์อีกรายยืนอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าโดยเหลื่อมกับกองหลังอินทรีเหล็กตัวสุดท้ายเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น!
แทนที่จะได้ประตูขึ้นนำ หลังจากนั้นอีก 5 นาที ทีมโคนมตกเป็นฝ่ายตาม 0-1 เนื่องจาก VAR ตัดสินว่าอันเดอร์เซ่นทำแฮนด์บอลในเขตโทษ แม้ว่าตอนแรกผู้ตัดสิน ไมเคิล โอลิเวอร์ จะไม่ได้เป่าให้เป็นจังหวะฟาวล์ก็ตาม
ทั้ง 2 จังหวะนี้ไม่ใช่แค่ แคสเปอร์ ยุลมันด์ กุนซือเดนมาร์ก ที่โอดครวญทั้งเรื่องการล้ำหน้าหน่วยเป็นเซนติเมตร หรือจังหวะที่บอลพุ่งโดนแขนอันเดอร์เซ่นแบบที่ตัวนักเตะไม่น่ามีเจตนายกแขนขึ้นขวาง แต่บรรดาอดีตแข้งดังที่ผันตัวเป็นนักวิจารณ์ อาทิ อลัน เชียร์เรอร์ และ แกรี่ เนวิลล์ ต่างก็บ่นเช่นกันว่าบางเรื่องก็หยุมหยิมเกินไป
เรื่องล้ำหน้านั้น เสียงสะท้อนจากอีกฝั่งมองว่ากฎต้องเป็นกฎ ในเมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย หากเป็นการทำผิดกฎ ก็ต้องยึดตามหลักการที่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้น ทีมที่เสียประโยชน์ก็ต้องบ่นได้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่เรื่องแฮนด์บอลถือว่าก้ำกึ่ง การตีความตามกฎยังคงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ได้ถูกต้องตรงใจทุกคนไปร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่อย่างน้อย ภาพรวมของคำตัดสินในยูโรหนนี้ อย่างน้อยก็มีหลักฐานจากเทคโนโลยีนำสมัยมายืนยันเรื่องความ “ถูกต้อง” ได้เพียงพอ
แม้จะไม่ “ถูกใจ” ไปเสียหมดก็ตาม! •
Technical Time-Out | SearchSri
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022