เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

อ่าน จิตร ภูมิศักดิ์ วรรณคดี โองการแช่งน้ำ อ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ

17.07.2024

บทความพิเศษ

 

อ่าน จิตร ภูมิศักดิ์

วรรณคดี โองการแช่งน้ำ

อ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

มีหนังสืออันเกี่ยวกับ “โองการแช่งน้ำ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ขึ้น 2 ครั้งต่างกรรมต่างวาระ

1 โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2524 พร้อมกับวคำประกาศบนปก “ผลงานค้นพบล่าสุด”

1 โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เป็นการตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันภายใต้โครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์ ชุดประวัติศาสตร์

ความน่าสนใจอยู่ที่คนที่มีบทบาท “ร่วม” กับสำนักพิมพ์

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2524 สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระบุว่า เมือง บ่อยาง ที่เพียรเฝ้าติดตามชีวิตและผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาอย่างเอาใจใส่ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา

ก็นับเป็นผู้ได้รับเกียรติในผลงานนี้ด้วย

ขณะที่การตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อเดือนเมษายน 2547 มี วิชัย นภารัศมี ทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการ”

ความสมบูรณ์ของหนังสือจึงอยู่ที่ในชุด “ฟ้าเดียวกัน”

จิตร ภูมิศักดิ์

โองการแช่งน้ำ

คํานำของ วิชัย นภารัศมี ในฐานะบรรณาธิการได้ให้ภูมิหลังและรายละเอียดของแต่ละบทความที่มีอยู่ในหนังสือ “โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

อย่างน่าสนใจ น่าติดตาม

จิตรสนใจเรื่องโองการแช่งน้ำตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และในปี 2493 ช่วงเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเคยเขียนบทความศัพท์สันนิษฐานเรื่อง “สรวง-สวง” ลงในนิตยสาร “ทรรศนะ”

สรวง-สวงนี้เป็นคำที่นำมาจากร่ายตอนหนึ่งของโองการแช่งน้ำที่ขึ้นต้นว่า “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว”

หลังจากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2494 ก็ได้ไปคัดลอกโองการแช่งน้ำพิพัฒนสัตยาโคลงห้า (มณฑกคติ) จากสมุดไทยดำของหอสมุดแห่งชาติและหอพระสมุดวชิรญาณ

และจัดระเบียบโคลงและร่ายตามลักษณะร่ายดั้นโบราณและโคลงมณฑกมติ หนารวม 11 หน้า

นับตั้งแต่เริ่มเขียนศัพท์สันนิษฐาน สรวง-สวง เพื่อที่จะอธิบายศัพท์คำว่า “สรวง” ดูเหมือนจิตรมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะอธิบายคำอธิบายศัพท์ในโองการแช่งน้ำทั้งหมด

เท่าที่ วิชัย นภารัศมี ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง

 

กระบวน ทำงาน

เขียนไป พัฒนาไป

จิตรได้เขียนต้นฉบับเกี่ยวกับ “โองการแช่งน้ำ” ยกเว้นเรื่อง “สรวง-สวง” อันถือว่าเป็นมูลเชื้อแห่งความสนใจแล้ว

อย่างน้อยก็มี 4 ครั้ง 4 ฉบับด้วยกัน

ฉบับแรก คือ “วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยาตอนที่ 1 ชนิดของคำประพันธ์”

เขียนไว้ 9 หน้าลายมือเขียน

ฉบับที่สอง “วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา” 31 หน้าลายมือเขียน

ฉบับที่สาม คือ ฉบับที่ลงในหนังสือ “นิติศาสตร์ ฉบับธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พฤศจิกายน 2500” โดยใช้นามปากกา ศิลป์ พิทักษ์ชน ครั้งนี้จิตรใช้กรอบความคิดทางการเมืองมาตีความ

ฉบับที่สี่ คือ หนังสือ “โองการแช่งน้ำ” ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดวงกมลและต่อเนื่องมายังสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อันเป็นการเขียนเมื่อปี พ.ศ.2505

วิชัย นภารัศมี ระบุว่า

ด้วยสาเหตุที่เขียนต่างยุคต่างสมัยกัน คือศึกษาไป เขียนไป ค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจ คือได้อ่าน ได้ค้นคว้า ได้คิด ได้เปรียบเทียบ แล้วนำมารวบรวมมาวิเคราะห์มาสะสาง มาวิพากษ์ มาสรุป พัฒนาเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเขียนออกมา

หากอ่าน “อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2566

ก็จะมองเห็นความสัมพันธ์ ต่อเนื่องและยึดโยงกับ จิตร ภูมิศักดิ์

 

อำนาจ ของภาษา

โองการแช่งน้ำ

ไม่ว่าจะเป็นผลสะเทือนในบรรยากาศแห่งความคึกคักในสถานการณ์หลังเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นผลสะเทือนในบรรยากาศแห่งความคึกคักในสถานการณ์หลังเดือนตุลาคม 2519

สุจิตต์ วงษ์เทศ มีบทสรุปกับ “โองการแช่งน้ำ” อย่างไร

วรรณกรรมภาษาไทยชุดต้นๆ ของรัฐอโยธยาศรีรามเทพที่แสดงแนวคิดทางการเมืองแบบรวบอำนาจรวมศูนย์โดยอ้างตามแนวทางศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทจากลังกาเกี่ยวกับกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ว่า

เป็นสมมุติราช และได้รับยกย่องเป็น (พระ) เจ้าแผ่นดิน หมายถึงเจ้าของที่ดินทั้งมวล คือ โองการแช่งน้ำ

เนื้อหาสาระมีโดยสรุปว่า หลังไฟบรรลัยกัลป์เผาล้างโลก ครั้นโลกถูกสร้างใหม่ ด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติ จากนั้น คนทั้งหลายเลือกผู้มีบุญคนหนึ่งขึ้นยกย่องเป็นราชา

เรียกสมมุติราชเจ้าแผ่นดิน

ซึ่งมีโคลงพรรณนา ดังนี้ “เลือกผู้เป็น ยิ่งยศ / เป็นราชา อะคร้าว / เรียกนามสมมุติ -ราช / เจ้าจึ่ง ตั้งท้าวเจ้า แผ่นดิน”

แนวคิดใหม่ทางการเมืองเรื่องที่มาของกษัตริย์เป็นสมมุติราช เปิดช่องให้สามัญชนผู้มั่งคั่งจากการค้าได้รับยกย่องว่าสั่งสมบุญที่ทำไว้มากจากชาติที่แล้ว คือ “ผู้มีบุญ” ได้เป็นกษัตริย์

ซึ่งเท่ากับกล่อมเกลาคนทั้งหลายมุ่งทำบุญในชาตินี้เพื่อเสวยสุขตามปรารถนาในชาติหน้าแล้วยอมจำนนราบคาบต่อ “ผู้มีบุญ”

การเมืองเรื่องกษัตริย์มาจากสมมุติราชไม่ขัดแย้งความเชื่อเดิมในลัทธิเทวราชของรัฐละโว้ (ซึ่งรับลัทธิเทวราชจากอาณาจักรกัมพูชา) เพราะกษัตริย์สมมุติราชมีพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นเทวราชนามว่าพระนารายณ์ครองเมื่องอโยธยา (เป็นความทรงจำอยู่ในพงศาวดารเหนือ)

จากนั้น สืบวงศ์ถึงรามาธิบดีที่ 1 กรุงศรีอยุธยา (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา)

 

พัฒนาการ เนื้อหา

พัฒนาการ รูปแบบ

โองการแช่งน้ำเป็นวรรณกรรมภาษาไทย แต่งขึ้นเพื่อใช้โดยเฉพาะในพิธีถือน้ำ “พระพัทธ์” ซึ่งมีต้นตอจากการดื่มน้ำสาบานอันเป็นความเชื่อทางศาสนาผีแล้วถูกชนชั้นนำปรับปรุงใช้งานของราชสำนัก

โดยเอาสิ่งละอันพันละน้อยในศาสนาจากอินเดียไปคลุมความเชื่อในศาสนาผีให้ดูดี

พิธีถือน้ำพระพัทธ์ต้องมีสักขีพยาน เนื่องจากต้นแบบคือดื่มน้ำสาบานมีสักขีพยานเป็นผีจึงต้องเชิญผีแล้วเพิ่มเทวดาเข้ามาด้วย การเชิญผีมีเป็นปกติโดยหมอขวัญในพิธีทำขวัญทางศาสนาผีของชุมชนดั้งเดิม

ดังนั้น เพื่อความน่าเชื่อถืออย่างยิ่งคนชั้นนำต้องยกพิธีบางอย่างของพิธีทำขวัญไปใช้งานให้ประสมกลมกลืนในพิธีถือน้ำพระพัทธ์ (ทำขวัญเป็นพิธีกรรมในศาสนาดีที่เป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตคนดั้งเดิมตั้งแต่เกิดถึงตายในชุมชนอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้วและยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบัน)

ด้วยเหตุนี้ หลังรับวัฒนธรรมอินเดียคนชั้นนำพื้นเมืองและผู้นำทางศาสนาที่รับมาใหม่ไม่อาจฏิเสธได้ จึงต้องยอมรับทั้งรูปแบบและเนื้อหาของพิธีทำขวัญ

ให้อยู่ในพิธีสำคัญของราชสำนักในการถือน้ำพระพัทธ์

 

เส้นทาง จิตร ภูมิศักดิ์

เส้นทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนปราจีนบุรีเหมือนกัน แต่ “เส้นทาง” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีทั้งจุดร่วมและความต่าง

ร่วมเพราะเป็นคนรักหนังสือ รักวรรณกรรม

แม้จุดเริ่มต้นคนหนึ่งอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งอยู่ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

กระนั้น จุดร่วมก็คือ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี

ล้วนเคยจับหนังสือชื่อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดาร ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็นทวาทศมาส ไม่ว่าจะเป็นโองการแช่งน้ำ

ปักหลักอยู่กับสุโขทัย ปักหลักอยู่กับอยุธยา

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่