

“พระครูสมุทรวิริยาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อปึก บุญญวิริโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ทรงพุทธาวิทยาคมที่ชาวอัมพวา และชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงเลื่อมใสศรัทธา
สร้างวัตถุมงคลและเครื่อรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยม เชื่อมั่น นำไปคล้องคอติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล
ที่โดดเด่น คือ “พระสมเด็จกล้วย”
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2516 โดยพระเนื้อผงทั้งหมดนั้น ไม่ได้สร้างเอง แต่เป็นพระที่มีคนสร้างแล้วมาถวายแทบทั้งสิ้น ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จ เนื้อผงผสมเนื้อกล้วย จึงเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้
ด้านหน้า เป็นรูปพระสมเด็จฐาน 7 ชั้น หูบายศรี ครอบด้วยซุ้มระฆัง มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย
ด้านหลังเรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ
นอกจากนี้ ยังมี “พระเล็บมือ” ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

พระสมเด็จกล้วย หลวงพ่อปึก
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2516 เช่นกัน ลักษณะเป็นพระเนื้อผงรูปเล็บมือทรงสูง ทารักในบางองค์
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐาน 4 ชั้น องค์พระคล้ายพระสมเด็จ มีเส้นขอบล้อไปกับพิมพ์พระ
ด้านหลังเรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ
ทุกวันนี้ กลายเป็นอีกวัตถุมงคลที่หายาก

พระเล็บมือ หลวงพ่อปึก
อัตโนประวัติ เป็นชาวสวนหลวงมาแต่กำเนิด ท่านเกิดในปี พ.ศ.2448 บิดา-มารดาชื่อ นายอิ่มและนางแจ่ม โพธิ์อิ่ม โดยนายอิ่มบวชและต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนหลวงด้วย
ในสมัยเด็กมีความฉลาดเฉลียวเกินกว่าเด็กทั่วไป และบวชเป็นเณร
จนเมื่อปี พ.ศ.2468 เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดสวนหลวง ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ได้รับฉายาว่า “ปุญญวิริโย” โดยมีเจ้าอธิการคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการฮ้อ วัดราษฎร์บูรณะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการอิ่ม วัดสวนหลวง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่จำพรรษาที่วัดสวนหลวง แต่เดินทางไปเรียนวิชาคาถาอาคมและวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นศิษย์สายตรงร่ำเรียนวิชาจากหลวงพ่อคงของจริง
โดยจะพายเรือข้ามฟากไปเรียนกับหลวงพ่อคงอยู่เสมอ บางครั้งก็ไปค้างแรมที่วัดบางกะพ้อม จนสำเร็จวิชาหลายอย่าง โดยเป็นศิษย์รุ่นเดียวกับหลวงพ่อสาย วัดจันทร์เจริญสุข และเป็นศิษย์พี่ของหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี
ต่อมาได้ขึ้นเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง เพื่อช่วยพระอธิการอิ่ม ดูแลวัด จนถึงปี พ.ศ.2481 พระอธิการอิ่ม มรณภาพลง จึงได้รับช่วงดูแลวัดสวนหลวงเรื่อยมา จนได้รับการการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ.2486
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติไม่ได้มีการจดบันทึกไว้อย่างละเอียด ด้วยเหตุที่สมัยนั้นวัดสวนหลวงเป็นวัดเล็ก

หลวงพ่อปึก บุญญวิริโย
ต่อมาเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยนั้น เพราะเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้รักสันโดษ อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ทรงอภิญญามีจิตใจเมตตาสูง เป็นที่นับถือของชาวบ้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเรือตังเก มักนำเรือมาให้เจิมอยู่เสมอๆ
นอกจากนี้ ยังเก่งด้านยาสมุนไพร รับรักษาญาติโยมที่เดือดร้อนได้อย่างดียิ่งจนชาวบ้านเรียกกันว่าพระหมอวัดสวนหลวง
เป็นวัดราษฎร์ ที่ตั้งของวัดอยู่ที่บ้านแหลมสวนหลวง หมู่ที่ 1 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม สันนิษฐานว่าเชื้อพระวงศ์เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา
จากหลักฐานของกองพุทธศาสนาบันทึกไว้ว่า ได้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2245 ร่วมอายุของวัดนี้แล้ว 300 ปีเศษ จึงทำให้ถาวรวัตถุในวัดหลายๆ ชิ้นที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความเก่าแก่ของวัดแห่งนี้
ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อจักรนารายณ์ พระพุทธรูปโบราณปูนปั้นศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐ์สถานอยู่ในพระอุโบสถ เจดีย์โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม และพระพุทธรูปโบราณอีกจำนวนหนึ่ง
ปกครองอย่างร่มเย็น จนมรณภาพลงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2516 นับรวมสิริอายุได้ 68 ปี พรรษา 47
วัดสวนหลวงได้เก็บรักษาสรีระไว้จนถึงปี พ.ศ.2525 จึงได้ขอพระราชทานเพลิงในวันที่ 7 มีนาคม 2525 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



