
ว่าด้วยความเข้าใจผิด เกี่ยวกับ ‘อายุเกษียณ’ ในสังคมไทย และข้อเสนอทางออก

เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความกังวลเรื่องกำลังแรงงาน และการจัดสวัสดิการก็ตามมาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งโลก ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย
และทางออกที่เกิดขึ้นส่วนมากก็คือการขยายอายุการเกษียณเพื่อรับเงินบำนาญ และส่วนมากแล้วก็จะเป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านในหลายพื้นที่ รุนแรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง
สำหรับประเทศไทยข้อเสนอเรื่องการขยายอายุการเกษียณถูกพูดถึงอีกครั้งในประเด็นความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมที่การจ่ายเงินบำนาญจะเป็นภาระต่อไปในอนาคต ข้อเสนอเรื่องการขยายอายุการเกษียณจึงถูกพูดถึงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอายุเกษียณในเมืองไทย ที่มีความซ้อนทับกันสามมิติ คือ การเกษียณอายุราชการ อายุเพื่อรับเงินบำนาญประกันสังคม และการหยุดทำงานจริง
ประการแรก การเกษียณ ในบริบทสังคมไทยที่เป็นคำอธิบายหลักก็คือการเกษียณอายุราชการ ซึ่งคือที่อายุ 60 ปีมาอย่างยาวนาน
การเกษียณอายุราชการถูกวางด้วยเงื่อนไขบำนาญที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
การพัฒนาระบบสวัสดิการราชการนี้ ในทางการเมืองคือการโต้แย้ง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ถูกเสนอในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม รอบสอง หรือข้อเสนอรัฐสวัสดิการของปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สวัสดิการราชการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการรักษาพยาบาล และเงินบำนาญ จนงบประมาณและคุณภาพของสวัสดิการขยายตัวต่อเนื่องเป็นหลายเท่าของสวัสดิการคนธรรมดา
ถ้าพูดในมิตินี้ข้าราชการส่วนมากก็อยากเกษียณ เพราะแม้เป็นข้าราชการระดับกลาง ก็มีเงินบำนาญหลายเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ
และในขณะเดียวกันการเกษียณอายุก็ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาบริหารงานในระดับสูงแทน
หากระบบราชการไทยเกษียณอายุที่ 65-70 เราก็จะพอนึกภาพออกที่ระบบราชการไทยจะอุ้ยอ้ายมากขึ้น และงบประมาณก็ไม่ได้ประหยัดลงเท่าไรนัก
ประการถัดมา คือประเด็นหลักเรื่องการเกษียณอายุของประกันสังคม ซึ่งเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มาก เพราะประกันสังคมไม่ได้มีการกำหนดอายุการเกษียณ แต่เป็นอายุขั้นต่ำที่มีสิทธิ์รับบำนาญ ซึ่งก็คือผู้ที่สมทบ 15 ปีขึ้นไป (180 เดือน) และอายุ 55 ปีขึ้นไป จึงมีสิทธิ์รับบำนาญ
ดังนั้น ข้อเท็จจริงการเกษียณอายุจึงไม่ได้มีสภาพบังคับ สามารถทำงานได้เป็น 100 ปีก็ได้
สำหรับประกันสังคมแล้ว ผู้ใช้แรงงานในภาคเอกชน มักจะสูญเสียงานไม่ว่าถูกเลิกจ้าง หรือการสมัครใจลาออก ในวัย 50 กว่าปี การได้รับบำนาญตอนอายุ 55 ปี จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการประคองชีพหรือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการทำธุรกิจส่วนตัว
ขณะเดียวกันใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้ระบุไว้ว่าการสิ้นสุดการจ้างไม่ว่าด้วยวิธีใดในวัย 60 ปี ถือว่าเป็นการเกษียณอายุ ต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งอัตราสูงสุดอยู่ที่ประมาณค่าจ้าง 11 เดือน
ดังนั้น การเกษียณอายุของสิทธิ์ “ประกันสังคม” จึงไม่ได้มีสภาพบังคับ แต่เป็นการสอดรับกับสภาพการทำงานของแต่ละคน โดยที่ผู้ประกันตนที่ออกจากการทำงาน ก็สามารถส่งสมทบตามมาตรา 39 ต่อไปได้
แต่ก็อาจนำสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาเกี่ยวกับฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณบำนาญ โดยผมจะเขียนถึงในส่วนข้อเสนอทางออกต่อไป
ประการสุดท้าย คือการเกษียณในชีวิตจริง ซึ่งคนไทยร้อยละ 70 ไม่สามารถเกษียณได้ ต้องทำงานไปเรื่อยๆ จนเสียชีวิต ด้วยเงินเก็บ ค่าครองชีพ ระบบบำนาญ นอกเหนือจากระบบประกันสังคม แล้วเบี้ยผู้สูงอายุเริ่มต้นเพียง 600 บาทต่อเดือน ก็ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ
ในกรณีนี้หากมีการ “ขยายอายุเกษียณ” สำหรับคนทั่วไปและนำสู่การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ขยับไปเริ่มที่อายุ 65 ต้องเป็นหายนะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย
ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากเสนอในสามมิติคืออะไร ผมเสนอในทางเลือกของสามกรณีที่ต้องจัดวางข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต่างกัน
ดังนี้
1. สำหรับข้าราชการ ผมขอเสนอให้ “ลดอายุเกษียณ” หรือทางเลือกการเลือกรับเงินบำนาญไวขึ้น หรือที่เราคุ้นเคยกับระบบ Early Retire นอกจากนี้ ในขณะเดียวกันที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพัฒนาขึ้นอย่างมาก และมีการดูแลในระดับปฐมภูมิที่ดีขึ้น หากจูงใจให้ข้าราชการที่เลือกเกษียณก่อนเวลา ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อแลกจูงใจกับระบบบำนาญที่สูงขึ้น ย่อมทำให้การจัดระบบการเกษียณและบำนาญดีขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
2. สำหรับประกันสังคม ผมขอเสนอให้คงสิทธิ์การเกษียณที่อายุ 55 ไว้ ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไป
แต่ขณะเดียวกันก็จูงใจ การปรับเพิ่มสูตรคำนวณบำนาญสำหรับผู้ที่เกษียณในอายุหลัง 60 หรือ 65 นอกจากบำนาญส่วนเพิ่มปีละ 1.5% แล้ว ต้องมีส่วนจูงใจเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สมัครใจสมทบในมาตรา 39 หลังถูกเลิกจ้างจะมีปัญหาเพราะฐานเงินเดือนสุดท้าย 5 ปีที่ใช้คำนวณ ตกไปอยู่ที่ 4,800 บาทต่อเดือนเท่านั้น และอาจทำให้เงินบำนาญหายไปกว่า 50% จากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท จึงเป็นเรื่องตลกเพราะระบบไม่ได้ออกแบบให้คนสมทบต่อ แต่ให้คนหยุดสมทบ
ดังนั้น ทางออกคือ การเปลี่ยนสูตรคำนวณบำนาญเป็นเฉลี่ยตลอดอายุการสมทบ ควบคู่กับการปรับฐานคำนวณบำนาญมาตรา 39 ให้เหมาะสมก็จะเป็นทางออก
3. สำหรับเบี้ยผู้สูงอายุที่เริ่มต้นที่อายุ 60 ปีนั้น ยังจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพราะหมายถึงคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสวัสดิการแบบข้าราชการ และไม่เข้าเงื่อนไขประกันสังคม อันมากกว่า 50% ของกำลังแรงงาน อยู่ภายใต้ระบบบำนาญนี้ การจัดวางสวัสดิการที่เป็นหลังพิงที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท ตามค่าครองชีพปัจจุบัน
ทั้งหมดคือทางออกเบื้องต้น ต่อบำนาญและอายุเกษียณ ที่ผู้มีอำนาจในสังคมมักจะพูดถึงสภาพปัญหาเหล่านี้เหมือนเป็นปัญหาของบุคคลที่สาม แต่อย่างไรสิ่งที่เราต้องเน้นย้ำ พวกเราทุกคนในที่นี้มีโอกาสที่จะต้องแก่ และมีโอกาสสูงในประเทศนี้ที่เราจะแก่และจนไปพร้อมกัน
การเสนอทางออกหลักประกันยามเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจำเป็นต้องมีฉันทามติร่วมกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022