

เมื่อดูจากกระแสการเมืองทั่วโลก รวมถึงยุโรปที่ฝ่ายขวากำลังมาแรงสุดสุดในนาทีนี้ คงทำให้หลายคนประหลาดใจที่พรรคเนชั่นแนลแรลลี (อาร์เอ็น) ฝ่ายขวาจัดของนางมารีน เลอเปน และนายจอร์แดน บาร์เดลลา เจอกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสรอบ 2 ไปแบบผิดความคาดหมาย และได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่ากลุ่มแนวร่วมสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และแนวร่วม New Popular Front ฝ่ายซ้ายจัดที่พลิกกลับมาชนะการเลือกตั้งฝรั่งเศส
ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมฝ่ายขวาจัดจึงแพ้การเลือกตั้งรอบสอง ทั้งๆ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในรอบแรกมาไม่นาน
นางเลอเปนและพรรคอาร์เอ็นเผชิญกับความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งมาหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีให้แก่นายมาครงในปี 2022 แต่อาร์เอ็นก็สามารถกลับมาแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าที่เคยเป็น
ความร้อนแรงของอาร์เอ็นยิ่งมากขึ้นจนแทบหยุดไม่อยู่หลังสามารถเอาชนะกลุ่มแนวร่วมฝ่ายกลางของมาครงในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน จนเป็นเหตุให้มาครงประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า
ส่วนนางเลอเปนเองก็ปรับภาพลักษณ์ของพรรคให้ดูมีความสุดโต่งน้อยลงเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวฝรั่งเศสให้หันมาสนับสนุนฝ่ายขวา และเน้นหนักไปที่ความโกรธของชาวฝรั่งเศสในเรื่องปัญหาค่าครองชีพและผู้อพยพ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวฝรั่งเศสมาสักระยะแล้ว
แน่นอนว่าการปรับนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพให้รัดกุมยิ่งขึ้นก็โดนใจชาวฝรั่งเศสอยู่ไม่น้อย
โพลสำรวจหลายสำนักต่างคาดการณ์มาตลอดว่าฝ่ายขวาจะชนะการเลือกตั้งในฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม พรรคอาร์เอ็นก็ยังคงเผชิญกับความพ่ายแพ้อยู่ดี สาเหตุใหญ่มาจากการผนึกกำลังระหว่างกลุ่มพรรคแนวร่วมฝ่ายกลางและฝ่ายซ้ายที่ตกลงพร้อมใจกันถอนผู้สมัครกว่า 200 คนในการเลือกตั้งรอบ 2 เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งคะแนนกันเองในการงัดข้อกับพรรคอาร์เอ็น
และเมื่อดูจากผลการเลือกตั้งแล้วต้องยอมรับว่าแท็กติกนี้ได้ผล ทำให้นายบาร์เดลลาที่พลาดไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนใหม่ในวัยเพียง 28 ปี กล่าวโจมตีว่านี่เป็นแนวร่วมที่น่าอับอาย
นายไบรซ์ แทนตูเรียร์ นักรัฐศาสตร์ของสำนักจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็น IPSOS ชี้ว่า ผู้สมัครบางคนของพรรคอาร์เอ็นออกมาแสดงแนวคิดต่อต้านชาวต่างชาติ ต่อต้านชาวยิว และต่อต้านคนรักเพศเดียวกันในช่วงก่อนการเลือกตั้งรอบ 2 ทำให้เกิดคำถามว่าอาร์เอ็นได้ทิ้งแนวทางขวาสุดโต่งไปแล้วจริงหรือ
ทำให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการให้พรรคขวาจัดกลับขึ้นมาปกครองฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
นายฟลอร็องต์ เดอ เคอร์โซซง ผู้สมัครของพรรคอาร์เอ็นในแคว้นเบรอตาญมองด้วยว่าชาวฝรั่งเศสอาจมองว่าพรรคอาร์เอ็นมีความหยิ่ง จองหอง ที่คิดว่าจะสามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาแบบเบ็ดเสร็จ
ผู้นำประเทศหลายคนจากทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐต่างโล่งใจที่พรรคอาร์เอ็นแพ้การเลือกตั้ง เพราะถือเป็นการหยุดความร้อนแรงของฝ่ายขวาในเวลานี้ รวมถึงคลายความกังวลฝรั่งเศสจะมีท่าทีอ่อนลงกับรัสเซีย และลดความช่วยเหลือทางทหารที่มอบให้แก่ยูเครน เนื่องจากในอดีตเลอเปนเคยออกมาชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย รวมถึงพรรคอาร์เอ็นเคยมีแนวคิดที่จะออกจากอียูแม้ต่อมาจะยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี พรรคอาร์เอ็นสามารถคว้าเก้าอี้ในสภาไปได้มากขึ้นกว่าเดิมมากเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับให้คำมั่นว่าพวกเขาจะสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ
แต่การที่ไม่มีพรรคใดสามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาก็จะทำให้บทบาทของฝรั่งเศสในอียูลดลง และทำให้ฝรั่งเศสเจอกับปัญหาในการผ่านร่างกฎหมายในสภา
น่าติดตามอย่างมากว่า อนาคตทิศทางข้างหน้าของฝรั่งเศสจะเป็นอย่างไรเมื่อเจอกับสภาแขวน และประธานาธิบดีสูญเสียเสียงข้างมากในสภา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022