

ย้อนไปเมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน “อานนท์ สุวรรณเครือ” ถือเป็นนักแสดงชายคนหนึ่งที่มีตัวตนโดดเด่นบนหน้าจอโทรทัศน์
ทั้งในแง่ฝีมือการแสดง (จากการรับบทเป็นตัวละครสมทบ) และในแง่รูปลักษณ์ (ใบหน้าคมคาย ผิวเข้ม และไว้หนวดเวลาสวมบทบาทในละครหลายๆ เรื่อง)
ล่าสุด อานนท์เพิ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในวัย 60 ปลายๆ
หลายคนมักระลึกถึงนักแสดงรายนี้ ผ่านการรับบทเป็น “พ่อเพิ่ม” ในละคร “สี่แผ่นดิน” (2534) “พระมหาอุปราชา” ในละคร “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2530) หรือการปรากฏตัวหนท้ายๆ ในสื่อบันเทิงของเขากับบท “ออกญาพิชัยรณฤทธิ์” จากภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2550-2558)
กระนั้นก็ดี เส้นทางชีวิตของอานนท์ดูจะมีภูมิหลังที่ซับซ้อน รุ่มรวย และผ่าน “การต่อสู้” มามากกว่านั้น ดังที่มิตรสหายคนหนึ่งของเขา คือ “ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์” โพสต์เล่าในเฟซบุ๊กว่า
“(อานนท์ หรือ โอ๋) เป็นศิลปินที่ผันตัวเองเข้าสู่วงการสิทธิมนุษยชน เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ด้วยหวังจะใช้ศิลปะการละคอน เป็นสื่อถึงผู้คน สังคม ให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงไม่เป็นธรรมที่รัฐใช้กดขี่ข่มเหงผู้เห็นต่าง จับเข้าคุกเป็นภัยสังคม เป็นคอมมิวนิสต์”
จนนำมาสู่การก่อตั้งคณะละคร “มะขามป้อม” ซึ่งคนรุ่นหลังๆ อาจไม่ทราบว่า นักแสดงละครโทรทัศน์ชื่อดังเช่นอานนท์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะละครนี้
ขณะที่เพื่อนอีกคนของอานนท์ก็รำลึกว่า ในฐานะอดีตนักศึกษาภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักแสดงผู้นี้และมิตรสหายเคยร่วมกันก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม “วิทย์ใหม่” เพื่อเผยแพร่แนวคิดวิทยาศาสตร์สังคมแก่คนรุ่นใหม่ ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
นี่คือ “ความรู้ใหม่” ที่ผมเพิ่งทราบภายหลังเขาเสียชีวิต ว่า “อานนท์ สุวรรณเครือ” คือ “อดีตนักกิจกรรม” ที่ผันตนเองมาเป็นนักแสดงฝีมือดีในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย และโลดแล่นอยู่ในมหรสพหลายเรื่องที่มักถูกมองว่ามีเนื้อหาแนว “อนุรักษนิยม/ชาตินิยม”

“อานนท์ สุวรรณเครือ” ในบท “กรมหลวงจักรเจษฎา” จากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สงครามเก้าทัพ”
โดยส่วนตัว (จากความทรงจำในวัยเด็ก) ผมมองว่าอานนท์เป็นผู้ชายไทยใบหน้าหล่อเหลาคมเข้ม (ที่เริ่มมีจำนวนลดน้อยลงนับจากครึ่งหลังของทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา) ในระดับใกล้เคียงกับ “ธานินทร์ ทัพมงคล” และ “สหัสชัย ชุมรุม”
ทว่า ในความคมเข้มตรงรูปลักษณ์ภายนอก ก็ซ่อนแฝงไว้ด้วยบุคลิก-น้ำเสียง-กริยาที่แลดูนุ่มนวล สุภาพ และอ่อนโยน
ส่วนในด้านบทบาทการแสดง ผมกลับจดจำอานนท์ได้จากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สงครามเก้าทัพ” (2531) ผลงานการกำกับการแสดงและเขียนบทโดย “วรยุทธ พิชัยศรทัต”
จุดเด่นประการหนึ่งในละครเรื่อง “สงครามเก้าทัพ” ก็คือการนำเอา “เจ้านาย” ในยุคแรกเริ่มสถาปนาราชวงศ์จักรี มาแต่งแต้มสร้างสรรค์เป็นตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะและสถานภาพลดหลั่นกันไป
ละครอิงประวัติศาสตร์ของวรยุทธจัดวางตัวละคร “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” (รับบทโดย “สมบัติ เมทะนี”) และ “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ให้เป็นเหมือนส่วนยอดสุดของพีระมิด
ละครฉายภาพ “รัชกาลที่ 1” ในฐานะผู้นำที่ทรงมีพระปรีชาสามารถสูงสุด กระทั่งวางแผนและประเมินการทำศึกได้ถูกต้องแม่นยำอยู่เสมอ และทรงห่วงใยเรื่องบ้านเมือง/การสงครามอยู่ตลอดเวลา จนไม่ปรากฏแง่มุมชีวิตด้านอื่นๆ ของพระองค์
ขณะเดียวกัน ก็วาดภาพให้ “วังหน้าพระยาเสือ” มีบุคลิกเป็นนักรบผู้ห้าวหาญ เด็ดขาด เคร่งขรึม จริงจัง อยู่ตลอดทั้งเรื่อง
กล่าวได้ว่า ตัวละครทั้งสองพระองค์นั้นมีสถานะเป็นดัง “อภิมนุษย์” ผู้อยู่เหนือกว่าตัวละครเจ้านายและสามัญชนรายอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ตัวละครที่เป็นเจ้านายระดับถัดลงมาใน “สงครามเก้าทัพ” กลับมีชีวิตชีวา และมีอารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกับมนุษย์ธรรมดาทั่วไป
เช่น “กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์/กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข/พระยาสุริยอภัย” (เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์) และ “กรมหลวงนรินทรรณเรศร์” (นัย สุขสกุล) ที่แสดงอาการวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด เมื่อครั้งต้องนำทัพไปออกรบกับกองทัพตองอูที่นครสวรรค์
“กรมหลวงเทพหริรักษ์” (พิพัฒน์พล โกมารทัต) ก็เป็นเจ้านายที่ต้องต่อรองผลประโยชน์ทางการค้า การเมือง และการทหารกับกลุ่มพ่อค้า-ขุนนางเชื้อสายจีน แถมละครยังให้ภูมิหลังว่าเจ้านายพระองค์นี้เพิ่งประสบความล้มเหลวในภารกิจยึดเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่ “องเชียงสือ” เพราะรบแพ้พวก “เตยเซิน”
“พระองค์เจ้าขุนเณร” (สุริยัน ปฏิพัทธ์) ก็เป็นผู้นำกองโจร ที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตอยู่ใน “แบบแผน” เหมือนเจ้านายพระองค์อื่นๆ
ส่วน “กรมหลวงจักรเจษฎา” ที่สวมบทโดยอานนท์ คือตัวละครเจ้านายเพียงองค์เดียวในเรื่อง ซึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างการออกรบในศึกลาดหญ้า ทั้งยังเป็นเจ้านายที่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของเจ้านายพระองค์อื่น ไม่ว่าจะเป็น “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” (พี่ชายต่างมารดา) และ “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” (หลานที่อายุมากกว่า)
อาจกล่าวได้ว่า ถ้าตัวละคร “รัชกาลที่ 1” และ “วังหน้า” คือภาพแทนของ “ผู้นำและแม่ทัพในอุดมคติ” ตัวละครเจ้านายองค์อื่นๆ ใน “สงครามเก้าทัพ” ก็คือภาพแทนของชนชั้นนำที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก มีความเจ็บปวด และมีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น
“พีระมิดตัวละคร” ในละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จึงฉายภาพให้เห็นทั้ง “ฐานานุศักดิ์อันลดหลั่น” และ “ความหลากหลายในฐานะมนุษย์” ของตัวละครเจ้านายยุคก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

“อานนท์ สุวรรณเครือ” ในบท “กรมหลวงจักรเจษฎา” จากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สงครามเก้าทัพ”
จนถึงบัดนี้ “ภาพแทนเจ้านายราชวงศ์จักรี” แบบที่ปรากฏในละคร “สงครามเก้าทัพ” ก็ยังปรากฏขึ้นอีกไม่บ่อยและไม่ชัดเจนนักในละครหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ ในยุคถัดมา
ขณะเดียวกัน ภาพตัวละครเจ้านายที่ค่อนข้างมีชีวิตชีวาอย่าง “กรมหลวงจักรเจษฎา” ที่สวมบทโดยอานนท์ ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบจากละครเก่าช่วงต้นทศวรรษ 2530 ซึ่งติดอยู่ในความทรงจำของผมเสมอมา
กระทั่งเมื่อต้องเดินผ่านซุ้มประตูวังริมป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นวังของเจ้านายพระองค์นี้ ในปัจจุบัน ผมก็ยังคงนึกถึงใบหน้า รูปร่าง ท่าทางของนักแสดงชื่อ “อานนท์ สุวรรณเครือ” อยู่ตลอดเวลา
ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Passakorn Sukchaiwrangkun
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



