
รำลึกวาระ 92 ปี การปฏิวัติ 2475 กับระบบ ‘การจัดตั้ง’ ส.ว. 2567 (จบ)

บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง
รำลึกวาระ 92 ปี การปฏิวัติ 2475
กับระบบ ‘การจัดตั้ง’ ส.ว. 2567 (จบ)
จากการแต่งตั้ง ส.ว. 2562
สู่ระบบการจัดตั้ง (แบบเลือกกันเอง)
ในปี พ.ศ.2567
ในห้วงเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ ระหว่างปี 2516-2554 เราได้เห็นการกลับมาของฝ่ายประชาธิปไตยและขบวนการประชาชน เช่น การต่อสู้ของนักศึกษาในช่วง 2516-2519, การเติบใหญ่ของขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาระหว่าง พ.ศ.2519-2524, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540, พ.ร.บ.กำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พ.ศ.2442, ชัยชนะติดกัน 2 ครั้งของพรรคไทยรักไทยในปี 2544, 2548 และชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยปี 2554
นี่คือการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญของฝ่ายประชาชน
ด้วยเหตุนี้ รัฐประหารในปี พ.ศ.2549 และอีกครั้งก็คือ พ.ศ.2557 จึงเป็นความพยายามอย่างชัดเจนที่จะสกัดกั้นการเติบโตดังกล่าว
รูปธรรมอย่างหนึ่งของการสกัดกั้นฝ่ายประชาธิปไตยนอกจากการขับไล่ผู้นำจากการเลือกตั้งออกนอกประเทศถึง 2 คนในปี 2549 และ 2557 และการกำหนดรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้ไม่มีคำว่า “กระจายอำนาจ” แม้แต่คำเดียว ก็คือ การมีวุฒิสภาชุดที่ 12 ในปี พ.ศ.2562 ที่มีการแต่งตั้งทั้งหมดจำนวน 250 คน
ปรากฏว่าเป็นนายทหารและตำรวจมากถึง 104 คน (ที่เหลือส่วนใหญ่เป็น ขรก. พลเรือน) ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ก็เพราะเป็นการเสนอชื่อโดย คสช.ที่ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2557
ติดตามด้วยการกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จำนวน 200 คนในปี 2562 พร้อมกับที่มาเป็นรูปแบบใหม่ โดยกำหนดให้เลือกกันเองและแบ่งกลุ่มอาชีพที่ดูเหมือนเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลาย
แต่เมื่อดูในรายละเอียด กลับมีจุดอ่อนแบบตั้งใจ และสุดท้าย
นี่มิใช่การเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ส.ว.ที่เคยมีมา 12 ครั้งก่อน แต่ครั้งที่ 13 นี้เป็น “การจัดตั้ง” ที่แนบเนียนยิ่งนัก
เริ่มต้นด้วย
1. การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ว.ชุดใหม่ปี 2567 ต้องชำระเงิน 2,500 บาทเพื่อลงคะแนนเลือกและได้รับเลือก กล่าวในแง่หลักการ การมีสิทธิเลือกตั้งและรับการเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย แต่เหตุใดจึงต้องเก็บเงิน และจะคาดหวังอะไรในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ที่คนส่วนใหญ่ในชาติต้องประสบปัญหาสารพัด และนั่นคือ การกีดกันคนจำนวนมากออกจากระบบการคัดสรรแบบนี้ได้อย่างเฉียบขาด และในอีกด้านหนึ่ง การจ้างผู้คนให้เข้าร่วมรับใช้การเมืองของกลุ่มอิทธิพลก็สามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. การกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสิทธิเสรีภาพ ทำไมการเลือกตั้ง ส.ว. ต้องกำหนดอายุ (อย่างน้อย) คนมีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าต้องการวุฒิสมาชิกที่มีอายุและประสบการณ์ แต่คนอายุน้อย ได้เรียนรู้ รับฟัง ก็ควรได้สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วย
3. การกำหนดอาชีพ แต่กลับไม่กำหนดละเอียด เช่น คนเป็นหมอ หรือพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุข เพราะความสามารถและความถนัดในหน้าที่การงานเป็นคนละอย่าง ทั้งไม่มีการแนะนำตัว ไม่มีรายละเอียดของผู้สมัครในระยะแรกๆ จนต้องมีการประท้วง และเรียกร้องให้แนะนำกันภายในกลุ่ม และเป็นการไขว้กับกลุ่มอื่นโดยคนลงคะแนนเป็นคนนอกกลุ่ม ตกลงผู้ลงคะแนนจะตัดสินใจโดยการใช้หลักการอะไร
4. การกำหนดให้วันยื่นใบสมัครและวันรับสมัครเป็นวันเริ่มและสิ้นสุดเหมือนกันหมด ก็เท่ากับว่าเปิดทางให้ฝ่ายจัดการรับสมัครเริ่มที่ระดับอำเภอรู้ทั้งหมดในแต่ละวันว่า ใครสมัครกลุ่มใดและแต่ละวันมีผู้สมัครกี่คน แต่ละคนมีคุณสมบัติอย่างไร กลุ่มอาชีพใดไม่มีผู้สมัครเลยหรือมีน้อยมาก ก็เท่ากับว่าสามารถระดมพรรคพวกของตนเองมาสมัครเพิ่มเติมได้ในวันต่อไปว่าควรสมัครเพิ่มกี่คน และควรลงในกลุ่มอาชีพใด
5. ก็เพราะการกำหนดอาชีพไม่ชัดเจน ปัญหาที่ตามมาก็คือ จะตัดสินใจเลือกผู้สมัครจากอะไร และยังเปิดโอกาสให้ผู้สมัครโยกย้ายไปกลุ่มอาชีพอื่นๆ เมื่อเห็นว่ากลุ่มของตนมีผู้สมัครมากเกินไปหรือมีคู่แข่งที่น่ากลัว หรือตนเองเห็นว่าจะมีโอกาสมากกว่าหากย้ายอาชีพ ฯลฯ
6. บวกกับการจัดระบบคัดเลือกถึง 3 ระดับ คืออำเภอ จังหวัดและระดับชาติ และมีการจับสลากเพื่อไขว้กันทุกระดับ นั่นเท่ากับว่าการที่จะเอาชนะ และสามารถส่งคนเข้ารับการคัดเลือกในระดับชาติได้ จะต้องการไขว้กลุ่มถึง 3 ครั้ง และคำนวณด้วยว่าจะต้องมีพรรคพวกของตนเองกี่คน (เพราะต้องสลับกันไปทุกๆ ขั้นตอน)
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงชี้ให้เห็นว่า โอกาสที่จะเอาชนะได้เพื่อเป็น 1 ใน 200 คนเพื่อให้ได้เป็นวุฒิสมาชิกจากจำนวน 3 พันกว่าคนที่ขึ้นมาจากระดับจังหวัดจึงมีความเป็นไปได้เพียง 4 ทาง คือ
1. จัดตั้งกลุ่มของตนเองให้มากที่สุดในกลุ่มอาชีพต่างๆ เพราะไม่ว่าจะไขว้ไปพบกลุ่มใด ก็จะพบคนในกลุ่มที่เป็นพรรคพวกของตนเองเกือบทั้งหมด
2. เร่งทำเวลาไปเสาะหาพันธมิตรให้มากที่สุด หรือรู้จักคนกว้างขวางเป็นทุนเดิม เพื่อขอคะแนนสนับสนุนจากกันและกัน
3. ตนเองเป็นคนมีชื่อเสียง คนรู้จักและชื่นชมกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ในระดับใดก็ย่อมได้รับการสนับสนุน
และ 4. มีโชคในการจับฉลากเพื่อเข้ารอบ เพราะโอกาสที่คะแนนเท่ากัน ในแต่ละรอบจะมีสูงมาก
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า จะมีคนประเภทที่ 2 และ 3 กี่คน และแน่ใจหรือว่า คนอื่นเขาให้การสนับสนุนคุณอย่างจริงจัง ในเวลาอันจำกัดนั้น จะทำความรู้จักและขอคะแนนที่จะได้รับอย่างแน่นอนมาได้อย่างไร โดยเฉพาะต่างคนต่างก็ขอความสนับสนุนจากอีกฝ่าย จะมีคนรวนเร หรือพูดไม่จริง หรือตั้งใจโกหก หรือถูกดึงไปสังกัดกลุ่มอื่นเท่าใด ส่วนโชคในการจับสลากจะหวังได้อย่างไรในเรื่องเช่นนั้น ฯลฯ
ผู้สมัครคนหนึ่งเล่าหลังเหตุการณ์ว่า รู้จักคนไม่มากนักเพื่อขอเสียงสนับสนุน สุดท้ายด้วยเวลาจำกัด ก็จำชื่อได้แต่ผู้สมัครในหน้าแรก ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว ก.ไก่ ได้พูดจากันสั้นๆ พบว่า บุคลิก-การพูด-ประวัติดี เลือกคนนี้ดีกว่า ก็จึงได้มาคนเดียว ฯลฯ
ย้อนพินิจการคัดเลือก ส.ว. 2567
คําถามแรก ประเทศนี้มีการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้ว 12 ครั้ง มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายอำนาจนิยมหรือฝ่ายประชาธิปไตยกำหนด ฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งส่วนหนึ่งระบุว่าถ้าให้มีการเลือกตั้งทั้งสภาบนและสภาล่าง ก็จะได้สภาผัว สภาเมีย หรือสภาครอบครัว
ประเด็นคือ หากเราเคารพเสียงของประชาชน เห็นว่าการวินิจฉัยของประชาชนส่วนใหญ่สำคัญ แต่เราก็สามารถแก้ไขจุดอ่อนนั้นได้ เช่น ห้ามคนในครอบครัวเดียวกันลงสมัคร หากมีคนหนึ่งคนใดในครอบครัวได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว
การตำหนิระบบเลือกตั้งและละทิ้งหลักการดังกล่าวไปทั้งหมด และหันไปหาการแต่งตั้ง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง
แต่ครั้งนี้ พ.ศ.2567 เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่อาจจัดการแต่งตั้งแบบเดิมคือ ชุด พ.ศ.2562 ได้ เกรงประชาชนจะคัดค้านอย่างแรง จึงหันไปหาวิธีใหม่ที่ซับซ้อน และยังไม่มีประเทศไหนทำมาก่อน
เห็นได้ชัดว่าระบบนี้เกิดมาเพราะกลัวประชาชนจะเลือกฝ่ายประชาธิปไตยแบบถล่มทลายหากยอมให้ทุกคนมีสิทธิเสรีในการเลือกตั้ง พร้อมกับการหาเสียงอย่างเต็มที่ จึงเหลือทางเลือกเดียว นั่นคือ แบบใหม่ที่คนจำนวนมากไม่รู้จัก และมีการจัดตั้งมาอย่างดี
ทั้งหมดนี้จึงสนับสนุนกระแสข่าวในสื่อมวลชนหลายฉบับ เช่น การใช้เงิน 200 ล้านบาทว่าจ้างคนกลุ่มต่างๆ มาลงสมัคร ประวัติก็ไม่ต้องชัดเจน ห้ามการหาเสียงและแนะนำตัวเองในที่สาธารณะ ทำให้เกิดความยากลำบากที่จะรู้จักผู้สมัคร ยากลำบากในการตรวจสอบ โดยมุ่งให้ฝ่ายจัดตั้งจะเลือกใครก็ได้
การกำหนดให้ผู้สมัครต้องเสียเงิน 2,500 บาท การกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุเกิน 40 ปี การทำให้ระบบการคัดเลือกสลับซับซ้อน หลายครั้งและหลายระดับ ตลอดจนการกำหนดอาชีพถึง 20 กลุ่ม ทั้งหมดสร้างความยากลำบากให้คนหลายกลุ่ม
ทำให้คนอีกหลายกลุ่มไม่สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้ ประหยัดเงินสำหรับฝ่ายอำนาจนิยมที่คิดจะส่งคนเข้าไปควบคุมสภาแห่งนี้
เพราะการที่ผู้สมัครมีจำนวนไม่มาก ไม่ต้องซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนระบบการเลือกตั้งทั่วไป และทำให้คนที่ไม่ได้ศึกษาระบบอันซับซ้อนนี้อย่างดี ไม่ประสบความสำเร็จในการลงสมัคร เพราะขาดการจัดตั้งและแรงสนับสนุนอย่างจริงจัง
ด้วยเหตุนี้ การคาดคะเนตั้งแต่แรกว่าจะมีผู้สมัครลง ส.ว.ครั้งนี้ 2-3 แสนคนจึงเป็นเรื่องที่ไม่เริ่มต้นจากความเป็นจริง เหลือจำนวนผู้สมัครเพียง 4 หมื่นกว่าคน คนจำนวนมากย่อมไม่คิดที่จะลงสมัคร เพราะทราบอยู่แล้วว่ามันผิดตั้งแต่การเสียเงินไปเลือกตั้ง และรับรู้กันว่าจะมีการจัดตั้งและการจ่ายเงินให้คนหลายกลุ่มไปลงสมัคร ซึ่งหมายความว่า หากได้รับเลือก ก็ต้องเข้าไปยกมือตามคำสั่งที่ให้มาตั้งแต่ต้น
และจะไม่แปลกใจหากมีข่าวว่าคนขับรถ หรือเพื่อนร่วมงาน หรือพ่อตา-แม่ยาย หรือแม่ค้าขายกล้วยแขกได้รับการคัดเลือก
ทั้งนี้ก็เพราะนี่เป็นระบบการคัดสรรคนที่เป็นพวกเดียวกัน-ไว้ใจได้ให้เข้าไปทำงาน นี่คือพรรคพวกชุดพิเศษ ที่มีความจงรักภักดี ไม่คิดแยกจากไห
เมื่อวุฒิสภามีบทบาทสำคัญคือ การยกมือหนุนหรือคัดค้านการแต่งตั้งคนขององค์กรที่สำคัญของประเทศ ตลอดจนรับรองกฎหมายที่ได้ผ่านสภาล่างมาแล้ว
แน่นอน การอภิปรายแสดงความเห็นสำคัญๆ ก็ย่อมมีมาจากสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถบางส่วนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยฝีมือ และ/หรือชื่อเสียงต่างๆ ที่มี ฯลฯ
คำถามคือ ในเมื่อวุฒิสภามีจำนวน 200 คน หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 นั่นคือ 67 เสียง ยุทธศาสตร์ของการควบคุมวุฒิสภาก็คือ พวกเขาต้องการคะแนนเสียงเพียง 133 เสียงก็เพียงพอแล้วเพื่อปิดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายอำนาจนิยมสามารถแบ่งแต้มกันออกไปทั่วทุกภาคเพียงพอหรือไม่ที่จะได้รวมพลังกัน 140 ที่นั่ง ไม่จำเป็นใดเลยที่จะต้องเข้ายึดทั้งสภาสูง เพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้ที่นั่งเลย เพราะคะแนน 130 กว่าที่นั่งก็เพียงพอแล้วในการกำหนดมติสำคัญๆ ทุกเรื่องของสภา
กระทั่งหากได้ไม่ถึงก็ยังมีโอกาสต่อรองขอเสียงหรือซื้อเสียงจากสมาชิกส่วนหนึ่งที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์
กล่าวโดยสรุป นี่คือการจัดตั้งชั้นเซียนที่ฝ่ายอำนาจนิยมได้วางไว้ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
แน่นอน ย่อมไม่ใช่ “การเลือกตั้ง ส.ว.” ที่ฝ่ายประชาชนใฝ่หา
และไม่ใช่ “การแต่งตั้ง ส.ว.” ที่ฝ่ายประชาชนต่อต้าน
แต่สุดท้าย ระบบการจัดตั้งที่เกิดขึ้น ก็ปรากฏผลออกมาดังที่เห็น มีกระแสข่าวที่มีบางจังหวัดได้มาถึง 10 กว่าที่นั่ง (ขณะที่มี 6-7 จังหวัดไม่มี ส.ว.เลยแม้แต่คนเดียว)
ข่าวว่าพวกเขาวางแผนและลงมือทำงานมาแล้วถึงปีเศษ ขณะที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งเพิ่งตัดสินใจ 1-2 วันก่อนที่จะลงสมัคร
ส่วนสื่อจำนวนไม่น้อยได้เห็นชื่อคนดังลงสมัครก็มิได้คิดและศึกษารอบด้าน คาดไกลไปทำนายว่าจะได้ตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานสภา วันนี้ หลายฝ่ายคงได้ตระหนักว่าการไม่สนใจศึกษาปัญหาอย่างจริงจังก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร
บทเรียนของ “การจัดตั้ง” ส.ว. 2567
ประการแรก รัฐกึ่งเมืองขึ้นเป็นปรากฏการณ์พิเศษ ที่ส่งผลยาวไกลมากต่อสังคมนั้น การตัดกระแสการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ.2490 เปิดโอกาสให้กระแสเก่าพลิกกลับมาเถลิงอำนาจ และหลังจากนั้น ท่ามกลางกระแสสังคมนิยม กระแสโลกาภิวัตน์ กระแสอำนาจนิยม กระทั่งกระแสโลกข่าวสารไร้พรมแดน ขบวนประชาชนได้เรียนรู้อะไรตลอดช่วง 9 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา
ประการที่สอง ขณะที่ฝ่ายหนึ่งค้นคิดหาวิธีการต่างๆ มาใช้เพื่อสืบทอดอำนาจการปกครองต่างๆ เพื่อหมู่คณะตลอดมา ถึงเวลาที่ฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องสำรวจตนเองหลายๆ ครั้งว่า ยังมีสิ่งใดบ้างที่สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะระบบการจัดตั้ง ส.ว. 2567 ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกเลย
ประการที่สาม ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปนั่งฟังคนกลุ่มหนึ่งเล่าเรื่องการขอเสียงสนับสนุนและการลงคะแนนในระดับอำเภอ, จังหวัดและระดับชาติ มีเรื่องสนุกมากมายอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ
1. การเกาะกลุ่มของคะแนนในลำดับ 1-6 ใน 10 คนที่หนาแน่นอย่างน่าทึ่งสะท้อนให้เห็นการทำงานหนักและระเบียบวินัยและความแข็งแกร่งต่อเนื่องของกลุ่มที่ได้ชัยชนะ
2. ความมุ่งมั่นทุ่มเทน่าชื่นชมของพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยในห้วงเวลาที่ผ่านมา
3. พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยและมีความรู้ความสามารถในอาชีพของตนได้เข้ามาสมัครแบบไม่มีกลุ่มก้อนใดๆ และพร้อมที่จะร่วมมือกับการทำงานการเมือง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

