
โมงยามที่ไม่เคยมาถึง | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
โมงยามที่ไม่เคยมาถึง
เวลา 20.00 น. วันที่ 10 กรกฏาคม 2567 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน
ถือเป็น การตอบ คำถาม “ส.ว.ชุดใหม่จะมากี่โมง” อย่างเป็นทางการ
ซึ่ง แม้ ดูเหมือน คนไทยจะได้คำตอบแล้ว
แต่ ถามว่าเมื่อได้คำตอบแล้ว
“จบหรือไม่”
ส่วนใหญ่ คง”ตอบ”อีกนั่นแหละว่า
“ไม่จบ”
ไม่จบ เพราะ 200 ส.ว.ที่ได้มา คงต้องเผชิญคำถามอีกมากมาย
อย่างน้อยที่สุด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และยกร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาวุฒิสภา ที่อวดอ้างว่าได้ออกแบบการได้มาส.ว.(อย่างสุดพิสดารพันลึก) ให้ปลอดจากอิทธิพลพรรคการเมือง
แต่ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ซึ่งก็ขอวงเล็บห้อยไว้หน่อย (คณะกรรมการเลือกตั้งไม่เห็น หรือยังไม่เห็น–จึงอ้างว่าจะตามไปสอยทีหลัง)พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเต็มๆ
ทำให้ส.ว.ที่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน แยกเป็นสี เป็นกลุ่ม ที่ยึดโยงไปถึงพรรคการเมืองทั้งสิ้น
และบางพรรคว่ากันว่ากุมเสียงเกินครึ่งวุฒิสภา เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นที่อวดอ้างว่า วุฒิสภาใหม่ จะเป็นกลาง จะเป็นเสียงสะท้อนคนในอาชีพ”ด้าน”ต่างๆ
เป็นเพียงลมปากเท่านั้น
ซึ่งก็อย่าไปเรียกร้องหาความรับผิดชอบ จากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และยกร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาวุฒิสภา อย่างเด็ดขาด
เพราะคงไม่ยอมรับ แถมอาจเคลมถึงการ “มี-ชัย”ด้วย
มี-ชัยว่า ด้วยกฏ กติกา อันพิดารพันลึก ชนิดไม่มีที่ไหนในโลกนี้ไง ที่ทำให้ได้ส.ว.ที่แม้จะ”ไม่ปลอดการเมือง”
แต่ก็เป็น การเมือง ที่มี”ดีเอ็นเอ” ชนิดเดียวกับ “ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” และต่อเชื่อมไปถึงผู้ตั้ง คือ “คณะรัฐประหาร”อย่างชัดเจน
ดังนั้น ความคาดหวังที่จะเห็นวุฒิสภามุ่งมั่นไปสู่การเป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริง ลดน้อยถอยลงอย่างชัดเจน
ในระยะอันใกล้ เราคงได้เห็น ประธานวุฒิสภา ที่มาจากอดีตข้าราชการพลเรือน หรืออดีตข้าราชการทหาร ซึ่งมีพื้นฐานเติบโตมากับระบบ”จารีต”อันเข้มข้น
แถมเมื่อมาเจือสมกับการเป็นพวกกับพรรคการเมือง ที่มีทิศทาง”อนุรักษ์นิยม”
ซึ่งก็น่าจะประเมินได้ว่า ทิศทางของวุฒิสภาจะไปทางไหน
ความหวังที่เราจะได้เห็นความกระตือรือร้นในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คงยาก
เพียงแค่จะแก้ไขที่มาของส.ว.ที่เป็นตัวอย่างของ”ปัญหา” ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน
มิต้องไปกล่าวถึง ความหวังที่จะรื้อรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้มีความก้าวหน้า มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งคงยาก
เผลอๆ 200 ส.ว.ใหม่จำนวนมาก อาจจะมีลักษณะเหมือน 250 ส.ว.ที่(ไม่เต็มใจ)หมดวาระไป คือเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยเสียเอง
และเล่นบทบาท “สนองคุณ” ฝ่ายการเมือง ที่มีส่วนช่วยให้ตนเองเข้ามาในสภาสูง อย่างสุดพิสดาร
กล่าวถึงที่สุด “โมงยาม”แห่งความหวังที่จะเห็นความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สำหรับประชาชนแล้ว
ยังมาไม่ถึง และอีกนานที่จะถึง
ตอนนี้ จึงทำได้เพียงมองหาแง่มุมดีๆมีเยียวยาใจ
เช่น อย่างน้อยที่สุด 200ส.ว.ใหม่ก็คงมีไม่ทั้งหมดที่จะมีใครกดปุ่มสั่งได้
คงพอมีสิทธิ มีเสียง ที่จะทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยบ้าง
ไม่ให้ใครมาดูถูกดูแคลนว่าเป็นเพียง”เสียงที่ไร้อนาคต”
——————–