

ช่วงที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้คุยกับนักธุรกิจใหญ่และ “มืออาชีพ” รุ่นใหม่หลายคน
ทุกคนกังวลเรื่องสถานะของประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ
และคู่แข่งทางธุรกิจของไทย
ด้วยความเคยชินของการเป็น “นักข่าวเก่า” และ “นักเขียน”
ผมเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ใน “ลิ้นชักนักเขียน”
จนวันหนึ่งผมก็รวบรวมและเรียบเรียง โพสต์ลงในเพจของผม
ตั้งชื่อเรื่องว่า “6 เรื่องเศร้าของเมืองไทย”
ลองอ่านดูนะครับ
6 เรื่องเศร้าของเมืองไทย
1.
มีผู้บริหารหนุ่มคนหนึ่งไปร่วมประชุม Summer Davos Forum ที่เมืองต้าเหลียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนของผู้นำระดับสูงและหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก
เขาเล่าว่าผู้นำประเทศใหญ่ๆ และนักลงทุนก็จะมาพูดคุยกับตัวแทนของไทยเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
แต่ที่ผิดปกติก็คือ…
เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนเราเป็นผู้หญิง หนุ่มๆ ก็มาคุยกับเราเหมือนคุยกับสาวเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ
พูดคุยกันดีมาก
แต่ตอนจบ หนุ่มคนนี้ขอเบอร์ทุกคน
ยกเว้นเรา
2.
ผู้ใหญ่ด้านการเงินคนหนึ่ง เล่าว่าทุกปีเขาจะพาบริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยที่อยู่ในตลาดหุ้นไปโรดโชว์คุยกับนักลงทุนใหญ่ของโลก
เพื่อดึงดูดให้เขามาลงทุนในหุ้นบริษัทตัวเอง
แต่ปีนี้เป็นปีแรก ที่โทร.ไปหานักลงทุนใหญ่ๆ แล้วไม่มีใครอยากนัดคุยกับเรา
เหมือนกับรู้สึกว่า …เสียเวลา”
จาก 2 เรื่องแรกที่เป็นเรื่องสถานะของเมืองไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ
ผมปรับทิศใหม่มาที่ “คู่แข่ง” ในอาเซียน และคลื่นการลงทุนจากจีน
3.
ผู้บริหารระดับสูงด้านการเงินอีกคนหนึ่ง เล่าว่าเขาไปเปิดสาขาที่เวียดนาม เจอคนเวียดนามทำงานแล้วตกใจ
ทุกคนขยันมาก ทำงานดึกๆ แทบทุกวัน
เลิกงานแล้วไม่ยอมเลิก
หลังโควิด เรียกพนักงานที่ทำงาน work from home กลับเข้ามาทำงานที่สำนักงาน
ไม่มีใครบ่ายเบี่ยงเลย
เขาเปรียบเปรยเรื่อง ‘ความมุ่งมั่น’ ของคนเวียดนามว่าพนักงานส่วนใหญ่ขี่มอเตอร์ไซค์มาทำงาน
‘แต่ผมเห็นสายตาของเขาตอนมองรถยนต์วิ่งผ่าน เหมือนกับจะบอกตัวเองว่าวันหนึ่งกูจะขับรถยนต์บ้าง’
4.
เจ้าของบริษัทวัสดุก่อสร้างใหญ่รายหนึ่ง เล่าว่าเขาเคยมีโรงงานไม้อัดของตัวเอง แต่หลายปีที่ผ่านมาเจอ ‘ไม้อัดจีน’ ถล่มตลาด
ทนอยู่ได้พักใหญ่ เขาก็ตัดสินใจปิดโรงงานไม้อัดเพราะสู้จีนไม่ได้
ตอนแรกโกรธ เพราะเชื่อว่าจีนทุ่มตลาด ตัดราคา
ล่าสุด มีนักลงทุนจีนมาขอซื้อที่ดินของเขาไปสร้างโรงงานไม้อัด
ยอมจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางทุกอย่างจนต้นทุนในการก่อสร้างโรงงานของเขาสูงกว่าคนไทย
แต่พอเริ่มผลิตไม้อัด ปรากฏว่าไม้อัดที่โรงงานนี้ขายลูกค้าถูกกว่าที่ซื้อจากเมืองจีนอีก
เมื่อเข้าไปดูโรงงาน เขารู้เลยว่าที่ไทยสู้จีนไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องการทุ่มตลาด
แต่เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการผลิต
5.
เจ้าของโรงงานประกอบรถอีวีรายหนึ่ง เล่าว่าเขาเคยใช้คนงานไทยประกอบรถยนต์
ตัวเลขเป๊ะๆ จำไม่ได้
ประมาณว่าคนงานไทย 50 คน ประกอบรถอีวีได้เดือนละ 5 คัน
แต่ลองใช้คนจีนมาทำบ้าง
แรงงานจีน 10 คน ผลิตได้เดือนละ 6 คัน
6.
น้องคนหนึ่งทำธุรกิจเอสเอ็มอี เคยลองทำโฟกัสกรุ๊ปนักศึกษาจีนที่มาเรียนในเมืองไทย
เขาถามว่าทำไมเรียนจบแล้วอยากทำงานที่บ้านเรา
เธอตอบว่าข้อแรก เพราะเมืองไทยน่าอยู่
…ฟังแล้วปลื้ม
ข้อที่สอง ทำงานในเมืองไทย เธอได้เปรียบเพราะพูดภาษาจีนได้ บริษัทส่วนใหญ่ต้องการ
…มีเหตุผล
ข้อที่สาม ทำงานที่จีนการแข่งขันสูงมาก เธอสู้ไม่ได้ ถ้าทำงานที่จีนเธออยู่ระดับกลางถึงล่าง โอกาสที่จะขึ้นมาอยู่ระดับบนๆ ยาก
…น่าสงสาร
ข้อที่สี่ อยู่เมืองไทย ทำงานแข่งกับคนไทย
‘สบายมาก’
เพราะเธอขยันกว่า
…เจ็บปวดมาก”
ผมสรุปตอนท้ายสั้นๆ
“ขอยืนยันว่าทุก ‘เรื่องเล่า’ ได้ฟังมาจริงๆ
และเจ้าของเรื่องเล่าแต่ละคน เอ่ยชื่อแล้วคนส่วนใหญ่รู้จัก
ขอย้ำว่าทุกคนไม่ได้สนุกกับ ‘เรื่องเล่า’ ของตัวเองเลย
แต่เล่าด้วย ‘ความเจ็บปวด’
เมืองไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”
จริงๆ รายชื่อคนที่เล่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็น “ความลับ” อะไรหรอกครับ
แต่ที่ไม่บอกชื่อเพื่อทำให้เรื่องราวดูลึกลับ น่าติดตาม 555
ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพียงแค่ต้องการบอกเล่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยแบบง่ายๆ
จะบอกว่าอย่าหลงละเมอไปกับ “บุญเก่า” ที่สร้างมา
ตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม
และต้องการบอกให้คนที่ต้องอยู่ในตลาดแรงงานได้ทราบว่าเรากำลังเผชิญกับ “คู่แข่ง” ที่แข็งแกร่งมาก
คนจีนกับเวียดนามนั้นเคยผ่านชีวิตหลังสงครามมา ต้องเผชิญกับความลำบากมายาวนาน
คล้ายๆ กับคนไทยยุค “เบบี้ บูมเมอร์”
ความอึด-ถึก-ทน ของคน 2 ประเทศนี้เหนือกว่ามาตรฐานปกติมาก
ที่สำคัญ เราอยู่เฉยๆ เขาก็เข้ามาแข่งกับเรา
ถ้าไม่ปรับตัวจะเหนื่อยมาก
หลังจากโพสต์นี้ออกไปก็มีคนแสดงความคิดเห็นมากมาย
ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยแบบเต็มที่เลย
นอกจากเห็นด้วยแล้วยังบ่น-บ่น-บ่น
คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ
บางคนลามไปถึงเรื่องแนวคิด work life balance ของ “คนรุ่นใหม่”
ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วย
เพราะวิธีคิดเรื่องนี้ยังถูกต้องเสมอ คือ ไม่ใช่ทุ่มเทให้กับงานเพียงอย่างเดียวเหมือน “คนรุ่นเก่า”
ที่คิดแต่ความสำเร็จในการทำงาน และเก็บเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ
ไม่หาความสุขระหว่างทางบ้าง
“คนรุ่นใหม่” ที่เคยได้รับบทเรียนจาก “คนรุ่นเก่า” เขาจึงมีวิธีคิดใหม่
ต้องทำชีวิตให้สมดุล
เพราะงานไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
เราต้องแบ่งปันเวลาให้กับครอบครัว ตัวเอง และสังคมด้วย
เพียงแต่…
การหาสมดุลของชีวิตเป็นงานศิลปะ
ไม่มีสูตรตายตัว
ถ้าคุณต้องการก้าวหน้าในการงาน แต่ให้เวลากับงานน้อยเกินไป
คุณก็จะสู้กับคนที่ทำงานหนักไม่ได้
ในขณะที่คนที่ทุ่มเวลาให้กับงานเกือบทั้งหมด ไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเลย
เขาจะเสียโอกาสแห่งความสุขที่ได้เห็นพัฒนาการของลูกน้อย
นี่คือ “รายจ่าย” ที่ต้องจ่าย
ที่สำคัญคนบางคนใช้คำว่า work life balance เป็นคาถาที่ไพเราะในการป้องกันตัวเอง
โดยเฉพาะคนที่ไม่อดทน สู้งาน
work life balance จึงเป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามโลกแห่งการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
เราจึงต้องปรับสมดุลของชีวิตอยู่ตลอดเวลา
อย่ายึดมั่น-ถือมั่น •
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022