

คงพอจำกันได้ว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม เกิดเพลิงไหม้ที่ตรอกโพธิ์ เยาวราช หลังเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยกรุงเทพมหานครออกประกาศเกณฑ์การช่วยเหลือ อาทิ ค่าจัดการศพ ไม่เกิน 29,700 บาท ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 2,000 บาท ค่าอาหาร มื้อละไม่เกิน 50 บาท
ในตอนนั้น ยังมีผู้สื่อข่าวไร้เดียงสาคนหนึ่ง อุตสาห์ไปสำรวจและรายงานว่า บริเวณดังกล่าว มีสายไฟและสายสื่อสารมากมายระโยงระยาง เหมือนอยากจะสรุปว่า เป็นสาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้
แม้ว่าข่าวร้ายนี้ ตัวเลขแฮชแท็กวันนั้นขึ้นไปสูงสุด และมีข่าวในทุกสื่อต่อเนื่องอีกสองสามวัน แต่มาถึงวันนี้ ข่าวนั้นก็เงียบหายไปแล้ว
มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ เลยจะพาไปมองข่าวไฟไหม้ในเยาวราช ที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อาศัยข้อมูลในรายงานวิจัย เรื่องอัคคีภัยกับการแปรรูปเมือง กรุงเทพมหานคร ที่ได้ศึกษาเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในเยาวราช รวมทั้งการดำเนินงานต่างๆ หลังเกิดเหตุ
ในประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2449 มีข่าวเพลิงไหม้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันถึงห้าครั้งในพระนคร คือวันที่ 6 เมษายน เวลาสามยาม ที่ห้องแถวหน้าวัดสัมพันธวงศ์ วันที่ 7 เมษายน เวลาสามโมง ที่หน้าร้านอยู่ฮวดหลี ในสำเพ็ง วันที่ 12 เมษายน เวลาค่ำ ที่โรงแถว รวม 84 ห้อง ริมถนนสามเสน วันที่ 13 มกราคม เวลาห้าทุ่ม ที่ตึกแถวสองชั้น ในตรอกวัดตึกเก่า และวันที่ 14 มกราคม เวลาสองทุ่ม ที่โรงเลื่อย ริมคลองโอ่งอ่าง
หรือในเดือนธันวาคม พ.ศ.2462 มีข่าวเพลิงไหม้สี่ครั้ง ที่บ้านพระยาราษธนาพิพัฒน์ ตลาดพูล ตึกแถวในตรอกพระพิเรน สามยอด ที่ร้านขายหนังสือเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนมหาชัย และที่ตลาดบ้านถวาย
เท่ากับว่า เหตุเพลิงไหม้ในตอนนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในตอนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ การดำเนินงานหลังเกิดเหตุยังต่างกัน
อย่างเช่น มีประกาศกระทรวงนครบาล ว่า ด้วยเหตุเพลิงไหม้ที่ถนนเจริญกรุง ที่มีร้านค้าบ้านเรือนหลังคามุงจาก และฝาไม้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริว่า โรงเรือนเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งยังสกปรก ไม่เจริญตาแก่ผู้สัญจรไปมา จึงโปรดเกล้าฯ ออกประกาศ ห้ามไม่ให้ผู้ปลูกสร้างด้วยไม้ หรือไม้ไผ่ ในตำบลเพิ่งเกิดเพลิงไหม้
หลังเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2449 ในอำเภอสำเพ็ง ที่บ้านเรือนตั้งเบียดเสียดกัน ทางเข้าออกคับแคบคดเคี้ยว พนักงานจะสูบน้ำเข้าดับเพลิงไม่ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาล ตัดถนนกว้าง 5 วา หรือ 10 เมตร ตั้งแต่ถนนราชวงศ์ ไปออกคลองโรงกระทะ
หรือหลังเพลิงไหม้ ที่ตำบลตลาดน้อย วันที่ 26 ธันวาคม และวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2466 มีประกาศให้ขยายถนนเยาวราช และถนนตลาดน้อย
ถนนหลายสายในเยาวราช จึงมาจากเหตุเพลิงไหม้ อาทิ ถนนราชวงศ์ จากถนนเจริญกรุง ผ่านถนนเยาวราช ไปสิ้นสุดท่าน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาจากเหตุเพลิงไหม้ตรอกกงสีลังเมื่อปี 2435
ถนนทรงวาด เริ่มจากถนนราชวงศ์ ตรงใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์ ไปสิ้นสุดที่ถนนเจริญกรุง ใกล้กับตลาดน้อย และถนนอนุวงศ์ เริ่มจากถนนจักรวรรดิ สิ้นสุดถนนราชวงศ์
ส่วนถนนวานิชหนึ่ง เริ่มจากถนนจักรวรรดิ ผ่านถนนราชวงศ์ ไปถึงถนนโยธา หลังจากเกิดเพลิงไหม้หลายครั้งระหว่างปี 2449-2450 ถนนทรงสวัสดิ์ เริ่มจากถนนเจริญกรุง ผ่านเยาวราช ถึงถนนทรงวาด ถนนวานิช 1 และถนนโยธา ตัดขึ้นหลังเหตุ พ.ศ.2449
ยังมี ถนนพาดสาย จากถนนเยาวพานิช ถึงถนนทรงสวัสดิ์ ที่มาจากเหตุไฟไหม้ศาลเจ้าอาเนี้ยเก็ง พ.ศ.2451
ในรายงานวิจัย จึงสรุปว่า ระบบการจราจรที่คล่องตัว บริเวณย่านการค้าไชน่าทาวน์ในวันนี้ มาจากการตัดถนนมากมาย หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้แต่ละครั้ง
รวมทั้งสภาพภูมิทัศน์ที่กำลังไวรัลอยู่ในตอนนี้ ก็มาจากการประกาศเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ แนวอาคาร ทางหนีไฟ เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในเวลาต่อมา
คงเป็นเพราะคนรุ่นเก่ารับรู้และเข้าใจปัญหาบ้านเมือง จึงอาศัยวิกฤตเพลิงไหม้ เป็นโอกาสสร้างบ้านเมือง ให้คนอยู่อย่างปลอดภัย และมีความสวยงามเป็นที่รู้จักทั่วโลก •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

