

เรื่องของการใช้ระบบ “ภาษีติดลบ” หรือ Negative Income Tax (NIT) ที่รัฐบาลแพทองธารเขียนระบุไว้ในคำแถลงนโยบายจะทำได้แค่ไหน และตอบโจทย์ปัญหาของประเทศหรือไม่ ต้องวิเคราะห์ว่าจะเอาเงินมาจากไหน?
คุ้มค่าหรือไม่?
และหากเปรียบเทียบกับ Universal Basic Income (UBI) ที่เป็นอีกวิธีหนึ่งของการช่วยสร้าง “ตาข่ายความปลอดภัยของสังคม” หรือ Social Safety Net ให้กับพลเมือง ระบบไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
คำถามใหญ่คือไม่ว่าวิธีไหนจะดีเพียงใด หากไม่มีเงินก็คงทำไม่ได้
จึงต้องพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายของทั้งสองระบบเป็นอย่างไร
ชัดเจนว่า NIT มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า UBI เพราะเป็นระบบที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เท่านั้น ไม่ได้แจกเหวี่ยงแห
แต่กระนั้นก็ตาม ค่าใช้จ่ายยังคงสูงอยู่
หากเกณฑ์รายได้ถูกตั้งไว้สูง หรือมีประชากรจำนวนมากที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์
UBI แพงกว่าเพราะก่อนอื่นต้องคำนวณว่ารายได้พื้นฐานระดับไหนจึงจะเป็นเพียงพอสำหรับประชาชนทุกคนในอันที่จะ “อยู่ได้” แต่ไม่ “อยู่สบายเกินไป” จนไม่อยากหางานทำเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับตนเอง
เรื่องใหญ่คือรัฐบาลต้องหารายได้เพิ่มอย่างมหาศาลหากจะเดินหน้าทำเรื่อง NIT หรือ UBI
เอาง่ายๆ เลย…ถ้ารัฐบาลไม่มีความกล้าหาญทางการเมืองหรือความเก่งกล้าสามารถในการปฏิรูประบบภาษีเพื่อเก็บภาษีเพิ่มอย่างเป็นกอบเป็นกำ และลดค่าใช้จ่ายในทุกๆ ด้านอย่างจริงจัง
อีกทางหนึ่งก็คือการกู้มา
แต่การกู้มาเพื่อทำนโยบายแจกเงินอย่างนี้ย่อมเข้าข่ายเป็นหนทาง “สิ้นคิด”
ต้นทุนของการนำระบบ NIT มาใช้ย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของประชากรที่มีสิทธิ์ เกณฑ์รายได้ และอัตราเงินอุดหนุน
เพราะ NIT ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ต้นทุนโดยรวมของระบบจึงต่ำกว่า UBI
แต่ NIT มีเป้าหมายชัดเจนกว่า ซึ่งหมายความว่าเงินจะถูกแจกจ่ายเฉพาะผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น
โดยหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินจำนวนมากให้กับบุคคลที่มีรายได้สูงกว่าซึ่งไม่จำเป็นต้องให้รัฐช่วยแต่อย่างใด
NIT ยังเปิดทางให้ลดค่าใช้จ่ายของรัฐแบบค่อยเป็นค่อยไป
เพราะเมื่อรายได้ของผู้รับเพิ่มขึ้นก็จะช่วยลดรายจ่ายของรัฐบาล
ในระบบ UBI ทุกคนจะได้รับเงินเท่ากันโดยไม่คำนึงถึงรายได้
นั่นแปลว่า รัฐบาลจะต้องเพิ่มภาษีเป็นจำนวนมหาศาล หรือไม่ก็จัดสรรเงินจากส่วนอื่นๆ ของงบประมาณ เช่น การรักษาพยาบาล การป้องกันประเทศ หรือการศึกษา
ซึ่งก็จะสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศ
และจะเผชิญกับแรงต่อต้านจากทั้งภายในรัฐบาลและประชากรกลุ่มอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นักการเมืองคิดเรื่องเหล่านี้เพราะมองดูความนิยมทางการเมืองที่จะมาจากการแจกเงินให้ประชาชน
กลุ่มนักการเมืองที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้าเห็นว่า NIT สามารถสร้าง “ตาข่ายนิรภัยให้คนจน”
นักการเมืองค่ายนี้สามารถจะหาเสียงด้วยการบอกว่า NIT คือแนวทางการช่วยลดความยากจนของบ้านเมือง
สอดคล้องกับเป้าหมายความยุติธรรมทางสังคม
สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยม นักการเมืองอาจจะอ้างว่าการใช้ระบบ NIT ทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งยังสามารถกำหนดกรอบเป็นนโยบายที่สนับสนุนการหางานทำได้ด้วย
เพราะภายใต้ NIT นั้น เงินอุดหนุนจากภาษีประชาชนจะลดลงเมื่อรายได้ของแต่ละคนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยจูงใจให้มีการจ้างงาน
ที่ผ่านมา NIT ได้รับเสียงเชียร์จากพรรคการเมืองทั้งสองขั้ว
นักเศรษฐศาสตร์คนดัง Milton Friedman ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นฝั่งอนุรักษนิยมสนับสนุน NIT ในช่วงทศวรรษ 1960
ด้วยเชื่อว่าระบบนี้สามารถแทนที่ระบบสวัสดิการสังคมเพราะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและติดขัดในระบบราชการน้อยลง
เมื่อ NIT ไม่ต้องควักเงินจ่ายอุดหนุนทุกคนแบบ “ถ้วนหน้า” จึงมักเผชิญกับการต่อต้านทางการเมืองน้อยกว่าระบบ UBI
แต่ก็ใช่ว่ากลุ่ม NIT จะปราศจากแรงต้านเสียเลยทีเดียว
ความท้าทายทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นประการหนึ่งของ NIT คือการประทับตราว่าเป็น “สวัสดิการตามรายได้”
ทำให้เกิดการตีความว่าจะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ “สมควร” ได้รับความช่วยเหลือ
ด้วยเหตุนี้จึงอาจจะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายลดน้อยลง
อีกทั้งยังมีคนโต้แย้งได้ว่า การนำ NIT ไปใช้สู้ระบบรัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่งและครอบคลุมไม่ได้เลย
คนชอบ UBI อ้างว่าระบบนี้มีความ “เท่าเทียม” ตรงที่ว่าทุกคนได้เงินช่วยเหลือจากรัฐเท่ากัน
จึงไม่สร้างความแตกต่างทางสังคมระหว่างผู้รับที่ “สมควรได้รับ” และ “ไม่สมควรได้รับ”
และแนวคิด UBI เข้าใจง่ายกว่าเพราะทุกคนจะได้รับเงินเท่ากัน
เป็นการหลีกเลี่ยงระบบราชการที่ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร NIT หรือโครงการสวัสดิการอื่นๆ
ในแง่หนึ่ง UBI ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มก้าวหน้าซึ่งมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ “กล้าหาญ” ในการต่อสู้กับความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งยังเป็นกันชนสำหรับผู้คนในการปรับตัวกับลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกที่ระบบอัตโนมัติคุกคามงานจำนวนมาก
UBI ยังดึงดูดใจผู้รักอิสระที่ชอบโอนเงินสดมากกว่าโปรแกรมที่รัฐบาลดำเนินการซึ่งกำหนดว่าควรใช้สิทธิประโยชน์อย่างไร
คนไม่ชอบ UBI โต้แย้งว่าระบบนี้การจ่ายเงินให้ทุกคนรวมถึงคนรวยเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
และค่าใช้จ่ายที่สูงของ UBI ทำให้การนำไปปฏิบัติมีความท้าทายทางการเมือง
เพราะในท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องขึ้นภาษีอย่างหนักหรือไม่ก็ต้องจัดสรรบริการที่จำเป็นอื่นๆ ใหม่
อีกทั้งยังอาจจะเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มประชากรที่เชื่อว่าการโอนเงินสดโดยไม่มีเงื่อนไขจะทำให้การทำงานลดลงและส่งเสริมการพึ่งพารัฐบาลมากขึ้น
เป็นการสร้าง “พลเมืองเกียจคร้าน” ไม่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม
กลายเป็นประเทศที่ผู้คนงอมืองอเท้า ชื่นชมแต่รัฐบาลที่มีนโยบาย “ลด แลก แจก แถม” เท่านั้น
สหรัฐอเมริกาใช้ NIT ในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ในบางเมือง เช่น ซีแอตเทิลและเดนเวอร์
โดยแจกเงินสดแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยตามระดับรายได้
แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่ได้ใช้ NIT อย่างแพร่หลายมากขึ้นแต่การทดลองครั้งนั้นก็กลายเป็นพื้นฐานให้กับการพัฒนาระบบเครดิตภาษีรายได้ที่ได้รับ (Earned Income Tax Credit : EITC)
อันเป็นรูปแบบหนึ่งของภาษีรายได้ติดลบสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย
แคนาดาทดลอง Mincome (ระหว่างปี 1974-1979) ในเมืองแมนิโทบา
โดยได้ทดสอบระบบ NIT ในเมืองดอว์ฟิน ซึ่งผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยได้รับรายได้ขั้นต่ำที่รับประกัน
โครงการนี้ถึงจะยุติไปแล้ว ต่อมาการศึกษาหลังจากนั้นพบผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม เช่น อัตราการเข้าโรงพยาบาลที่ลดลงและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
ฟินแลนด์เปิดโครงการนำร่อง UBI เป็นเวลาสองปี (2017-2018)
โดยให้ประชาชนที่ว่างงาน 2,000 คน รับเงินเดือนละ 560 ยูโร โดยไม่คำนึงถึงรายได้อื่นๆ หรือการหางานทำ
แม้ว่าผลกระทบต่อการจ้างงานจะมีจำกัด แต่การทดลองนี้ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดความเครียด
อิหร่าน : ตั้งแต่ปี 2010 อิหร่านได้ใช้รูปแบบของ UBI ผ่านการโอนเงินสด
หลังจากยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงและอาหาร ประชาชนทุกคนจะได้รับเงินสดเป็นประจำ
แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการลดความไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็เผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อและสภาวะเศรษฐกิจในวงกว้าง
เคนยา : ในปี 2016 องค์กรการกุศล GiveDirectly ได้เริ่มการทดลอง UBI ระยะเวลา 12 ปีในชนบทของเคนยา
หลายพันคนในหมู่บ้านต่างๆ ได้รับเงินสดเป็นประจำ ผลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และการศึกษา
นักการเมืองไทยพรรคไหนกล้าคิดก็ต้องกล้าทำ
นั่นคือต้องบอกกล่าวกับประชาชนก่อนว่าจะปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่อย่างไร
เพราะถ้าไม่กล้าเก็บภาษีคนมีเงินอย่างจริงจังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็อย่าได้คุยโม้โอ้อวดว่าจะกล้าทำเรื่อง NIT หรือ UBI เลย
เพราะหากจะช่วยคนจนจริงก็ต้องกล้าเก็บภาษีคนรวยอย่างเป็นกอบเป็นกำ
อย่างหลังนี้ต้องใช้ความ “กล้าหาญทางการเมือง” (political will) อย่างมาก
ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดในการเมืองไทยวันนี้!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022