

เพื่อนผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอธิบายสรุปให้ผมฟังสั้นๆ ว่า เมื่อภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีกลาโหม แล้วอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญคือ เรื่องโยกย้ายนายทหาร
รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ทำอะไรไม่ได้มาก ท่านอาจไม่เหมือนสุทิน คลังแสง ที่เป็นแค่โฆษกกองทัพ แต่การทำอะไรไม่ได้มาก ส่งผลให้ทักษิณ ชินวัตร อ่อนแอทางการเมือง มีกองทัพท้าทายได้ง่าย มีผลต่อพรรคเพื่อไทย
ร้ายกว่านั้น ไม่อาจคุ้มครองทางการเมืองแก่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร
ผมคิดดูแล้วลองค้นคว้าดู จริงหรือไม่ประการใด
จากสุทิน คลังแสง
ถึงภูมิธรรม เวชยชัย
ความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พลเรือนจะเข้ามาดูแลกองทัพในประเทศไทย
สุทิน คลังแสง ใช้การประนีประนอมและอ่อนโยนต่อกองทัพเพื่อลดอะไรที่อาจเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกันได้
แต่เขาก็ทำได้แค่งานพิธีการและพูดจาด้วยภาษาดอกไม้ เรื่องใหญ่เช่นนี้ตกอยู่กับภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เป็นมือการเมือง คนไว้ใจและนักบริหารการเมืองชั้นดี จึงถูกจัดวางในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นสายตรงของทักษิณ ชินวัตร เพื่อปกป้องคุ้มครองนายกรัฐมนตรี แพทองธารจากการแทรกแซงทางการเมือง และถ้าเป็นไปได้ ควรได้รับการสนับสนุนจากกองทัพด้วย
ดังนั้น ภูมิธรรมจึงระดมขุนพลและสรรพกำลังซึ่งจริงๆ ก็คือ ทีมงานความคิดและงานการเมืองของทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง
พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัศมี เป็นเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม ท่านไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงความมั่นคง กองทัพและการเมือง ท่านทำงานร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมสมัยรัฐบาลทักษิณ
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ท่านยังเป็นผู้นำทีมเตรียมทหารรุ่น 10 เดินทางไปพบทักษิณ ชินวัตร ที่ดูไบ เมื่อกันยายน 2552 แล้วนำคนเหล่านั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แล้วทำงานการเมืองต่างๆ เช่น ทำงานการเลือกตั้งในภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง1
ไม่เพียงแค่นี้ ภูมิธรรมยังได้ทีมงานชุดใหม่ที่เป็นเตรียมทหารรุ่น 10 มาร่วมงาน พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.วุทธิ์ วิมุกตะลพ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม2
อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่า ด้วยแรงผลักดันทางการเมือง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม ที่ไม่ใช่โควต้าของพรรคเพื่อไทย แต่มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านผู้นี้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตนายทหารพิเศษ คนละกลุ่มความคิดพรรคเพื่อไทยเลย
งานท้าทายหรือการถ่วงดุล
ในคำสัมภาษณ์ ภูมิธรรม ทำงานร่วมกันด้วยดีมากกับผู้นำเหล่าทัพ มีการประชุมร่วมกัน รับประทานข้าวร่วมกัน ปรึกษา 7 เสือกลาโหม
ภูมิธรรมพูดว่า ท่านไม่มีความปรารถนาให้รุ่นใดของกองทัพชี้นำกองทัพ3 แสดงว่าท่านยืนยันว่า ฝ่ายการเมืองมิได้สนับสนุนเตรียมทหารรุ่น 10 ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของทักษิณ ชินวัตร แต่ปรากฏว่า การถ่วงดุลจากกองทัพก็เห็นได้ชัดตั้งแต่เริ่มต้น
กองทัพเรือ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ยืนยันให้ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 23 ที่จบจากโรงเรียนนายเรือเยอรมันเป็นผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ ตามที่เสนอมาตั้งแต่ต้น แม้ว่าถูกสมาชิกในบอร์ด 7 เสือกลาโหมท้วงติง และมีกระแสต้านในกองทัพเรือ
โดยจะส่งผลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กองทัพเรือยุคใหม่ ที่ผู้บัญชาการทหารเรือจบจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศ ไม่ได้จบโรงเรียนนายเรือ สมุทรปราการ ถือเป็นการแหวกม่านประเพณี จากนี้ไปจะทำให้เกิดธรรมเนียมใหม่คือ ไม่ว่าจบโรงเรียนนายเรือไทย หรือต่างประเทศ ก็เป็นผู้บัญชาการทหารเรือได้
รวมถึงไม่ต้องผ่านตำแหน่งหลักเช่นที่ผ่านมา เช่น ต้องเป็นผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำต่างประเทศ และต้องเป็นผู้บังคับหน่วยสายกำลังรบทางเรือ
กองทัพบก ในขณะที่ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหาร เตรียมทหารรุ่น 26 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่
ส่วน พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เตรียมทหารรุ่น 24 ข้ามไปกองบัญชาการกองทัพไทย คาดว่าจะได้เป็นเสนาธิการทหาร เพื่อเตรียมจ่อขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อจาก พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี
นอกจากนี้ พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เตรียมทหารรุ่น 24 อีกคนถูกส่งข้ามไปเป็นรองปลัดกลาโหมเตรียมจ่อเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ต่อจาก พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์เกษียณ 30 กันยายน 2568
เท่ากับว่า กองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหาร ปลัดกระทรวงกลาโหม มีพลังจากภายในกองทัพจัดวางผู้บังคับบัญชาแทบจะหมดแล้ว โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่น่าจะเห็นชอบ
จนมีการวิเคราะห์ว่า พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 บอร์ด 7 เสือกลาโหม ถูกมองว่าเป็นเกราะกำบังทางการเมืองไม่ให้ล้วงลูก แทรกแซงกองทัพได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าหากผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ยินยอมก็ไม่มีใครมาบังคับได้
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจในกองทัพของฝ่ายทหารเอง แล้วยังคานอำนาจรัฐมนตรีด้วย เพราะ พล.อ.พนา สนิทกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นี่ส่งสัญญาณตรงไปที่ทักษิณด้วย4
ย้อนพินิจ
ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังจากการตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2544 หลังจากนั้นเขานำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย 2 ครั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัยต่อเนื่องคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นอกจากบุคลิกส่วนตัวและนโยบายประชานิยม ทักษิณเข้าใจดีถึงพลังอำนาจของกองทัพ
เขาจึงเคลื่อนไหวทะลุทะลวงไปที่กองทัพ โดยใช้กลุ่มเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ยกแผงกุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพ แล้วเตรียมการเปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
มีเรื่องเล่าว่า ทีมงานของเขาติดตามการเคลื่อนไหว พล.อ.สนธิ ถึงขนาดทีมงาน พล.อ.สนธิ ต้องไปเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือที่ห้างมาบุญครอง หันมาใช้วิทยุสนาม เพื่อไม่ให้ถูกติดตามตัว
แล้วทักษิณก็ชะล่าใจ นึกว่านายทหารที่เป็นมุสลิม เป็นทหารพลร่ม ไม่มีกองกำลังของตัวเองจะทำรัฐประหารได้ ในที่สุด ลับลวงพราง ทหารพลร่มนั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ ประสานกับทหารของแม่ทัพภาคที่ 1 ก็เคลื่อนกำลังทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
แม้ตัวละครและบริบททางการเมืองไม่เหมือนปี 2549 แต่ความพยายาม และวิธีคิดของทักษิณ ชินวัตร ก็เหมือนเดิม แต่ภารกิจตกมาที่ภูมิธรรม เวชยชัย
1อ้างจากรายการ เจาะลึกทั่วไทย ช่อง 9 อสมท 17 กันยายน 2567
2“ผบ.เหล่าทัพ ตั้งแถว” สยามรัฐ 16 กันยายน 2567
3รายการ เจาะลึกทั่วไทย 17 กันยายน 2567
4อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ “ข้อสังเกตบางประการ กองทัพกับพรรคเพื่อไทย” มติชนสุดสัปดาห์ 16 กันยายน 2567
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



