

ดูเหมือนว่า กระแสมิกซ์ยูส จะมาแรงในตอนนี้ ทั้งโครงการ ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค และอภิมหาโครงการ วันแบงคอก ที่ใกล้จะเปิดตัว
ทั้งสองโครงการประกอบด้วย โรงแรม อาคารชุดพักอาศัย สำนักงาน และศูนย์การค้า มิกซ์รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ต่างไปจากโครงการอสังหาริมทรัพย์รุ่นเก่า ที่เป็นแบบการใช้สอยเดี่ยว
ส่วนหนึ่งมาจากขนาดโครงการรุ่นเก่ามีขนาดเล็ก พื้นที่ไม่มาก อีกส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นความเข้าใจของนักเรียนนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นตอของผังการใช้ที่ดินแยกสี แยกโซน พักอาศัย ศูนย์การค้า และศูนย์กลางธุรกิจ ที่เป็นต้นทางของบ้านจัดสรรชานเมืองบ้านเรา
ซึ่งแตกต่างไปจากบ้านเมืองในยุโรป ที่เมืองต่างๆ ล้วนมีที่มาจากหมู่บ้าน ชุมชน หรือเมืองโบราณ การใช้พื้นที่จึงปะปนกัน
ชั้นล่างติดถนนอาจเป็นร้านค้า ร้านกาแฟ ชั้นบนอาจเป็นสำนักงาน และอยู่อาศัย ตลาด มักจะอยู่ใกล้โบสถ์และโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับอดีตความเป็นมา
ที่จริงบ้านเมืองไทย ก็เป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่นักผังเมือง นักวิชาการ อยากให้เป็นเหมือนบ้านเขา เลยวางผังแยกสีแบบเขา ที่กลายเป็นภาพวาดสีสวยงาม ประดับสำนักงาน และรายได้เสริมของอาจารย์ผังเมือง
มองบ้านมองเมือง อยากพาไปมอง รากเหง้าของเรา ของบ้านเมืองเรา โดยเลือกเอาพื้นที่เล็กๆ ตรง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ด้วยมีข้อมูลน่าสนใจ คัดลอกมาจากเอกสารประวัติศาสตร์ คือ สารบาญชี พ.ศ.2426 เล่ม 2 ที่ระบุว่าชุมชน ตรอกหลังบ้านบาท (บ้านบาตร) ริมวัดสะเกษ (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) มีผู้อยู่อาศัยทำการค้าดังนี้
อู่ซุง ข้างวัดสะเกษ
นายทัต เปน หลวงกาหนพลภักดี กรมพระกลาโหม ขายขนมต่างๆ เรือนฝากระดาน
นายพิน บุตร นายจุน ขึ้นกรมช่างเขียน ในพระราชวังบวร ขายหมากสมัค เรือนฝาจาก
นายแดง เปน สุภาไช นอกราชการ ทำสวน เรือนฝากระดาน
นายแดง เปน ขุนประชาสืบราช ปลัดนั่งสาร กรมกลาโหม เรือนฝากระดาน
นายรื่น เปน ที่พันกิริยา ขึ้นกรมชั่งทหาร สานโอขาย เรือนฝากระดาน
อำแดงบู่ บุตร นายเขียว สานโอขาย เรือนฝาจาก
จีนสุด แซ่เหล่า ทำไม้ขาย เรือนฝากระดาน
อำแดงปุย บุตร หลวงรัชชานนท์ สานโอขาย เรือนฝาจาก
อำแดงกิม บุตร หลวงรัชชานนท์ สานโอขาย เรือนฝาจาก
นายยัง เป็น หมื่นอุดมพินิจ ขึ้นกรมช่างสลัก เรือนฝาจาก
อำแดงโพ บุตร อำแดงวัน ทำโอขาย เรือนฝาจาก
นายชุ่ม บุตรอำแดงบัว ขึ้นกรมมหาดเล็ก ทำไหมขาย เรือนฝากระดาน
นายยิ้ม บุตรนายจัน ขึ้นกรมมหาดเล็ก ทำโอขาย เรือนฝาจาก
นายโพ บุตรพระยาจินดารังสัน เรือนฝากระดาน
สารบาญชีนั้น เป็นคล้ายสมุดโทรศัพท์รุ่นเก่า ที่ไม่ได้เรียงตามอักษรชื่อ แต่เรียงลำดับตามเลขที่บ้าน ตามตรอก ซอย ถนน หรือคลอง จัดทำขึ้น ตามพระบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเก้าเจ้าอยู่หัว สั่งให้กรมไปรษณีย์ เพื่อใช้ในการส่งไปรษณีย์ ให้เป็นระบบและง่ายขึ้น
แม้ว่าสารบาญชี จะทำขึ้นเพื่อกิจการไปรษณีย์ แต่กลับกลายเป็นข้อมูลที่มีค่า เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ ใช้อ้างอิงเรื่องต่างๆ เหมือนเรื่องมิกซ์ยูส
จากข้อมูลไม่กี่บรรทัด แสดงให้เห็นว่า แค่ในตรอกเล็กๆ มีทั้งโรงไม้ บ้านพักอาศัย และร้านค้า
ยังมีอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือโอ ที่หมายถึง ภาชนะรูปคล้ายขันน้ำขนาดใหญ่ สำหรับใส่ของ มักทำเป็นเครื่องเขินหรือเครื่องสาน ดังนั้น ที่พูดกันทุกวันนี้ ว่า ถ้วยโถโอชาม ทุกคำล้วนหมายถึงภาชนะทั้งสิ้น
ตรอกหลังบ้านบาทนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายโอแล้ว ยังมีร้านค้าไม้ เพราะติดกับโรงเลื่อยไม้ บ้านขายขนมและขายหมาก มีอยู่บ้างเหมือนกันที่เจ้าของใช้เป็นเพียงที่พักอาศัย และออกไปทำงานตามกรมกองต่างๆ อีกทั้งมีอยู่รายหนึ่งครอบครองที่ดินกว้างพอที่จะทำสวน
ข้อมูลในสารบาญชีของตรอกอื่น ถนนอื่น ล้วนเป็นแบบเดียวกัน คือมีอาคารสิ่งก่อสร้างหลายรูปแบบ หลายวัสดุ ที่ผู้ครอบครอง อาศัยอยู่อย่างเดียว หรือรับจ้างทำของ เปิดร้านค้าปะปนกันไป ที่เลือกขานว่า มิกซ์ยูส ได้แน่นอน
เมื่อรากฐานบ้านเมืองเราเป็นแบบนี้แล้ว มาตรการกำหนดสี กำหนดโซน จึงกลายเป็นเรื่องตลก คล้ายว่าผู้ที่วางผังเมือง ไม่เคยอยู่อาศัยในบ้านเมืองนี้ •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022