

“หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร” หรือ “พระไพโรจน์วุฒาจารย์” วัดท่ากระบือ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี
สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ รวมทั้งร่วมพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญอยู่เสมอ
ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมเสาะหากันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด เสือยันต์ ผ้ายันต์ ธงยันต์ หนังหน้าผากเสือ แหวนพิรอด ลูกสะกด ฯลฯ
เฉพาะ “เหรียญรุ่น 1 และรุ่น 2” จนได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เป็นที่ต้องการอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีเหรียญรูปเหมือนอีกรุ่น ที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญหล่อสามเหลี่ยม”
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2491 สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีหล่อพระประธานของวัดท่ากระบือ ซึ่งจัดเป็นวัตถุมงคลที่ไม่ได้ปลุกเสกเดี่ยว แต่ใช้การจัดพิธีปลุกเสกใหญ่ที่วัดท่ากระบือแทน โดยนำเหรียญเงิน 1 บาท สมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 6 ที่ได้สะสมไว้จำนวน 2,600 เหรียญ เข้าหลอมด้วย จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้
ในพิธีนี้ หลวงพ่อรุ่งสร้างพระเครื่องเนื้อโลหะชนิดพิมพ์นางพญาไว้ด้วย แต่ก็ไม่ได้แจกให้กับผู้ใด โดยนำไปบรรจุกรุทั้งหมด
ลักษณะเป็นเหรียญหล่อทรงสามเหลี่ยม ด้านหน้า เป็นจำลองพระพุทธรูปหรือพระประธานภายในอุโบสถของวัดท่ากระบือ องค์พระเป็นปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัว 2 ชั้น
ด้านหลัง มียันต์ อ่านได้ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ มะ อะ อุ อิ สวา สุ พุท ธะ สัง มิ”
ได้รับความศรัทธาอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นผู้ที่มีพลังจิตแก่กล้า
ด้วยเหตุนี้ของดีวัตถุมงคลต่างๆ จึงมีคุณวิเศษทุกด้าน สมกับเป็นพระอาจารย์อันดับหนึ่งที่อยู่ในใจของชาวสมุทรสาครตลอดมา
จนได้ฉายาว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน”

เหรียญหล่อสามเหลี่ยม หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
อัตโนประวัติถือกำเนิดในสกุล พ่วงประพันธ์ เมื่อวันเสาร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา พ.ศ.2416 ที่ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
ในวัยเยาว์เข้าศึกษาความรู้เบื้องต้น ร่ำเรียนหนังสือไทย ขอม ตลอดจนภาษาบาลีและมูลกัจจายน์กับพระอุปัชฌาย์ทับ เจ้าอาวาสวัดน้อยนพคุณ กรุงเทพฯ
ต่อมา เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2437 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย มีพระอุปัชฌาย์ทับ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการบัว วัดใหม่ทองเสน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เคลือบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายา ติสสโร
เพียง 2 วันจากบวช ย้ายไปอยู่ที่วัดท่ากระบือ ซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ มีพระภิกษุร่วม เป็นเจ้าสำนัก
หลังจากนั้น ศึกษาทางพุทธาคมกับพระอาจารย์อีกหลายสำนัก และเดินธุดงค์ไปภาคเหนือ บางครั้งเลยเข้าไปในเขตพม่า
ใฝ่ใจศึกษาวิทยาการต่างๆ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จากพระเกจิอาจารย์หลายรูป เช่น พระอาจารย์เกิด วัดกำแพง จ.สมุทรสาคร, พระอาจารย์หลำ วัดอ่างทอง จ.สมุทรสาคร เป็นต้น
กล่าวกันว่า เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเชย วัดท่าควาย จ.สิงห์บุรี มีการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ด้านอาคมซึ่งกันและกันด้วย
ต่อมาเมื่อพระภิกษุร่วมสึกออกไป จึงได้รับตำแหน่งเจ้าสำนักสืบแทน
หลังจากนั้นต่อมา สภาพสำนักสงฆ์ ได้รับการยกฐานะกลายเป็นวัดท่ากระบือขึ้นมา ท่านทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ สร้างวัดท่ากระบือให้เจริญรุ่งเรืองเป็นวัดใหญ่โตวัดหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร

หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร
กล่าวถึงประวัติ วัดท่ากระบือ แต่เดิมเป็นเพียงแค่สำนักสงฆ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 ติดกับแม่น้ำท่าจีน ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด เดิมชื่อว่า “วัดท่าควาย” เนื่องจากเคยเป็นท่าน้ำสำหรับวัวควายลงกินน้ำและเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดท่ากระบือ จวบจนปัจจุบัน
ตามปกติเป็นผู้สนใจในการแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เจริญสมถวิปัสสนาในสำนักวัดสุนทรประสิทธิ์ จนมีความรู้แตกฉานในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้ท่านมีอำนาจจิตเป็นอย่างสูง สามารถสร้างเครื่องรางของขลังเป็นที่เลื่องลือ
การธุดงค์ทุกครั้ง เมื่อเดินทางกลับมาถึงวัดท่ากระบือ มักจะติดของดีหรือวัตถุมงคลมาแจกลูกศิษย์อยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อลูกศิษย์ทราบข่าวว่ากลับมาที่วัด จะรีบพากันออกจากบ้านตรงไปยังวัดท่ากระบือ เพื่อมนัสการ พร้อมกับถือโอกาสขอวัตถุมงคลที่ได้จากการธุดงค์ในคราวนั้นด้วย
ด้านศีลาจารวัตร เป็นพระที่มีคุณธรรมอันประเสริฐ เคร่งครัดพระธรรมวินัย เปี่ยมไปด้วยเมตตา มีความมักน้อย และถ่อมตน ถือเอกาฉันจังหันวันละมื้อตลอดชีวิต
พัฒนาด้านการศึกษาสำหรับพระภิกษุ-สามเณรและเด็กนักเรียนในชุมชนละแวกวัด โดยสร้างหอเรียนพระปริยัติธรรม รวมถึงโรงเรียนประชาบาลขึ้น
ด้านการเผยแผ่ธรรม แสดงพระธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธบริษัท จัดส่งพระภิกษุไปแสดงธรรมในวันธรรมสวนะ ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิภาวนา
ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2442 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ากระบือ
พ.ศ.2474 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน
พ.ศ.2483 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูไพโรจน์มันตาคม
พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระไพโรจนวุฒาจารย์
มรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2500 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64
พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2501 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022