
ปิดจ๊อบแจกเงินหมื่นเฟสแรก หล่อเลี้ยงชีวิตกลุ่มเปราะบาง ลุ้นเฟส 2 แจก 1.87 แสนล้าน

ลุล่วงไปแล้ว สำหรับ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ” กลุ่มเป้าหมายรวมกว่า 14.5 ล้านราย
ซึ่งโอนเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิ เมื่อช่วงวันที่ 25-30 กันยายนที่ผ่านมา แบ่งเป็น วันที่ 25 กันยายน โอนจำนวน 3,167,565 ราย, วันที่ 26 กันยายน โอนจำนวน 4,505,454 ราย, วันที่ 27 กันยายน โอนจำนวน 4,511,025 ราย และวันที่ 30 กันยายน โอนจำนวน 2,254,584 ราย
โดยโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณจาก 2 ส่วน คือ เงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบฯ กลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
และเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 งบฯ กลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อีกไม่เกิน 23,552.40 ล้านบาท
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ถือเป็น “เฟสแรก” ของนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่แต่เดิมจะทำ “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” กลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านรายในคราวเดียวกัน แต่ด้วยข้อติดขัด ทั้งในเรื่องกระบวนการพัฒนาระบบ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่หากจ่ายผูกพันข้ามปีอาจจะมีปัญหา จึงต้องปรับเปลี่ยน
โดยการแจกเงิน 10,000 บาทนี้ นับได้ว่าเข้ามาช่วยเติมกำลังซื้อให้กับกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นไปตามข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกดังกล่าว จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจกิจที่ไม่ทั่วถึง รวมทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะข้างหน้าได้
สอดคล้องกับนายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคเหนือ กล่าวว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ไม่มีเงินหมุนเวียน การเดินหน้าแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเงินสดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือยากจน ถือว่ารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาตรงจุด เพียงแต่เป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจขนาดเล็ก ที่สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้น
“เงิน 10,000 บาทถือเป็นความหวัง เพราะประชาชนกลุ่มเปราะบางมักเป็นกลุ่มที่อยู่ในท้องที่ตัวเอง ทำให้ค่าใช้จ่ายหลัก คือ ด้านสินค้าอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบางครอบครัวได้นำเงินส่วนนี้ไปต่อยอดธุรกิจ เพราะชาวบ้านบางส่วนไปรอตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เขาน่าจะจนจริงๆ เพราะถ้าจนไม่จริงจะไม่รีบใช้เงินขนาดนั้น บางคนบอกว่าไม่ได้จับธนบัตรใบละ 1,000 บาทมานาน จำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ บางคนกำไว้แน่น กลัวหาย”
นายบุญชูกล่าวอีกว่า ในกรณีที่ประชาชนบางส่วนนำเงินไปใช้หนี้ จนอาจจะไม่เหลือเงินมาใช้สอยตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มองว่าไม่มีความกังวล เพราะส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดเป็นการกู้ยืมเงินในเครือญาติ ที่สุดท้ายแล้วเงินจะถูกนำไปหมุนเวียนในเศรษฐกิจอยู่ดี
แต่หลังจากนี้รัฐจะต้องทำอย่างไรต่อไป ที่จะสร้างประโยชน์จากแรงกระเพื่อมครั้งนี้ได้ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะต้องเร่งพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า ให้สามารถหารายได้ภายในชุมชนได้
เช่นเดียวกับนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคคึกคักขึ้น ประชาชนนำเงินมาใช้จ่ายอุปโภค-บริโภค ในขณะที่บางกลุ่มได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้ ทำให้สามารถลดความกดดันด้านค่าใช้จ่ายแล้วนำรายได้ไปจุนเจือครอบครัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่ดี เนื่องจากกำลังซื้อลดลงและปัญหาหนี้สินล้น ดังนั้น เงิน 10,000 บาท ก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจในระดับย่อมๆ ประชาชนหลั่งไหลเข้าห้างสรรพสินค้า เพราะเงิน 10,000 บาทนี้ นำไปช่วยปิดช่องว่างบางส่วน หรือเป็นการเติมความฝันเท่านั้น อย่างร้านสุกี้ชื่อดัง มีคนมาต่อคิวยาว
“การแจกเป็นเงินสดถือเป็นเรื่องที่ดี ให้ประชาชนนำเงินไปใช้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ใช้ที่ไหนก็ได้ จริงอยู่คนเป็นหนี้อาจจะไปลดหนี้ แต่หนี้ในกลุ่มคนชนบทมีไม่มาก ทั้งนี้ การแจกเงินครั้งนี้เป็นเงินเยียวยามากกว่าเงินกระตุ้น เพราะเราอ่อนกำลังมานาน เงินนี้เป็นเหมือนการเติมยาชูกำลัง ที่ต่อลมหายใจในระยะสั้น รัฐควรหามาตรการในระยะยาว เช่น มาตรการเศรษฐกิจเชิงพัฒนา การแก้ไขค่าแรง การพัฒนาคน ให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเองและท้องถิ่นได้อย่างเข้มแข็ง”
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน มีการถอนเงิน ยอดเงิน 10,000 บาท จากตู้ ATM ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มขึ้น 18.8 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 กันยายน
ขณะที่ยอดถอนเงินตู้ ATM ของธนาคารออมสิน วันที่ 25 กันยายน มีจำนวนรายการถอนเงินพุ่ง 1.76 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 2.84 เท่าตัว และวันที่ 26 กันยายน มีจำนวนรายการถอนเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 3.72 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 กันยายน
นายเผ่าภูมิกล่าวด้วยว่า สำหรับการแจกเงิน “เฟส 2” ยืนยันรัฐบาลพร้อมเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน แต่ในรายละเอียดจะต้องหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการนัดในเร็วๆ นี้ ส่วนเงินที่แจกจะเหลือ 5,000 บาทต่อรายหรือไม่นั้น ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการหารือกันอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงข้อเสนอในสังคม ขออย่าเพิ่งด่วนสรุป
“ขอให้รอผลการประชุมจากคณะกรรมการดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน”
“ส่วนเรื่องของแหล่งเงินนั้น ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะรัฐบาลได้กันวงเงินไว้เพื่อดำเนินการโครงการนี้แล้ว แม้ว่าจะมีการใช้เงินเพื่อเยียวยาอุทกภัยก็ไม่กระทบ”
“รัฐบาลจะเดินหน้าการแจกเงินเฟส 2 อย่างแน่นอน ผู้ที่ลงทะเบียนแล้วมีสิทธิทุกคน แต่จะแจกในมิติไหน รูปแบบไหน วิธีการอย่างไร ระยะเวลาไหน ต้องรอคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”
ทั้งนี้ ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 ซึ่งมีรายจ่ายสำคัญคือ รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 187,700 ล้านบาท ที่เป็นการเตรียมวงเงินไว้สำหรับ “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” นั่นเอง
สุดท้าย รัฐบาลคงมีการ “แจกเงิน เฟส 2” ออกมาอย่างแน่นอน แต่รูปแบบ รายละเอียดจะแตกต่างไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



