เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ประชาชนคือความจริงของประเทศ

17.10.2024

คนจำนวนมากเคยพูดว่าคุณแพทองธาร ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีโดยประชาชนไม่ให้เวลาฮันนีมูน

และหลังจากคุณแพทองธารครองอำนาจการเมืองสูงสุดในประเทศได้ไม่ถึงสองเดือน “กระแส” การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ขยายตัวราวกับคุณแพทองธารเป็นนายกฯ มาสองปีแล้ว

และยิ่งนานคำวิจารณ์ก็เข้มข้นขึ้นทุกวัน

น่าสนใจว่า “กระแส” วิจารณ์รัฐบาลขยายตัวทั้งที่รัฐบาลเพิ่งแจกเงินแสนกว่าล้านจนคุณแพทองธารควร “กระแส” ดี

แต่คนเดินตลาดทราบดีว่าการแจกเงินรอบนี้ส่งผลต่อการค้าขายระดับรากหญ้าน้อยมาก

พ่อค้าแม่ค้าพูดตรงกันหมดว่า “แจกเงินหมื่น” กระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่า “คนละครึ่ง” จนไม่มีอะไรเถียงได้เลย

ใครตามข่าวการเมืองย่อมรู้ดีว่าพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณ ชินวัตร หวังใช้การแจกเงินสร้าง “กระแส” กลบเกลื่อนการตระบัดสัตย์ของรัฐบาล

แต่เมื่อพายุหมุนทางเศรษฐกิจลงเอยเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำตามที่พรรคประชาชนประเมิน

นโยบายรัฐก็เป็นแค่ราคาคุยซึ่งช่วยลดความไม่พอใจการตระบัดสัตย์ไม่ได้เลย

 

ล่าสุด การแต่งตั้งคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ก็ทำให้คุณแพทองธารถูกวิจารณ์มากขึ้นไปอีก

ตัวคุณณัฐวุฒิก็ถูกวิจารณ์จากผู้สนับสนุนเองด้วย เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่พลอยฟ้าพลอยฝนโดนไปด้วย ทั้งที่ปกติแล้วการตั้งที่ปรึกษาควรทำให้รัฐบาลได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีเสียงวิจารณ์มากขึ้นอย่างปัจจุบัน

คุณณัฐวุฒิเคยร้องห่มร้องไห้ออกจอทีวีว่าขอยุติบทบาทกับเพื่อไทยเพราะรับไม่ได้ที่จับมือพรรค 2 ลุง

ทันทีที่คุณณัฐวุฒิรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ทั้งที่คุณแพทองธารก็ได้เป็นนายกฯ เพราะ 2 ลุง คำวิจารณ์ว่าคุณณัฐวุฒิกลับลำ, กลืนน้ำลายตัวเอง, กลับกลอก, ตระบัดสัตย์ ฯลฯ จึงดังกึกก้องลุกลามไปยังรัฐบาล

ทฤษฎีรัฐบาลคือคนไทยเห็นแก่เงินจนสามารถใช้เงินกลบเกลื่อนความไม่พอใจทางการเมือง แต่ผลลัพธ์จากแจกเงินแสนล้านบาทคือเงินไม่สามารถกลบเกลื่อนความไม่พอใจการตระบัดสัตย์ คนมองว่าเงินเป็นสิทธิตามนโยบายมากกว่าเป็นหนี้บุญคุณ “กระแส” เรื่องแจกเงินจึงหายวับแทบทันทีที่กดเงินจากตู้เอทีเอ็ม

ตรงข้ามกับกองเชียร์รัฐบาลที่อ้างว่าการตระบัดสัตย์เป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนจุดยืนเพื่อผลประโยชน์เป็นเรื่องธรรมดา และความซื่อสัตย์กับประชาชนเป็นค่านิยมโบราณที่ตกยุคไปแล้ว

 

การตระบัดสัตย์สร้างปัญหา 2 ข้อ ซึ่งรัฐบาลไม่เข้าใจและอาจทำเป็นไม่เข้าใจ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านธรรมดาเข้าใจมานาน

ข้อแรก ความไว้วางใจของประชาชน (Trust) ต่อสถาบันการเมืองคือหัวใจของประชาธิปไตย เพราะนักการเมือง, พรรคการเมือง, ทหารที่ยึดอำนาจ และชนชั้นนำทางการเมืองคือคนแปลกหน้าในชีวิตจริงของประชาชน ความไว้ใจทำให้ประชาชนยอมรับผู้มีอำนาจ และถ้าไม่ไว้ใจก็จะไม่ยอมรับผู้มีอำนาจเลย

พูดให้เห็นภาพยิ่งขึ้น คนไทยทั้งหมดมีหกสิบกว่าล้านคน แต่มีเพียงแค่ไม่เกินหนึ่งหมื่นคนเท่านั้นที่รู้จักตัวเป็นๆ ของ ส.ส., นายกฯ, รัฐมนตรี, ที่ปรึกษานายกฯ, ส.ว., หัวหน้าพรรค, ทหารที่ยึดอำนาจ ฯลฯ ความยอมรับที่เรามีต่อคนกลุ่มนี้จึงต้องมาจากการสร้างความไว้ใจให้เกิดต่อคนที่เราไม่เคยรู้นิสัยใจคอด้วยเลย

ขณะที่คนเราสร้างความไว้ใจในชีวิตจริงผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ระบอบประชาธิปไตยกลับสร้างความไว้วางใจต่อนักการเมือง, รัฐบาล และผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นๆ โดยสร้างสถาบันการเมืองให้ควบคุมผู้มีอำนาจให้ได้มากที่สุดบนสมมุติฐานว่าเราไว้ใจผู้มีอำนาจไม่ได้เลย (Distrust)

สรุปแบบง่ายๆ ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจรัฐบาลก็จะไม่ยอมรับรัฐบาล เช่นเดียวกับถ้าไม่ไว้ใจทหารก็จะไม่ยอมรับทหาร การสร้างสถาบันการเมืองบนสมมุติฐานว่ารัฐบาลหรือทหารไว้ใจไม่ได้จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนไว้ใจผู้มีอำนาจเหล่านี้ รวมทั้งเป็นหนทางเดียวในการสร้างความยอมรับขึ้นมา

ทันทีที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ทหารจึงยัดเยียดเพลงให้คนไทยฟังทั้งวันทั้งคืนว่า “ขอให้เธอจงไว้ใจและศรัทธา” เพราะระบอบการปกครองของทหารไม่ยอมรับการตรวจสอบจนไม่มีทางที่ประชาชนจะไว้ใจได้ คุณประยุทธ์จึงใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการใช้กระบอกปืนขู่กับการล้างสมองให้ไว้ใจ ซึ่งทั้งหมดไม่มีใครเชื่อเลย

ทางเดียวที่ประชาชนจะไว้ใจผู้มีอำนาจคือมีสถาบันตรวจสอบผู้มีอำนาจ มีสื่อคอยตั้งคำถามแทนประชาชน มีภาคประชาสังคมกำกับผู้มีอำนาจอย่างเข้มแข็ง มีฝ่ายค้านที่ทำงานตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่มีสิทธิกรีดร้องให้ประชาชนไว้ใจโดยไม่มีการตรวจสอบเลย

 

ข้อสอง ประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองบนความเชื่อว่าพรรคการเมืองจะไม่ตระบัดสัตย์กับประชาชน คะแนนเสียงจึงเป็น “พันธสัญญา” ระหว่างพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะผลักดันนโยบายหรือมีจุดยืนบางอย่าง ส่วนประชาชนก็เชื่อคำสัญญานั้นจนตัดสินใจลงคะแนนเลือกพรรคนั้นในบั้นปลาย

ระบอบประชาธิปไตยทำงานผ่านการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งทำงานโดยพรรคการเมืองเสนอนโยบายกับจุดยืนต่อประชาชน แต่ทุกพรรคล้วนนำเสนอนโยบายกับจุดยืนที่เชื่อว่าจะทำให้ได้คะแนนเสียงประชาชนทั้งนั้น ความซื่อสัตย์ต่อประชาชนจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่ประชาชนใช้ก่อนเลือกนโยบายของพรรคใด

ยกตัวอย่างง่ายๆ พรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566 ประกาศที่ดีมากๆ อย่างกองทุนประกันชีวิตคนอายุ 60 ขึ้นไป ตายได้ 1 แสน และกู้ได้ 2 หมื่นโดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน แต่เพราะคนไม่เชื่อว่าภูมิใจไทยพูดแล้วทำได้ นโยบายนี้จึงแทบไม่มีใครสนใจจนแทบไม่มีคนพูดถึงเลย

ตรงข้ามกับความเชื่อที่คนของพรรคเพื่อไทยประกาศว่า “ความซื่อสัตย์” เป็นความคิดงมงาย ส่วนพรรคการเมืองตระบัดสัตย์ได้เหมือนคุณณัฐวุฒิอ้างเรื่อง”ความเป็นจริงทางการเมือง” การตระบัดสัตย์คือประตูสู่ความไม่เชื่อถือพรรคการเมืองจนทุกคำพูดเชื่อไม่ได้เพราะเป็นแค่เทคนิคหาเสียงหลอกประชาชน

คนของรัฐบาลบางคนประกาศว่าใครไม่เชื่อรัฐบาลก็ไม่ต้องลงคะแนนเลือกคราวหน้า แต่คำอธิบายนี้สะท้อนว่าพรรคการเมืองเอาแต่ได้จนได้คะแนนเสียงไปครองอำนาจรัฐแล้วขอทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ส่วนประชาชนที่ถูกหลอกทำได้แค่ทำใจว่าถูกหลอกแล้วนั่งมองการเสียอำนาจของตัวเองต่อไป

ทันทีที่นักการเมืองโกหก, ส.ส.กลืนน้ำลาย, พรรคการเมืองตระบัดสัตย์ หรือรัฐบาลกลับคำพูด ความเชื่อถือของประชาชนต่อสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยจะถดถอยทั้งหมด การผลักดันกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยจะไม่เกิด

และในที่สุดประชาชนจะเริ่มคิดว่าประชาธิปไตยไม่ต่างกับเผด็จการเลย

 

ผมอธิบายเรื่องนี้ยืดยาวเพราะไม่สบายใจที่เห็นรัฐบาลตระบัดสัตย์กับประชาชน ความไม่สบายใจไม่ได้เกิดเพราะผมเห็นว่าพรรคการเมืองต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผมทราบดีว่านักการเมืองไม่ได้เหาะมาสภาแบบพระอรหันต์ แต่เพราะผมรู้ว่าการตระบัดสัตย์แบบนี้ทำลายระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาในระยะยาว

คุณณัฐวุฒิอธิบายเรื่องการตระบัดสัตย์เหมือนกับคุณภูมิธรรม เวชยชัย, คุณจักรภพ เพ็ญแข และองคาพยพของพรรคเพื่อไทยคนอื่นๆ ที่อ้างว่าการตระบัดสัตย์เกิดจาก “ความเป็นจริงทางการเมือง” แต่ความเป็นจริงที่ว่านั้นคืออะไรก็ไม่เคยมีใครบอกประชาชน และตอนหาเสียงก็ไม่เคยมีใครบอกว่าจะรักษาคำพูดกับประชาชนแค่บางเวลา

เมื่อใดที่รัฐบาลอ้างว่าต้องตระบัดสัตย์เพราะ “ความเป็นจริงทางการเมือง” แต่ไม่เคยพูดว่าคำนี้หมายถึงอะไร เมื่อนั้นรัฐบาลใช้เล่ห์เหลี่ยมให้คนคิดไปเองว่าหมายถึงเรื่องที่พูดไม่ได้ ซึ่งก็คือการชี้นำว่าหมายถึงสถาบันชนชั้นนำต่างๆ ทั้งที่สาเหตุตั้งต้นที่แท้จริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือเพื่อไทยอยากเป็นรัฐบาล

เรื่องเล่าของคุณณัฐวุฒิในการตระบัดสัตย์คือต้อง “กลืนเลือด” ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยมักอ้างเมื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้วกับฝ่ายที่เพื่อไทยโจมตี แต่ข้อเท็จจริงคือไม่มีใครบังคับเพื่อไทย และเมื่อทำแล้ว พรรคเพื่อไทยคือคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดในการได้อำนาจรัฐ, คุมข้าราชการ และคุม 3.3 ล้านล้านติดต่อกันสี่ปี

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ยิ่งตระบัดสัตย์คนยิ่งไม่พอใจรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การแจกเงินแสนล้านทำให้คนลืมเรื่องการตระบัดสัตย์ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ข่าวการเปลี่ยนแปลงการเมืองจะเกิดขึ้น และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีการปล่อยข่าวว่าอดีตผู้ว่าการธนาคารชาติจะเป็นนายกฯ คนใหม่ทั้งที่กติกาไม่เปิดช่องเลย

การตระบัดสัตย์ของเพื่อไทยทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบพรรคการเมือง และเมื่อความเชื่อมั่นต่อระบบพรรคเสื่อมสลาย ประชาธิปไตยรัฐสภาก็จะถึงจุดอ่อนแอ

รัฐบาลตระบัดสัตย์คือประตูสู่ความไร้เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ส่องความเห็นนักวิชาการเตือน “แพทองธาร” อย่ายุบสภา หวั่นเปิดทางรัฐประหาร – ชี้การเจรจาลับหากช่วยหลีกเลี่ยงสงคราม ชี้สังคมไทยควรตั้งสติ-อย่าตกเป็นเครื่องมือสร้างวิกฤต
กต.เชิญทูตเขมร รับหนังสือประท้วงปมกัมพูชาปล่อยคลิปเสียงนายกฯ ผ่านสื่อ – ซัด! ไร้มารยาททางการทูต – ผิดมารยาทระหว่างรัฐ – ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ 2 ประเทศ – ย้ำไม่ว่านายกฯ จะเป็นใครต้องให้เกียรติ
“ณัฐพงษ์” ชี้วิกฤตผู้นำ “แพทองธาร” ไม่อาจเป็นที่ไว้วางใจได้ต่อไป เรียกร้องนายกฯ รับผิดชอบทางการเมือง ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน
CJ MORE เปิดเส้นทางเชื่อมร้อยชุมชน หนุนคนตัวเล็ก สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน
กรมการปกครองต้อนรับ กมธ.ปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาดูงานด้านกฎหมาย
Thai-style Neoclassical Revival กับความทรงจำที่เพิ่งสร้าง บนถนนราชดำเนิน (3)
การปกครองเปลี่ยน-แฟชั่นปรับ : แฟชั่นสมัยคณะราษฎร-สงคราม (9)
มหากาพย์ ปราบ ‘คางคกอ้อย’ (2)
“ลูกแบด ภราดร” ประกาศลาออกจาก “รองประธานสภา” รักษาหลักการเสียงข้างมาก คืนอำนาจให้สภาฯเลือกใหม่
พรรคไทยสร้างไทย แถลงการณ์ จี้ นายกฯ แสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก”
ดาวกับดวง วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2568
ลุงป้อมออกแถลงการณ์ บี้นายกฯลาออกแสดงความรับผิดชอบ ย้อนตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจเคยเตือนแล้วภาวะผู้นำ ไม่ใช่เวทีมือสมัครเล่น