

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/
พรรคการเมืองกลัวทหารมีไว้ทำไม?
กลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ผมกินข้าวเที่ยงกับผู้แทนสถานทูตแห่งหนึ่งแถวถนนสีลม
คำถามที่ฝ่ายทูตถามผมช่วงกินใกล้อิ่ม คือผม “รู้สึก” อย่างไรกับการเมืองไทยหลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
คำตอบที่ผมให้คือ ประเทศไทยผ่าน Dramatic Victory แต่อาจจบด้วยการเข้าสู่ Dramatic Defeat ของประชาชน
การเลือกตั้งปี 2566 เป็นครั้งแรกที่คนนับล้านได้รับการ “คืนความสุข” จากผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะอันดับ 1, เพื่อไทยกับก้าวไกลรวมกันมี ส.ส. 291 คนมากพอตั้งรัฐบาล และทั้งสองพรรคมีคนเลือกรวมกัน 24 ล้าน ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลแทบทุกพรรคได้ ส.ส.ต่ำกว่าเดิมเท่าตัว
ผมเรียกผลเลือกตั้งวันนั้นว่าเป็น “ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์” หรือ Dramatic Victory ที่พรรคฝ่ายค้านยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสียงโหวตถล่มทลาย
นักวิชาการเรียกวันนั้นว่า “เสรีประชาธิปไตยแลนด์สไลด์” และทุกคนเชื่อว่าประเทศจะดีขึ้น และเราจะเดินหน้าสู่การมีรัฐบาลของประชาชนได้จริงๆ
อย่างไรก็ดี ทุกคนทราบดีว่าการจัดตั้งรัฐบาลจนถึงตอนนี้ทำให้คนจำนวนมากผิดหวังราวตกจากสวรรค์มาสู่นรก
พรรคฝ่ายคุณประยุทธ์ที่คะแนนนิยมดิ่งเหวได้เป็นรัฐบาลต่อเพราะจับมือกับเพื่อไทย พรรคที่ชนะสูงสุดถูกยุบ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกสูงสุดถูกตัดสิทธิการเมือง
คําว่า Dramatic Defeat หรือ “ความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์” หมายถึงการมีรัฐบาลที่ฝืนเจตจำนงประชาชนผู้เลือกพรรคการเมืองต่างๆ จนเกิด “รัฐบาลข้ามขั้ว” ที่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคตั้งรัฐบาลตรงข้ามกับคำพูดที่หาเสียงกับประชาชนไว้อย่างสิ้นเชิง
กองเชียร์บางคนอ้างว่าพรรคการเมืองโกหกอะไรก็ได้เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล
แต่ประชาธิปไตยไม่ได้จบที่วันเลือกตั้ง และคะแนนเลือกตั้งไม่ใช่เช็คเปล่าที่ประชาชนให้นักการเมืองทำตามใจ
ทุกพรรคจึงมีพันธะที่จะต้องทำตามคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนช่วงเลือกตั้งอย่างเคร่งครัดตลอดเวลา
ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน แต่เพื่อไม่ให้ประโยคนี้เป็นแค่วาทกรรมเลื่อนลอยที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามใจชอบจนบิดเบี้ยวจากความต้องการของประชาชน ประชาธิปไตยทั่วโลกจึงมีกลไกสองข้อเพื่อให้ประชาชนปกครองประเทศได้จริงๆ ไม่ใช่ทำได้แต่ในนามตอนวันเลือกตั้ง
ข้อแรกคือประชาชนเลือกผู้มีอำนาจ และข้อสองคือประชาชนมีสิทธิล้มล้างและถอดถอนผู้มีอำนาจได้ตลอดเวลา
หากสังคมไหนทำแบบนี้ได้ โอกาสที่ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยประชาชนจริงๆ ก็จะเกิดขึ้นได้มาก และโอกาสที่รัฐบาลจะใช้อำนาจแบบทรยศประชาชนก็แทบไม่มีเลย
ผมฟังข่าวการถกเถียงของพรรคแกนนำรัฐบาลเรื่องกฎหมายสภากลาโหมและการสกัดทหารไม่ให้ยึดอำนาจด้วยความสังเวชใจ เพราะที่จริงเนื้อหาสาระของเรื่องนี้เป็นประชาธิปไตยระดับ 101 ที่พรรคการเมืองควรเห็นพ้องต้องกันจนไม่น่ามีความเห็นแย้งอะไรเลย
แกนกลางของกฎหมายสภากลาโหมคือการกำหนดว่า “อำนาจสั่งการและแต่งตั้งในกองทัพควรเป็นของใคร” ซึ่งรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2549 ไปกำหนดให้อำนาจแทบทั้งหมดเป็นของนายพลด้วยกันเองล้วนๆ จนทำให้กองทัพเป็นหน่วยราชการที่เป็น “รัฐอิสระ” ซึ่งประชาชนควบคุมไม่ได้เลย
เมื่อทหารคุมทหารด้วยกันเองแบบที่ไม่มีหน่วยราชการไหนทำ ยกเว้นศาล การขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพก็กลายเป็นการวิ่งเต้นเจรจาระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องด้วยกันเปรอะไปหมด เช่นเดียวกับการจัดซื้อจัดจ้าง, คุมกำลังรบ, ไม่ลดจำนวนนายพล ฯลฯ รวมทั้งการเตรียมคนสำหรับรัฐประหารอีกที
เมื่อกฎหมายสภากลาโหมทำให้กองทัพเป็นรัฐอิสระ กองทัพก็เต็มไปด้วยทหาร “เครือข่าย” อย่าง “บูรพาพยัคฆ์”, “วงศ์เทวัญ”, “ทหารคอแดง” ฯลฯ ซ้ำหลายปีมีผู้บัญชาการเหล่าทัพจากโรงเรียนทหารรุ่นเดียวกันจนกลายเป็นต้นตอของระบบอุปถัมภ์และการไม่ได้คนที่เก่งที่สุดมาคุมกองทัพไทย
แน่นอนว่ารัฐบาลทักษิณช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ถูกวิจารณ์ว่าแทรกแซงกองทัพ ถึงขั้นเกิดปรากฏการณ์ “ป้อมเกาะโต๊ะ” ที่คุณทักษิณตั้งคนของตัวเองคุมกองทัพ
ความสัมพันธ์ของกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนถูกทำให้เรียวแคบเหลือแค่นักการเมืองตั้งคนของตัวเองไปคุมทหาร หรือไม่ก็ทหารสร้างรัฐอิสระคุมกันเองเหมือนยุคหลังรัฐประหาร 2549 ทั้งที่จริงๆ ปัญหานี้ควรมีทางออกที่ได้ดุลระหว่างสองทางเลือกที่ย่ำแย่พอๆ กัน
พรรคการเมืองมีสิทธิโดยชอบที่จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนใหม่
การแก้ไขกฎหมายสภากลาโหมเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองควรทำแน่ๆ เพราะถ้าพรรคไม่เสนอ สภาก็ไม่มีโอกาสแก้ไขกฎหมาย และกฎหมายสภากลาโหมที่สุดโต่งแบบเขียวจัดก็จะถูกใช้ตลอดไป
กองทัพกับรัฐบาลพลเรือนจะสัมพันธ์อย่างไรคงต้องคุยกันยาว
แต่แกนหลักคือพลเรือนต้องเป็นใหญ่ (Civil Supremacy)
ส่วนแกนรองคือรัฐบาลแทรกแซงการแต่งตั้งตามใจชอบไม่ได้ อย่างมากที่สุดที่ทำได้คืออำนาจในการให้กองทัพกลับไปทบทวนแล้วเสนอคนที่เหมาะสมกว่าเข้ามา
ปัญหาของประเทศไทยคือเมื่อใดที่พูดว่า “พลเรือนเป็นใหญ่” เมื่อนั้นล้วนมีนักการเมือง และพวกตั้งตัวเองเป็นคนคุมกองทัพทุกครั้งไป แต่ทางแก้ปัญหานี้ไม่ใช่การประกาศเขตทหารห้ามเข้าซึ่งจะยิ่งเป็นทหารสร้างความพร้อมในการรัฐประหารได้ตลอดกาล
พรรคประชาชนได้เครดิตไปนานแล้วที่เสนอกฎหมายจัดระเบียบสภากลาโหมเพื่อแก้ปัญหานี้ระยะยาว
แต่รัฐบาลก็ขัดขวางจนร่างกฎหมายนี้ตกไปในที่สุด หลังจากนั้นเครดิตที่พรรคแกนนำควรได้จากการที่ ส.ส.พรรคประกาศเสนอกฎหมายนี้เองก็ดิ่งเหวอีกทันทีที่พรรคบอกไม่มีแนวคิดนี้อีกเลย
บนความตระหนักว่ากฎหมายสภากลาโหมทำให้กองทัพเป็นรัฐอิสระแบบที่ไม่ควรเป็น พรรคภูมิใจไทยควรถูกตำหนิที่ค้านการแก้ไขกฎหมายนี้ โดยเฉพาะการอ้างว่ากฎหมายป้องกันรัฐประหารไม่ได้ และรัฐประหารเกิดจากนักการเมืองโกง ปลุกระดม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดฟังก็รู้ว่าจงใจแซะเพื่อไทย
พรรคการเมืองไม่ว่าจุดยืนไหนล้วนเป็นตัวแทนประชาชน และต่อให้จุดยืนของภูมิใจไทยวันนี้จะเป็นแบบใด พรรคควรตระหนักในความเป็นตัวแทนประชาชนจนไม่มีสิทธิขวางการแก้กฎหมายสภากลาโหมที่ทหารเป็นรัฐเอกราช รวมทั้งไม่มีสิทธิขวางการสกัดไม่ให้ทหารยึดอำนาจต่อไป
เพื่อไทยที่ถอยกฎหมายนี้ทันทีที่ภูมิใจไทยคำราม ซ้ำเมื่อเทียบกับภูมิใจไทยที่ไม่เคยแสดงจุดยืนประชาธิปไตย เพื่อไทยควรถูกตำหนิกว่าด้วยซ้ำที่ถอยทันทีที่พรรคร่วมรัฐบาลค้าน เพราะการเสนอกฎหมายเป็นเอกสิทธิ์ที่แต่ละพรรคก้าวล่วงไม่ได้เลย
หน้าที่พรรคการเมืองคือการทำเพื่อประชาชน ยิ่งพรรคไหนมีโอกาสเป็นรัฐบาล พรรคนั้นยิ่งต้องใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ประชาชนให้มากขึ้น การถอยภารกิจเพื่อประชาชนหรือประชาธิปไตยในกรณีที่มีอุปสรรคเป็นเรื่องทำได้
แต่อุปสรรคนั้นต้องไม่ใช่ถอยเพื่อเอาตัวรอดในการเป็นรัฐบาล
ในกรณีของพรรครัฐบาลที่ถอยในเรื่องไม่ควรเถียงอย่างสกัดการปฏิวัติและสภากลาโหม ประชาชนเห็นจนตาสว่างจ้าคือทุกพรรคเพื่อแลกกับการได้เป็นรัฐบาลต่อ ลดความกังวลว่าทหารจะโกรธ และรวมทั้งอาจเป็นการส่งสัญญาณให้ใครบางคนเห็นว่ารัฐบาลนี้สงบราบคาบอย่างไร
พูดแบบสรุปรวบรัดที่สุด การถอยแบบนี้คือคำประกาศว่าพรรคการเมืองไม่ได้มองว่าประชาชนคือคนที่ต้องฟังที่สุด ความแน่วแน่ต่อระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ภารกิจพื้นฐานของพรรคการเมือง แต่คือการเอาใจใครไม่รู้ที่ทุกพรรคเกรงใจจนลืมไปว่าได้อำนาจจากประชาชน
ยิ่งสังคมมีอำนาจพิเศษเพราะรัฐประหารด้วยกระบอกปืน หน้าที่ของพรรคการเมืองคือการปรับสมดุลสังคมให้เข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่ปกป้องอำนาจพิเศษให้คงอยู่ตั้งแต่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ, ไม่แตะกองทัพ หรือจับมือกับพรรคการเมืองที่เป็นพวกเดียวกับรัฐบาลเดิม
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เรื่อยๆ เราอาจต้องตั้งคำถามว่า “พรรคการเมืองมีไว้ทำไม” ไม่ใช่เพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองหรือการเลือกตั้ง แต่คือการลงดาบเตือนนักการเมืองว่าประชาชนไม่ใช่ของตาย
และหน้าที่พรรคการเมืองคือการทำตามเจตจำนงประชาชน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


