เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ว่าด้วย ‘ที่ปรึกษาส่วนตัว’ ของประธานอาเซียน

02.01.2025

ปีหน้าถึงคิวมาเลเซีย ของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม รับหน้าเสื่อเป็น “ประธานอาเซียน” และเนื่องในวาระนี้นี่เอง ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ให้ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาส่วนตัว” ของตนในฐานะประธานอาเซียน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปีหน้าเป็นต้นไป

รายงานของรอยเตอร์ เมื่อ 16 ธันวาคม ระบุว่า อันวาร์ยืนยันว่า บทบาทของทักษิณในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นั้น จะดำเนินไปแบบ “ไม่เป็นทางการ” เช่นเดียวกับบรรดา “ที่ปรึกษาส่วนตัว” อีกหลายคนซึ่งทาบทามมาจากบรรดาชาติสมาชิกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

อันวาร์ยังแสดงให้เห็นชัดว่า ทักษิณเองตอบรับการทาบทามให้ทำหน้าที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยกล่าวระหว่างการแถลงข่าว แสดงความขอบคุณอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ที่ “เห็นพ้องกับการนี้” เพราะ “เราจำเป็นต้องอาศัยประโยชน์จากประสบการณ์” ที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยมีอยู่กับตัว

รอยเตอร์ระบุว่า ทักษิณที่อายุ 75 ปีเข้าไปแล้ว ถือเป็นบุคคลเด่นดังในแวดวงการเมืองไทยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยในเวลานี้ แม้ว่า “ทักษิณจะถูกห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง หลังจากที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ฐานใช้อำนาจอย่างบิดเบือน และมีผลประโยชน์ทับซ้อน” อยู่ก็ตามที

ทำให้ไม่แปลกที่รอยเตอร์สรุปปิดท้ายย่อหน้านี้ไว้ว่า “และยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในใจกลางความปั่นป่วนเป็นระยะๆ” ในเมืองไทยอยู่ต่อไป

 

รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ทักษิณกลับไทยอย่าง “ดราม่า” ในเดือนสิงหาคมปี 2023 และ “ถูกจำคุกเป็นเวลา 8 ปี” ซึ่งในอีกไม่กี่วันต่อมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ลดโทษลงมาเหลือ 1 ปี เพียงแต่ว่า “ทักษิณใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นในเรือนจำ” ก่อนที่จะถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลโดยใช้ข้ออ้างเรื่องสุขภาพ อยู่ที่นั่นนานถึง 6 เดือนจนได้รับอภัยโทษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า สิ่งที่รอยเตอร์ร่ายยาวมาเหล่านี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” ส่วนตัวของประธานอาเซียน แม้ว่า แอชลีย์ ถัง กับ พาณุ วงศ์ชะอุ่ม ที่เขียนเรื่องดังกล่าวให้กับรอยเตอร์ จะให้น้ำหนักเรื่องราวเหล่านี้มากเป็นพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ ก็ตาม

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียน ต้องการให้ทักษิณนำ “ลูกเล่น” ที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวเหล่านี้ไปบรรยาย เป็นตัวอย่างให้ใครที่ไหนได้รับรู้ และทำความเข้าใจหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ย้ำว่า ตัวทักษิณเองยืนกรานว่า ตนเองเกษียณอายุทางการเมืองแล้ว แม้ว่าอีกหลายต่อหลายฝ่ายซึ่งเคยยืนอยู่ตรงกันข้ามกันพากันเหลือบมองมาอย่างเคลือบแคลง ข้องอกข้องใจ เพราะเชื่อว่า ทักษิณคือ “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” ของรัฐบาลชุดนี้ก็ตามที โดยอาศัยวิธีการ “ตั้งข้อสังเกต” เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลออกมาดังๆ ในที่สาธารณะนั่นเอง

รายงานของรอยเตอร์ชิ้นนี้ เอ่ยถึงเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาประธานอาเซียน” อยู่เล็กน้อย โดยการระบุว่า ทักษิณเคยพบกับ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชา ที่มีลูกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พนมเปญอยู่ในเวลานี้

และเคยพบกับ พราโบโว สุเบียนโต้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบันเช่นกัน

รอยเตอร์อ้างสื่อไทยแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณพยายามใช้ตำแหน่งที่ปรึกษาเพื่อให้สามารถแสดงบทบาทเป็น “ตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ย” ความขัดแย้งภายในเมียนมา ที่รัฐบาลพลเรือนถูกกองทัพยึดอำนาจจนกลายเป็นรัฐบาลทหารอยู่ในเวลานี้

แถมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็เคยออกมายืนยันว่า อดีตนายกฯ ทักษิณเคยดำเนินการ “เป็นการส่วนตัว” เข้าพบกับผู้นำของกลุ่มก้อนในความขัดแย้งที่เมียนมา เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลาง ให้เกิดการเจรจาความกันขึ้น

ปัญหาก็คือ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่มีอะไรบรรลุเป็นมรรคเป็นผล ออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย

ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่า อดีตนายกรัฐมนตรีไทยอยากทำหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาตามที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า เพราะใครๆ ก็รู้กันดีว่า ปัญหาที่ว่านี้ ยุ่งยาก ท้าทายไม่ใช่เล่น

ที่สำคัญก็คือ หลายคนเห็นตรงกันว่า กรณีเมียนมานี้ ทำดีก็ได้แค่เสมอตัว แต่ถ้าเกิดผลตรงกันข้ามขึ้นมา อาจพาไทยทั้งประเทศเข้ารกเข้าพงไปด้วยนี่สิ ไม่ดีแน่ครับ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่