
ไฮสปีดอีสานวิ่งทะลุอีอีซี จุดพลุเมืองใหม่-บูมเศรษฐกิจ ดัน ‘ไทย’ ผงาดฮับภูมิภาค

บทความเศรษฐกิจ
ไฮสปีดอีสานวิ่งทะลุอีอีซี
จุดพลุเมืองใหม่-บูมเศรษฐกิจ
ดัน ‘ไทย’ ผงาดฮับภูมิภาค
“ไทยกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงแล้ว”
คีย์เวิร์ดการส่งสัญญาณจาก “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ถึงประชาชนคนไทยทั้งประเทศ พลันที่กระทรวงคมนาคม รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย โปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน และถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย ที่ได้เดินหน้าการก่อสร้างให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 รับทราบ
โดยการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ระยะ
ปัจจุบันโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 35.75% หลังตอกเข็มเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ถึงปัจจุบันจาก 14 สัญญา มี 2 สัญญาสร้างเสร็จแล้ว คือช่วงกลางดง-ปางอโศก และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก อีก 12 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และการจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา ตั้งเป้าสร้างเสร็จเปิดบริการภายในปี 2571 มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา
ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357 กิโลเมตร ล่าสุดคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลแพทองธาร ได้เปิดไฟเขียวเดินหน้าการก่อสร้างอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยเม็ดเงินลงทุน 341,351 ล้านบาท โดยจะใช้เวลาสร้าง 8 ปี ตั้งเป้าเริ่มสร้างปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2575
ลัดเลาะเส้นทางมีทั้งหมด 5 สถานี ต่อจากสถานีนครราชสีมา เป็นสถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สิ้นสุดที่สถานีหนองคาย โดยมีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่นาทา ซึ่งใช้เงินก่อสร้างกว่า 5,686 ล้านบาท เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ จะรองรับรถไฟความเร็วสูงของ 3 ประเทศ ทั้งรถไฟความเร็วสูงของไทยที่สุดสายสถานีหนองคายจะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ในอนาคต
“จิรายุ ห่วงทรัพย์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลคาดหวังให้โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทน์-จีน เป็นโอกาสของภาคอีสานและโอกาสประเทศไทยในการเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลก สร้างโอกาสให้คนไทยได้ทำการค้าการลงทุนกับตลาดในภูมิภาค รวมไปถึงตลาดโลกที่มีประชากรอยู่กว่า 8,000 ล้านคน
และนับเป็นอีกก้าวของรัฐบาลในการเร่งรัดแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวางอนาคตให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งของภูมิภาคหรือโลจิสติกส์ฮับตามที่ได้แถลงนโยบายไว้
ด้าน “สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย” ประธานหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 จากนครราชสีมาสร้างมาถึงหนองคาย รวมถึงการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังประเทศจีนนั้น ยิ่งทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ให้เกิดการก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายเฟสแรกในปี 2571 และตลอดสายในปี 2575
สำหรับโครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ เนื่องจากเป็นการขนส่งทั้งคนและสินค้า ซึ่งหอการค้าฯ เอง ก็ต้องเตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติรองรับเช่นกัน ไม่ว่าการพัฒนาคน การพัฒนาทรัพยากร โดยเฉพาะด้านแรงงาน รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับกับรถไฟความเร็วสูงที่จะนำความเจริญมาสู่ในพื้นที่
โดยจะเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการกำหนดพื้นที่ไว้แล้ว แต่ภาครัฐยังไม่มีการขับเคลื่อนแผนอย่างจริงจัง
และในอนาคตรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน ยังมีเส้นทางไปเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี อีกด้วย จะทำให้ประเทศไทยรวมถึงภาคอีสานและอีอีซี เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การบริการ และการท่องเที่ยวของภูมิภาค
ดังนั้น อย่าให้โครงการเป็นได้แค่มีรถไฟวิ่งผ่าน ต้องมีการเตรียมแผนการพัฒนาไว้ให้พร้อม ทั้งแผนระดับพื้นที่ ระดับภาคและระดับภูมิภาคว่าจะต้องมีโครงการพัฒนาอะไรบ้าง
“สวาท” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและจากต่างประเทศ ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนในจังหวัดภาคอีสานอยู่หลายธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวกับภาคการเกษตร ในจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ส่งผลต่อราคาที่ดินในจังหวัดที่อยู่ในเส้นทางโครงการ มีการปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
แต่ปัจจุบันความร้อนแรงเริ่มลดลงบ้างแล้ว ราคาที่ดินจากที่เคยดีดขึ้นสูง 100-200% ก็เริ่มดีดลงเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่พฤติกรรมการลงทุนจะนิยมการเช่าระยะยาวมากกว่าการซื้อ
“ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ อีกประเด็นคือ นักลงทุนยังไม่ค่อยมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ล่าสุดมีนโยบายทรัมป์ ยิ่งทำให้ไม่มั่นใจมากยิ่งขึ้น จึงยังไม่กล้าที่จะลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ต้องเตรียมความพร้อม ในเมื่อรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว ต้องคิดต่อไปว่าจะสร้างรายได้อย่างไร เพื่อนำเงินที่ได้มาคืนทุนการก่อสร้างที่รัฐบาลได้ลงทุนไป รวมถึงนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” สวาทกล่าวย้ำ
เมื่อย้อนดูวิวัฒนการโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย ในยุค “รัฐบาลเพื่อไทย” ได้ปักหมุดเส้นทาง “รถไฟความเร็วสูง” ไว้ในแผนที่ระบบราง ใน 4 เส้นทาง ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคใต้ ด้วยระยะทาง 2,507 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนกว่า 2.06 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมไทยเชื่อมโลก
จากวันนั้นถึงวันนี้มีเพียง 1 เส้นทาง เริ่มตอกเข็มอย่างจริงจัง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และมี 1 เส้นทางที่กำลังรอกดปุ่มเริ่มต้นโครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (กรุงเทพฯ-ระยอง) ส่วนที่เหลือทั้งสายเหนือกับสายใต้ ยังไม่มีสัญญาณจะได้เดินหน้าหรือไม่ ไม่ว่ากรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน-สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์
ความน่าสนใจของแผนการลงทุนในรัฐบาลยุคนั้น นอกจากพิมพ์เขียวที่ปูพรมเส้นทางครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทยแล้ว ยังมีไอเดียผุดเมืองใหม่ไฮสปีดเทรนหรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีที่เรียกกันว่า TOD ที่รัฐบาลนำโมเดลจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบการพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าใหักับโครงการ
หากโฟกัสเฉพาะกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทยแล้ว มีปักหมุดไว้ 3 แห่ง ประกอบด้วย สระบุรี 3,000 ไร่ ปากช่อง 3,000 ไร่ และนครราชสีมา 7,000 ไร่
ในเมื่อรัฐบาลแพทองธาร กำลังเร่งสปีดรถไฟความเร็วสูงอย่างเต็มสูบ
คงต้องลุ้นว่าแผนการพัฒนาเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน จะถูกปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้งหรือไม่!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022