

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
ดำปิ๊ดปี๋
ในแวดวงราชการ-องค์กรอิสระ
ชีวิตของผมในแต่ละเดือน แต่ละสัปดาห์แน่นขนัดไปด้วยตารางการประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ผมเผลอตัวเผลอใจไปรับเป็นกรรมการของเขาไว้บ้าง หรือในทางตรงกันข้าม ก็มีหลายหน่วยงานเผลอตัวเผลอใจรับผมไปเป็นกรรมการเอาไว้บ้าง สัดส่วนระหว่างสองกรณีนี้สูสีกันมาก
แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผมต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้ยังสนุกอยู่กับการประชุมและมีเรื่องให้ประชุมได้แทบทุกวันสิน่า
คณะกรรมการชุดหนึ่งที่ผมต้องลงตารางนัดหมายไว้เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งหรือสองครั้ง คือ คณะกรรมการที่มีชื่อว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 2
การประชุมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง กำลังจะเริ่มปวดหัวก็เลิกประชุมพอดี
คณะกรรมการชื่อยาวเหมือนขบวนรถไฟนี้มีหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ คือ คำโต้แย้งจากผู้ที่ไปขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยราชการต่างๆ แล้วโดนปฏิเสธจากหน่วยงานนั้นๆ
ถ้าหน่วยงานปฏิเสธการให้ข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลที่ฟังขึ้น ผู้ขอข้อมูลข่าวสารพอใจ เรื่องก็จบลงแค่นั้น
แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ หน่วยงานผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารอยู่ให้เหตุผลแบบไม่เป็นโล้เป็นพาย คนที่เขาผิดหวังก็มาอุทธรณ์หรือมาโต้แย้งไว้ที่คณะกรรมการชุดที่ผมเป็นกรรมการได้
หลักในการทำงานของคณะกรรมการชุดที่ผมร่วมเป็นทีมงานอยู่ ถือหลักซึ่งเป็นแนวหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” และข้อยกเว้นที่ว่านี้ก็ต้องมีกฎหมายรองรับด้วย คือ ต้องขานได้ทีเดียวว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 มาตราใดให้อำนาจหน่วยงานที่จะปกปิดข้อมูลข่าวสารเอาไว้ได้
ถ้าพลิกกฎหมายหมดทั้งฉบับแล้วยังหาเหตุผลที่จะปกปิดต่อไปไม่ได้ ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ชาวบ้านขอข้อมูลข่าวสารอะไรมาก็รีบจัดให้เขาไปตามนั้นเถิด
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวว่ากระทรวงกลาโหมตอบปฏิเสธเมื่อมีผู้ไปขอข้อมูลข่าวสารว่า กองทัพไทยของเรามีนายพลรวมจำนวนเท่าไหร่ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตอบหนังสือแทนกระทรวงอธิบายว่า บอกไม่ได้หรอก เพราะเป็นความลับในราชการ ถ้าเปิดเผยไปจะทำให้ข้าศึกศัตรูรู้หมดว่า กองทัพอันเกรียงไกรแข็งแกร่งของเรามีนายพลอยู่กี่คน
ผมฟังเหตุผลแล้วก็งงงวยไป เพราะข้อมูลเพียงแค่นี้ ถ้าเป็นข้าศึกตัวจริงทำไมเขาจะไม่มีปัญญาเสาะแสวงหาตัวเลขนายพลบ้านเรา ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเปิดเผยจำนวนนายพลของกองทัพไทยให้รู้กันทั่วถึงแล้ว ข้าศึกหรือผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นข้าศึกของเราเขาอาจจะเกิดความหวาดกลัวสยดสยองขึ้นก็ได้
เพราะกองทัพที่มีนายพลมากขนาดนี้ ต้องมีแสนยานุภาพแข็งแกร่งแน่ๆ เพียงแค่ส่งนายพลไปยืนเข้าแถวเรียงหน้ากระดานให้ข้าศึกเห็น ไม่กลัวกันบ้างก็ให้มันรู้กันไป
หรือถ้าเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ก็อาจชวนให้คิดได้ว่า การไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเรื่องจำนวนนายพลตามที่มีผู้ร้องขอ เพราะจำนวนนายพลบ้านเรามีมากเกินความจำเป็นที่จะต้องมี
นายพลบางท่านจึงมีแต่ชั้นยศ มีเครื่องแบบสวยงามเอาไว้แต่งอยู่กับบ้าน แต่ไปทำงานไม่ได้ เพราะหน่วยงานไม่ได้จัดห้องทำงานและโต๊ะทำงานเอาไว้ให้ ขืนมาพร้อมกันและทุกคนต้องมีโต๊ะทำงานคนละหนึ่งโต๊ะ มิต้องสร้างตึกใหม่อีกหลายหลังหรือ
แต่ไม่ว่าจะคิดไปในทางใดและด้วยเหตุผลใด เรื่องนี้ผมฟังดูแล้วก็แปลกอยู่ดี ก็เข้าใจอยู่หรอกนะครับว่า เป็นเพื่อนเรียนโรงเรียนนายร้อยนายเรือมาด้วยกัน รุ่นเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก รับราชการมาหลายสิบปี ชีวิตก่อนเกษียณจะให้ติดตันอยู่แค่ยศพันเอกกระนั้นหรือ อย่างน้อยๆ ก็ต้องติดยศนายพลเสียหน่อย
เป็นนายพลกันให้ทั่วถึงทั้งรุ่น จะได้ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ
ถ้าการให้เพื่อนร่วมรุ่นทุกคนเป็นนายพลและไม่ต้องเปลืองเงินหลวงแบบไม่มีงานให้ทำแต่ต้องจ่ายเงินเดือน สามารถทำได้ด้วยเงินส่วนตัวของประธานรุ่น ประชาชนอย่างผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ
ตัวอย่างเล็กๆ เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า ระบบราชการของเรายังมีมุมมืดอีกหลายซอกหลายส่วน และผู้ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้นก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลให้ชาวโลกได้รับรู้ การบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ใช้มาเกือบครบ 30 ปีแล้วจึงยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน
อาณาจักรของราชการยังคงเป็นอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนกับเป็นความย้อนแย้งระหว่างป้ายสองป้ายที่ติดไว้คู่กันตามหน่วยทหารทั้งหลาย ป้ายหนึ่งมีอักษรบอกความว่า “ทหารเป็นมิตรกับประชาชน” แล้วถัดไปอีกสองเมตรก็มีป้ายอีกป้ายบอกว่า “เขตทหารห้ามเข้า” เจอเข้าสองป้ายแบบนี้ ชาวบ้านทำตัวไม่ถูกเลย
พูดมาสองสามย่อหน้าแล้วมีแต่คำว่า “ทหาร” แลดูมีอคติอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะถ้าจะว่ากันตามข้อเท็จจริงและประสบการณ์ที่ผมพบในภาคปฏิบัติแล้ว ขอบอกว่า หน่วยงานราชการฝ่ายพลเรือนก็ไม่ใช่ย่อยครับ หลายหน่วยที่ตั้งการ์ดไว้สูงมาก ชาวบ้านอย่าได้บังอาจมาขอข้อมูลข่าวสารอะไรเลยทีเดียว แนวโน้มจะปฏิเสธมีถึงเกือบร้อยละร้อย
ที่เจ็บแสบยิ่งกว่านั้น คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น อย่างที่เรียกว่าเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมักจะมีอักษรย่อสองตัวบ้าง สามตัวบ้าง พอให้คนไทยได้ลับสมองประลองเชาวน์ ก็พลอยฟ้าพลอยฝนมีทัศนคติแบบนี้ ทั้งๆ ที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่ไปตรวจสอบคนอื่นควรจะวางตัวให้เป็นแบบอย่างและยอมรับการตรวจสอบได้อย่างหน้าชื่นตาบาน
เห็นพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า เราต้องการความโปร่งใส แต่ขณะเดียวกันเจ้าตัวกลับดำปิ๊ดปี๋
จําคดีที่เรียกชื่อกันทั่วไปว่า “คดีนาฬิกายืมเพื่อน” กันได้ใช่ไหมครับ
เมื่อคดีความจบสิ้นลงในองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว มีคนไปขอรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธเสียงแข็ง ผู้ร้องซึ่งเป็นสื่อมวลชน จึงมายื่นเรื่องราวอุทธรณ์ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชื่อยาวอย่างที่ขานมาแล้วข้างต้น
คณะกรรมการชุดนี้ก็วินิจฉัยโดยไม่เข้าใครออกใครว่า ในเมื่อการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าเป็นนาฬิกายืมเพื่อน ไม่ได้เป็นการให้สินบาทค่าสินบนกันแต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวสมควรเปิดเผยได้
ผมเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่แสดงให้ประจักษ์ว่าการตรวจสอบเรื่องนี้ทำอย่างรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ทำด้วยวิธีการอย่างไร มีใครเป็นพยาน มีหลักฐานอะไรบ้าง กลับจะเป็นผลดีให้กับทุกฝ่าย
ข้างคนที่ใส่นาฬิกาก็สบายใจได้ว่าตัวเองบริสุทธิ์
คณะกรรมการหรือหน่วยงานที่บอกว่าเรื่องนี้ตรวจแล้วไม่พบว่ามีความผิดแต่อย่างใด พร้อมทั้งสามารถอธิบายเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยของตัวเองได้เป็นฉากๆ ก็สามารถปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นจากประชาชนได้เป็นอย่างดี
ทางฝ่ายประชาชนก็มีความสุข กินอิ่มนอนหลับ เพราะได้รู้เสียแล้วว่าองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบได้ทำหน้าที่แล้วโดยไม่ขาดตกบกพร่อง
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง หลังจากคณะกรรมการได้วินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว ปรากฏว่าหน่วยงานดังกล่าวก็ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอีก
จนผู้ขอข้อมูลข่าวสารต้องไปฟ้องเป็นคดีปกครอง ศาลปกครองพิจารณาแล้วก็บอกว่าให้เปิดข้อมูลข่าวสารชุดนี้ได้
แต่ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจนถึงวันนี้นาทีนี้ ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้เปิดเผยแล้วหรือยัง
หรือยังสนุกกับการเล่นอีมอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ อยู่แบบไม่รู้จบ
ผมอดนึกไม่ได้เลยว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น แต่ไม่พร้อมให้คนอื่นตรวจสอบ จะเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นในการทำงานได้อย่างไร
เราต้องไม่ลืมความจริงว่า หน่วยงานของรัฐทั้งปวงมีขึ้นเพื่อทำงานตอบโจทย์ที่เป็นความต้องการของประชาชน หน่วยงานของรัฐไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร ถ้าเป็นบ้านส่วนตัวของเรา เรามีสิทธิ์เต็มที่ที่จะไม่ให้ใครเข้ามาสอดส่องดูนู่นดูนี่ แต่ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง เราจะมีอำนาจอะไรไปหวงไปห้ามแบบนั้น
เอ๊ะ! หรือว่าผมเข้าใจผิด
หน่วยงานของรัฐหน่วยไหนมีเจ้าของหรือครับ ช่วยบอกชื่อมาให้ชัดๆ
ประชาชนจะได้เข้าใจให้กระจ่าง และไม่ขอไปดูโน่นนี่ให้กวนใจท่านอีกต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022