

บทความพิเศษ | มีเกียรติ แซ่จิว
กรณีข่าวโอปป้าถึงยาพิษในมือคุณ
ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ข่าวคราวโอปป้า (คนที่เราก็รู้ว่าเป็นใคร) อดีตคนเคยคบหาสาวต่างวัยที่จบชีวิตตัวเองลง และยังคงเงียบกริบไม่มาร่วมงานศพและไม่ออกแถลงการณ์ด้วยตัวเองแต่อย่างใดนั้น จึงถูกกระแสสังคมลุกฮือตีกลับอย่างหนักหน่วง
โลกสีชมพูของเหล่าบรรดาแฟนคลับที่เคยหลงรักโอปป้าผู้นี้ ต่างพร้อมใจกันสบัดอัลฟอลโลว์กันกระหน่ำ แบรนด์ไฮเอนด์ต่างๆ ถอดป้ายปลดสัญญาออกเป็นแถว
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่ ตื้น ลึก หนา บาง เราคงมิอาจล่วงรู้ข้อเท็จจริงที่เคลือบฉาบความพราวเสน่ห์ของหนุ่มแดนโสมผู้นี้ได้
บทความชิ้นนี้คงไม่มุ่งเจาะลึกลงรายละเอียด สวมแว่นสายตานักจิตบำบัด สำรวจลงลึกรากที่มาของปัญหา สืบเสาะผลกระทบจากวัยเยาว์หรืออะไรทำนองนั้น (อาจแตะต้องเพียงผิวเผิน) ซึ่งมีให้อ่านให้ศึกษาเรียนรู้กันมากต่อมากแล้ว
เพียงแต่อยากจะฉายภาพมุมกว้างถึงสารพันความเป็นคนผ่านหลากหลายตัวละครทั้งในโลกภาพยนตร์และหนังสือ ที่เจียระไนให้เห็นว่า มนุษย์นั้นเป็นเช่นไร
ทำไมมนุษย์จึงมีความต่างจิตต่างใจกันได้ราวกับขาวและดำ เปรียบเสมือนดังคำกล่าวของนักปรุงยาคนหนึ่งที่ว่า สิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่ายาพิษนั่นก็คือ
‘จิตใจมนุษย์’
ขอยกตัวอย่างภาพยนตร์ Happy-Go-Lucky (2008) ซึ่งเล่าเรื่องราวเล็กๆ แต่ท้นหัวใจของผู้หญิงมองโลกในแง่ดีคนหนึ่ง
‘ป๊อปปี้’ เธอยิ้มร่าอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเจอวันที่ดีหรือวันร้ายๆ (เช่น จักรยานถูกขโมย “ยังไม่ได้บอกลากันเลย”) และอยากให้คนที่รายล้อมรอบตัวมีแต่ความสุข
แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างนั้นไปทั้งหมด โลกไม่ได้บรรจงจูบสวยงามไว้ให้กับเธอแต่ผู้เดียว ยังมีคนอีกหลายประเภทที่อยู่ขั้วตรงข้ามชนิดที่ยากเกินจะเข้าใจ
ไม่ว่าจะเป็น ‘สก๊อต’ คนสอนขับรถหัวร้อนที่หงุดหงิดได้แทบจะทุกอย่างในชีวิตและพร้อมจะระเบิดอารมณ์ได้ตลอดเวลา
น้องสาวคนเล็กที่ชอบทำหน้าบึ้ง ยิ้มยาก
น้องคนกลางที่ชอบเจ้ากี้เจ้าการชีวิตคนอื่น
หรือเด็กเกเรในห้องที่ชอบแกล้งเพื่อน
คนไร้บ้านที่ไม่อยากให้ใครมาเข้าใจ
มีเพียงคนเดียวที่พร้อมทำความเข้าใจการมองโลกในแง่ดีของเธอคือ ‘โซอี้’ รูมเมตที่อยู่ด้วยกันมานาน เธอจึงบอกราวบทสรุปจบในตอนท้ายว่า
“เราไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขได้หรอก”
สิ่งที่หนังเจียระไนเป็นภาพให้เห็นโดยไม่ต้องจินตนาการคือ ทุกคนมีต้นทุนปัญหาในชีวิตเป็นทุนเดิมสะสมมาไม่เท่ากัน สายตาการมองโลก ความสวยงามจึงต่างกัน
ปัญหาของคนมองโลกในแง่ร้ายเป็นทุนเดิม จึงมักหลีกเลี่ยงไม่พ้นแผลที่เคยถูกกระทำมาก่อนกันทั้งสิ้น
จากที่เคยขาวจึงค่อยๆ กลายเป็นดำ จากสภาพแวดล้อมและสังคมที่กำหนดชีวิตคนคนนั้น
เช่นดังคำที่ว่า น้ำดินเป็นอย่างไร คนก็เป็นเช่นนั้น
ทีนี้ลองมาพูดถึงในระดับที่ลึกลงในจิตใจมนุษย์อย่างหนังสือ Yellowface (หรือ ‘วรรณกรรมสลับหน้า’) กันดูบ้าง ว่าด้วยเรื่องราวของเพื่อนที่คิดไม่ซื่ออย่าง ‘จูน’ ที่แสดงออกถึงความอิจฉาริษยา แต่กลั่นเก็บไว้ในใจ ก่อนสบโอกาสฉวยคว้าผลงานต้นฉบับของ ‘อะธีนา’ เพื่อนนักเขียนดาวรุ่งที่เสียชีวิตแล้วสวมรอยแอบอ้างมาเป็นของตน
แต่ระหว่างทางที่ได้มาซึ่งการยอมรับนับหน้าถือตา กลับต้องแลกมาซึ่งความเจ็บปวด หลอกหลอน จนแทบจะพังพาบในท้ายที่สุด
แม้จะเป็นเรื่องแต่งที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น ชิงไหวชิงพริบ และสู้ยิบตาจนนาทีสุดท้ายของหน้ากระดาษ
แต่ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นเพื่อน แต่ลับหลังเพื่อนที่ดูเหมือนว่าเป็นมิตรกลับถือมีดรอจังหวะทิ่มแทงอยู่ตลอดเวลา
คำว่าการได้รับการยอมรับในทุกสื่อ ทุกแพลตฟอร์มในโลกทุกวันนี้มันช่างหอมหวานเสียยิ่งกระไร ด้านหนึ่งก็พุ่งพรวดทะยานแรงเร็ว อีกด้านก็พังทลายรวดเร็วมานักต่อนัก
บทเรียนของนักปลอมแปลงลวงหลอกโลก สุดท้ายก็สลัดหนีตัวไม่พ้นหรือเขวี้ยงงูไม่พ้นคอกันสักราย!
หวนกลับสู่ปัญหาทางจิตกันสักเรื่องกับ The perks of being a wallflower หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘ขอให้วัยเยาว์ของเราเป็นนิรันดร์’ บันทึกเรื่องราวของชาร์ลี เด็กหนุ่มวัยมัธยมปลายที่เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ แต่ชอบรับฟัง ชอบเขียนบันทึกและอ่านหนังสือมากกว่า
ครูบิลล์ผู้มองออกและเห็นความพิเศษในตัวของเขา จึงแนะนำให้ชาร์ลีอ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่มและเขียนเรียงความออกมา (อาทิ วรรณกรรมคลาสสิคอย่าง The Catcher in The Rye หรือ To Kill a Mockingbird)
รวมถึงบันทึกเรื่องราวของเพื่อนรุ่นพี่อย่าง ‘แพทริก’ กับ ‘แซม’ ความรักที่ชาร์ลีมีต่อแซม เรื่องราวในครอบครัวของชาร์ลีเอง (พ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาว) เรื่องเล่าของคุณตาและอีกหลายเรื่องในบันทึกความทรงจำ โดยเฉพาะเรื่องของป้าเฮเลนที่มักจะคืบคลานขึ้นมาจากการกลบฝังในวัยเยาว์ของเขาเสมอๆ
เราได้เห็นอะไรจากการเติบโตขึ้นมาของเด็กคนหนึ่ง เห็นอะไรจากเรื่องราวที่พยายามสื่อสารให้เราเห็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่อยจินตนาการตามพัฒนาการที่ ‘ไปต่อไม่ได้’ ของตัวละคร ผู้มีปมฝังลึกอยู่ในใจจนต้องเข้าออกโรงพยาบาลพบจิตแพทย์เป็นว่าเล่น เหล่านี้คือสิ่งที่ยากเกินรับมือของคนในครอบครัวจะเข้าถึง หากไม่พูดออกมาให้กระจ่างชัด
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ประสบการณ์เลวร้ายที่ชาร์ลีประสบจนกลายเป็นภาพหลอกหลอนไม่ลบเลือนนั้น กลับพบว่าผู้ที่ทำต่อตัวชาร์ลีก็เคยถูกกระทำในร่องรอยซ้ำเดียวกันนี้มาก่อนเช่นกัน
อาจกล่าวได้อย่างไม่เยินยอจนเกินไปนักว่า The perks of being a wallflower เป็นหนึ่งในหนังสือที่ควรค่าแก่การศึกษา เพราะวิเคราะห์เจาะลึกจิตใจตัวละครทุกตัวได้ดีเทียบเท่าหนังสือจิตวิทยาดีๆ สักเล่มหนึ่ง
หนังสือชี้ให้เห็นว่าแต่ละตัวละครมีที่มาอย่างไร เติบโตมาอย่างไร อะไรบ่มเพาะให้เขาเธอเหล่านั้นเป็นคนเช่นนี้
ซึ่งน่าเสียดายว่าภาพยนตร์ลดทอนเสน่ห์ตรงนี้ของหนังสือไปโดยปริยาย (เน้นความสัมพันธ์ในวัยเรียนกับผองเพื่อนเสียมากกว่าและปัญหาทางจิตของชาร์ลีเป็นหลัก)
คราวนี้ลองเหวี่ยงกลับมาที่หนังสโลว์ไลฟ์ Perfect Days (2023) ของผู้กำกับฯ วิม เวนเดอร์ส กันสักหน่อย เรื่องราวของ ‘ฮิรายามะ’ ชายทำความสะอาดส้วมสาธารณะในญี่ปุ่น
เรื่องราวธรรมดาสามัญที่กินใจคนไปทั่วโลกเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องแสนธรรมดาในชีวิตประจำวันของเขา ‘วันนี้ก็คือวันนี้’ ไม่ใช่วันพรุ่งนี้หรือในวันวานไม่ย้อนกลับมา
ชีวิตธรรมดาที่ไม่ต้องโจนทะยานอยากได้แสงไฟสาดส่องเหมือนตัวละครจูนในหนังสือ Yellowface
ไม่หงุดหงิดหัวเสียตะพึดตะพือไปทุกเรื่องเหมือนอย่าง ‘สก็อต’ ในหนัง Happy-Go-Lucky แต่มีความสุขในแบบฉบับเรียบง่ายเป็นของตัวเอง อย่างกาแฟยามเช้า รดน้ำต้นไม้ ฟังเพลงจากเทปคาสเส็ต อ่านหนังสือ กินอาหารร้านเดิมๆ นั่งสวนสาธารณะ มองต้นไม้ มองแสงแดง ดื่มด่ำบรรยากาศเดิมๆ ในทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมาฟังเสียงคนกวาดถนน ทุกวันคือความสุขและแน่นอนว่านิยามความสุขของแต่ละคนไม่เท่ากัน
แต่ทว่า คน ‘น้อยแต่มาก’ แบบนี้นี่แหละคือคนที่ ‘ข้างใน’ มีมากพอแล้ว จึงไม่อยากสร้างเรื่องสร้างราวอะไรให้เกินตัวไปมากกว่าที่เป็นอยู่
ตัวละครตัวนี้ก็คล้ายกับ ‘โยโกะ’ ในฉบับที่อ่อนวัยกว่า ในภาพยนตร์อย่าง Caf? Lumiere (2003) ของผู้กำกับฯ โหวเสี้ยวเฉียน ที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย เงียบๆ ลำพัง อยู่กับการอ่านหนังสืออยู่ในร้านกาแฟร้านเดิมๆ มีเพื่อนเป็นเจ้าของร้านหนังสือมือสองที่ชื่อ ‘ฮาจิเมะ’
ต่างคนต่างทำงานที่รัก ไม่สุงสิงกับใครมากนัก เป็นนิยามชีวิตที่ดูออกจะน่าเบื่อเกินไปสำหรับคนในยุคสมัยนี้
แต่เธอก็ออกแบบชีวิตที่เรียกได้ว่า ‘ความสุข’ ในแบบของตัวเองอย่างชนิดที่ไม่ต้องวิ่งไขว่คว้าหาความสุขอย่างที่คนอื่น ‘ออกแบบ’ โพสต์ไว้ใน Instagram หรือ Facebook เธอเลือกที่จะลดทอนละทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตเหมือนฮิรายามะ
นิยามความสุขของสองคนนี้จึงละม้ายคล้ายกันคือ ‘มินิมอลลิสม์’ (Minimalism) ทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ สมองและหัวใจราวกับลิ้นชักที่จัดสะอาดเป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง
โลกภายนอกจึงเขย่าคนแบบนี้ได้ยากเต็มที
การที่ผู้เขียนหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาพูดถึง ‘น้อยแต่มาก’ ‘โลกสวย’ หรืออะไรทำนองนี้ก็ตาม ทั้งนี้ เพียงแค่อยากให้มองหาและ ‘เห็น’ ความสุขในแบบฉบับที่เรียบง่ายเหมือนอย่างตัวละครดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่จมจ่อมอยู่กับเรื่องในอดีต เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เรื่องที่ยังมาไม่ถึง หรือสร้างเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘ไม่ง่าย’ และยากเต็มทีที่จะให้ทุกคนมองโลกด้วยแว่นสายตาเดียวกัน
ชีวิตจริงไม่เหมือนอย่างในภาพยนตร์ มนุษย์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องที่เห็นว่าสำคัญไม่เท่ากัน
คนขาดความรักจึงอยากจะได้ความรักมาเติมเต็ม
คนอยากได้รับการยอมรับจึงอยากไขว่คว้าชื่อเสียงมาสนองตัวตน
เช่นเดียวกับคนที่อยากประสบความสำเร็จ ก็อยากจะได้ความสะดวกสบายในชีวิต บ้าน รถ ทรัพย์สินเงินทองมารองรับ สร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง ฯลฯ
มนุษย์จึงต่างจิตต่างใจและยากจะแยกออกว่าแต่ละคนขาดพร่องสิ่งใดและกำลังต้องการสิ่งใดมาเติมเต็มหรือทบทวียิ่งขึ้นไปอีก
จิตใจมนุษย์จึงซับซ้อนและร้ายแรงยิ่งกว่ายาพิษ หากพื้นฐานมนุษย์มีใจที่หยาบกระด้างโลภโมโทสันเป็นทุนเดิม แต่หากพื้นฐานเป็นคนจิตใจดี เหมือนมีเมฆสีทองในการ์ตูนดราก้อนบอลมาทดสอบ ชีวิตก็จะโลดแล่นพุ่งทะยานและตกต่ำลงได้ยาก
จริงหรือไม่ อย่างน้อยโดยภาพรวม เราคงได้เห็น ‘พิมพ์เขียว’ การออกแบบของชีวิต ทั้งในโลกความจริงและสถานการณ์จำลองในโลกภาพยนตร์และในหนังสือกันแล้วว่า ‘ทางที่เลือก’ เป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตที่กำลังจะเป็นไปของคนคนนั้น จะดีหรือร้าย จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ‘ทางออกเดียว’ โดยบริสุทธิ์ใจนั้นก็คือ อย่าไปทำร้ายทำลายความรู้สึกใครเป็นดีที่สุด อย่าหยิบยื่นยาพิษในมือคุณส่งให้ใคร
เพราะแรงต้านทานพิษของคนต่างกัน!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022