

บทความพิเศษ
รากฐาน แห่งฉายา ‘กุ’
มองใบหน้า ‘สยามประเภท’
เป็น ‘สยามประภืท’
เมื่อเขียนบทความเรื่อง “กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์” ธงชัย วินิจจะกูล แสดงความเชื่อมั่นว่า นักประวัติศาสตร์รู้จักกิตติศัพท์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นอย่างดี
ที่สำคัญคือ เขาทำความผิดเกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือ ผลิตความรู้ (หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าวงวิชาการ) ใน 2 เรื่องใหญ่ๆ
จนถูกหาว่าเป็นคนบ้า ฟั่นเฟือน ส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าเป็นการสั่งสอนเบาะๆ เสีย 7 วัน
ความผิด 2 เรื่องใหญ่ของกุหลาบ ได้แก่
ประการแรก เขาถูกตัดสินว่าเขียนเรื่องประวัติศาสตร์อย่างจงใจผลิตเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมา
ความผิดข้อนี้กลายเป็นตราบาปต่อเกียรติประวัติของเขาต่อมาอีกแสนนาน
เพราะทำให้เกิดคำว่า “กุ” (ซึ่งมาจากชื่อของเขา) ในความหมายไม่ดีดังที่เราท่านใช้กันอยู่ทุกวันนี้
อีกประการหนึ่ง การลักลอบเอาหนังสือหอหลวงออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาต
แถมยัง “ลอก” โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วยเพื่อมาตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือและวารสารของตน
นอกจากนี้ กุหลาบยังชอบคุยโวว่าตนมีหนังสือเก่าๆ วิเศษมากมายในครอบครอง แถมรอบรู้เรื่องราวเก่าๆ ธรรมเนียมโบราณ จนปัญญาชนคนชั้นสูงของสยามในเวลานั้นหลายคนเคารพนับถือเขา
บางคนหมั่นไส้ดูแคลนเขา
ปม ทาง จินตภาพ
ต่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ
ปัญหาของ ก.ศ.ร.กุหลาบ สำหรับคนชั้นหลังจึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับ “ภาพ” ในทางความคิด และ “รูปธรรม” ในทางที่เป็นจริง
ไม่ว่าเมื่ออ่าน นายตำรา ณ เมืองใต้ ไม่ว่าเมื่ออ่าน เกร็ก เรย์โนลด์
มองจากมุมของ นายตำรา ณ เมืองใต้ ก.ศ.ร.กุหลาบ มีความย้อนแย้งในตัวเอง ด้านหนึ่ง เมื่อครั้งมีการแสดงการพิพิธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง ร.ศ.100 ก.ศ.ร.กุหลาบ นำหนังสือออกร่วมแสดง 150 เรื่อง เป็นหนังสือพันเล่มเศษ นับว่าเป็นเจ้าของคลังหนังสือ
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ก็ทำให้คนสนเท่ห์ว่าได้มาจากไหน โดยอาการอย่างไร
ยิ่งนักหนังสือสมัยนั้นซึ่งเป็นเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ยิ่งพากันพิศวงนัก
เมื่ออ่าน “แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ กุหลาบแห่งกรุงสยาม” ของ บุญพิสิฐ ศรีหงส์ อันตีพิมพ์ผ่านสำนัก “ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ” เมื่อเดือนสิงหาคม 2560
ก็จะเข้าใจ
รากที่มา แห่ง “กุ”
กับ ก.ศ.ร.กุหลาบ
ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือนายกุหลาบ เป็นสามัญชนชาวสยามผู้ซึ่งได้รับคำอธิบายจากชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมผิดปกติ ชนชั้นนำสยามครั้งนั้นเห็นว่า
ก.ศ.ร.กุหลาบ คือผู้ชอบอวดอ้างสร้างเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เป็นผู้คัดลอกเรื่องราวจากพงศาวดารและเรื่องเก่าแก่โบราณไปจากหนังสือหอหลวงของราชสำนัก
แล้วนำไปแทรกข้อความปลอมแปลงให้แตกต่างไปจากต้นฉบับก่อนนำไปตีพิมพ์จำหน่ายแจกจ่าย
ก.ศ.ร.กุหลาบทำการเช่นนั้นหลายครั้งจนกระทั่งชนชั้นนำแห่งราชสำนักจับสังเกตได้ จึงบอกเล่ากล่าวเหยียดเรื่องราวพฤติกรรมนั้นให้รู้กันทั่ว ในสายตาของชนชั้นนำสยามขณะนั้นเห็นว่าพฤติกรรมเช่นที่ ก.ศ.ร.กุหลาบประพฤติเป็นรูปแบบหนึ่งในการสร้างความรู้แบบผิดๆ ของไพร่สามัญชน
หรือบุคคลที่มิได้อยู่ในแวดวงของชนชั้นนำที่มีอำนาจในสังคม
ความรับรู้และความจดจำเชื่อถือของชนชั้นนำแห่งราชสำนักด้วยเรื่อง ก.ศ.ร.กุหลาบ เช่นว่านี้ต่อมาแพร่ขยายเข้าสู่ความรับรู้สาธารณชนจนเกิดเป็นความเข้าใจความหมายของคำศัพท์ว่า “กุ”
ที่ชนชั้นนำแห่งราชสำนักริเริ่มใช้เป็นคำศัพท์สแลงในความหมายถึงการเดากล่าวอ้างสร้างเรื่องเท็จไม่มีมูลความจริง
ซึ่งชนชั้นนำราชสำนักริเริ่มใช้คำเรียกล้อเลียนพฤติกรรมของ ก.ศ.ร.กุหลาบหลายคำจนกระทั่งมีคำเรียกคำศัพท์สแลงคำหนึ่งว่า “กุ” ซึ่งในที่สุดกลายเป็นคำศัพท์ที่เข้าใจแพร่หลายมากขึ้นในหมู่สาธารณชน
บทสรุป บทบรรยายของ บุญพิสิฐ ศรีหงส์ คือ
จาก สยามประเภท
ไปสู่ สยามประภืท
การที่สาธารณชนรับรู้ เข้าใจและใช้คำศัพท์สแลงว่า “กุ” กันจนแพร่หลายเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาแต่พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงระบุชื่อและคำอธิบายความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวนี้ในพระนิพนธ์ 3 เรื่อง
ได้แก่ พระนิพนธ์ “คำนำ” ในหนังสือ “ตัวอย่างหนังสือสยามประภืทของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2468
กับพระนิพนธ์ “คำนำ” ใน “จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ซึ่งแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย” พิมพ์ใน พ.ศ.2472 และพระนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี นิทานที่ 9 เรื่องหนังสือหอหลวง” รวมพิมพ์ครั้งแรกใน “นิทานโบราณคดี” เมื่อ พ.ศ.2487
อีกทั้งพระองค์ก็ทรงเคยนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ที่กล่าวถึงพฤติกรรม “ผู้ร้ายในทางหนังสือ” หรือ “พวกผู้ร้ายปลอมหนังสือ” แต่มิได้ระบุชื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ อย่างเปิดเผยมาก่อน
อาทิ พระนิพนธ์ “คำนำ” ในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ หรือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ” พิมพ์แจกในงานศพเจ้าจอมมารดาสังวาลในรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2457 อีกด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหอหลวงว่า
เป็นที่เก็บหนังสือต่างๆ ของราชการกับเรื่องราวปลีกย่อยอื่นๆ อันเป็นที่มาของการลักลอบคัดหนังสือหอหลวง ทรงระบุชื่อและพรรณนาพฤติกรรมของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นครั้งแรกในพระนิพนธ์ “คำนำ” ในหนังสือ “ตัวอย่างหนังสือสยามประภืทของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” ว่า “นายกุหลาบ”
ทรงบรรยายว่า นายกุหลาบทราบถึงหนังสือหอหลวงมีเรื่องต่างๆ จำนวนมากมีอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ จึงพยายามเข้าเฝ้าแหนทำตนให้เป็นคนคุ้นเคยจนสามารถทูลยืมหนังสือฉบับหอหลวงไปอ่านได้ทีละเล่มสองเล่ม
เห็นเรื่องใดดีก็สำเนาคัดไว้ เช่น เรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด และพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นผู้แต่ง เป็นต้น
ต่อมา นายกุหลาบออก “หนังสือพิมพ์สยามประเภท” เป็นรายเดือนแสดงความรู้เรื่องโบราณคดีต่างๆ ชั้นแรกมักเป็นความจริงแกมเท็จซึ่งอาศัยหนังสือฉบับหอหลวงที่ได้คัดและแทรกแซงเพิ่มเติมไว้
และพระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตต่อ “หนังสือพิมพ์สยามประเภท” ว่า
“เห็นจะขายดีมีผู้ชอบอ่านโดยมากแม้ในพวกผู้ที่ได้เล่าเรียน เช่นเจ้านายก็โปรดทรงเพราะเห็นขบขันด้วยทรงทราบหลักฐานกับความเท็จที่อ้างระคนปนกัน อ่านสนุกในกระบวนการสังเกตหาความเท็จและความจริง
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงทรงแต่งหนังสือสยามประภืท ล้มหนังสือสยามประเภทใน พ.ศ.2442 (ร.ศ.118)”
บท ก.ศ.ร.กุหลาบ
ในฐานะ “เอดิเตอร์”
อย่าได้แปลกใจที่ “สยามประเภท” กลายเป็น “สยามประภืท” อย่าได้แปลกใจที่นามของ ก.ศ.ร.กุหลาบ จะถูกกร่อนเป็น “กุ”
ใน “หอสมุดแห่งชาติ” ในยุค 2490 จึงต้องมีการติด “กุญแจ”
การทำความเข้าใจต่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในฐานะบรรณาธิการ ในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือจึงมีความสลับซับซ้อน
ดำรงอยู่บนความน่าสงสัย กลายเป็นคำถาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022