เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

จากสัญญา ‘เบาว์ริ่ง’ ถึงสัญญาการค้า ‘ทรัมป์’ | ธงทอง จันทรางศุ

08.05.2025

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

จากสัญญา ‘เบาว์ริ่ง’

ถึงสัญญาการค้า ‘ทรัมป์’

 

ข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งของเมืองไทยเวลานี้ที่ใหญ่ไม่แพ้ข่าวเรื่องตึก สตง.ถล่ม หรืออาจจะใหญ่กว่าด้วยซ้ำ คือเราจะทำอย่างไรกันดีกับการค้าขายกับสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าจากประเทศไทย ขึ้นไปเป็นอัตรา 34% รวด โดยไม่ต้องจำแนกแจกแจงกันล่ะว่าเป็นสินค้าอะไร

และแต่แรกทีเดียวทำท่าว่าจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ได้ผ่อนปรนกำหนดระยะเวลาข้างต้นออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้เราคือฝ่ายไทยได้เข้าไปเจรจาต่อรอง

และเหตุการณ์ที่เหมือนกันนี้ก็เกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดความกระเพื่อมหรือความวุ่นวายติดตามมาสำหรับเวทีการค้าระดับโลกครั้งใหญ่ และเป็นข่าวตามสื่อมวลชนทุกชนิดไม่เว้นวัน

ตามความเข้าใจของผมแบบไม่ได้เปิดระบบสืบค้นตัวเลขให้ชัดเจน แต่ไม่น่าผิดพลาดมากนัก สินค้าของไทยเราส่งไปขายในสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีมีจำนวนมาก อาจจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับสัดส่วนประมาณหนึ่งในห้าของสินค้าขาออกจากบ้านเราที่ส่งไปขายตามต่างประเทศต่างๆ เสียด้วยซ้ำ และรายได้ส่วนนี้เอง เป็นรายได้สำคัญของเมืองไทย

ถ้าสัดส่วนสินค้าส่งออกไปขายอเมริกาลดลงย่อมส่งผลกระทบถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแน่นอน

 

จากข่าวสารสาธารณะ ทีมเจรจาซึ่งจะไปจากเมืองไทยได้เตรียมประเด็นสี่ห้าเรื่องสำคัญสำหรับไปพูดกับทีมทางฝั่งอเมริกา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพยายามที่จะสั่งสินค้าจากสหรัฐอเมริกามาขายในเมืองไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าด้านการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์ต่างๆ ซึ่งบางเรื่องก็ง่าย และมีโอกาสแห่งความเป็นไปได้มาก ส่วนบางเรื่องก็มีข้อติดขัดว่าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศไทยเพียงใด

ประเด็นการเจรจาบางเรื่องอาจนำไปสู่การลดอัตราภาษีสำหรับสินค้านำเข้าบางอย่างที่มาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เขาขายสินค้าเข้ามาในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น ผลรวมปลายทางคือดุลการค้าระหว่างสองประเทศ ที่ไทยเราส่งออกมากกว่านำเข้า จะได้ปรับเปลี่ยนไปอยู่ในภาวะซึ่งสหรัฐอเมริการู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เสียเปรียบอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เรื่องเสียเปรียบได้เปรียบนี่พูดกันยากนะครับ ในทัศนะของเราทุกอย่างอาจจะลงตัวดีอยู่แล้ว แต่จะไปบังคับให้คู่ค้าของเราคิดเหมือนใจเราทุกอย่างไป นี่ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน

บ้านเราเป็นประเทศเล็ก อำนาจในการเจรจาต่อรองคงเปรียบไม่ได้กับประเทศใหญ่ ตั้งแต่มีข่าวใหญ่เรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราจะพบว่าประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่มากและได้รับผลกระทบจากมาตรการการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์โดยตรงและรุนแรง ได้ใช้มาตรการตอบโต้และมีท่าทีว่าเรื่องนี้จะเป็นหนังม้วนยาว

แต่จะสนุกถึงพริกถึงขิงมากแค่ไหนก็ต้องตามดูกันต่อไป

 

ได้ยินจากข่าวสารสาธารณะว่า กลุ่มประเทศอาเซียนเองได้พยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อมีประเด็นการค้าร่วมสำหรับไปเจรจากับฝั่งอเมริกาเพื่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นและมีอำนาจต่อรองที่ดีขึ้นกว่าการไปพูดคุยแบบต่างคนต่างไปเป็นเอกเทศ จะเรียกว่าทำนองเดียวกันกับท่าทีของประเทศทั้งหลายในยุโรป หรืออียูก็ว่าได้

แต่เรื่องนี้ก็ยังต้องฟังหูไว้หูและตามดูกันต่อไปว่าการดำเนินการของอาเซียนจะสำเร็จผลได้จริงหรือไม่ จะไปเปรียบกับทางอียูนั้นไม่เหมือนกันสนิทหรอกครับ เพราะการรวมกลุ่มประเทศเพื่อมีผลประโยชน์เดียวกันของยุโรปนั้นมีความชัดเจนช้านานแล้ว

ส่วนของอาเซียนเรานั้น “ช้านานแล้ว” เหมือนกัน คือพูดกันมาช้านานแล้ว แต่ยังปฏิบัติได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่อยากจะให้เป็นไป

 

ผมไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีในเรื่องการค้าการขาย หนักไปทางเป็นผู้บริโภคเสียมากกว่า

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะติดตามข่าวสารเรื่องนี้โดยใกล้ชิด เพราะอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นอันขาด อย่างไรเสียก็ต้องส่งผลกระทบถึงพวกเราคนไทยทุกคน

ดังนั้น จึงต้องเป็นกำลังใจให้กับทีมเจรจาที่จะไปพูดคุยกับฝ่ายอเมริกา และตั้งความหวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นคำตอบในมุมบวกสำหรับบ้านเรา ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนและใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามาช้านานในหลายมิติ

ผมนึกพยากรณ์ต่อไปว่า ผลการเจรจาไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะทำให้ทุกอย่างกลับไปสู่สถานะเดิม เหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เคยประกาศอะไรออกมาเลย

ความเปลี่ยนแปลงสำหรับสินค้าที่เราส่งออกไปขายในสหรัฐอเมริกาต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาขายในประเทศไทยก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผู้ที่อยู่ในแวดวงการค้าการขายไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับผลกระทบต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น

ภาครัฐเองไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบายหรือระดับปฏิบัติการตามกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายก็ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเช่นเดียวกัน

 

หลายท่านคงพอทราบอยู่แล้วว่า ผมเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์คราวนี้ขึ้น ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

จำได้ไหมครับว่าในปีพุทธศักราช 2397 ไทยเราได้ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับประเทศอังกฤษ และในเวลาต่อมา เราได้ลงนามในสนธิสัญญาที่มีสาระทำนองเดียวกันกับชาติตะวันตกอีกหลายประเทศ เป็นประเด็นที่ครูบาอาจารย์ได้สอนเราให้ความทรงจำว่า สัญญาฉบับนั้นเป็นสัญญาเสียเปรียบที่ไทยเราจำยอมต้องลงนามกับฝรั่งเพื่อแลกกับการที่เราจะสามารถดำรงความเป็นอิสรภาพของเราไว้ได้

ข้อเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ ถ้าผู้คนของประเทศคู่สัญญามาทำผิดในเมืองไทยของเราแทนที่จะขึ้นศาลไทย คดีกลับต้องไปอยู่ในอำนาจของศาลกงสุล คือ ตัดสินคดีด้วยผู้พิพากษาหรือนักกฎหมายของประเทศนั้นๆ คนไทยซึ่งเป็นคู่ความต้องไปขึ้นศาลที่พูดภาษาฝรั่ง แบบนี้ก็แย่สิครับ โอกาสแพ้มีเต็มประตูอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด เสียเปรียบชัวร์ครับ

กว่าที่เราจะแก้ปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นี้ได้สำเร็จลุล่วงก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก และมาสำเร็จผลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียด้วยซ้ำ เรียกว่าใช้ทำงานกันประมาณสองชั่วคนเลยทีเดียว

ในการทำงานเพื่อยกเลิกความเสียเปรียบข้างต้น นอกจากการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศที่สำคัญ เช่น การตัดสินใจเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนกระทั่งเราอยู่ข้างฝ่ายที่รับชัยชนะและมิตรประเทศที่เป็นฝ่ายเดียวกันยอมแก้สัญญาที่มีมาแต่เดิมให้เรากลับมีอิสรภาพเต็มที่แล้ว

 

นโยบายอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การหันมาปรับปรุงระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในประเทศประเทศไทยของเราให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาประเทศมากยิ่งขึ้น

เพราะหนึ่งในข้ออ้างที่ฝรั่งถือเป็นสาเหตุสำคัญและมาบีบบังคับให้ไทยเราเซ็นสัญญาเบาว์ริ่งนั้น เนื่องมาจากความล้าสมัยของประเทศไทยของเราเอง ที่กฎหมายของเราโบร่ำโบราณเต็มที ความชัดเจนของอำนาจตุลาการกับอำนาจบริหารก็หมองมัว ไม่ชัดเจน และแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

การพิจารณาคดีอาญาก็ใช้วิธีที่ชาติตะวันตกย่อมเห็นเป็นการป่าเถื่อน บีบขมับตอกเล็บหรือใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ หรือดำน้ำลุยเพลิง เป็นต้น

แลดูเป็นทศกรีฑาอย่างไรก็ไม่รู้

เขาเห็นเขารู้อย่างนี้ก็หวาดกลัว เลยมาบังคับให้เราต้องเซ็นสัญญาดังที่ว่า

การแก้ปัญหาของเราเพื่อนำไปสู่การยกเลิกสัญญาเสียเปรียบเช่นว่านี้ จึงจำเป็นต้องต้องใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง นั่นคือหันกลับมาปฏิรูปตัวเราเองให้มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งเมื่อมองในระยะยาวและมองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์

การดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปตัวเราเองเช่นว่านี้

นอกจากได้ผลเพื่อนำไปเป็นคำอธิบายกับฝรั่งให้ยกเลิกสัญญาเสียเปรียบแล้ว ประโยชน์โดยตรงก็ตกกับคนไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

 

ในทางการค้าก็เหมือนกันครับ สัญญาเบาว์ริ่งกำหนดให้ไทยเรายกเลิกระบบพระคลังสินค้า คือการค้าผูกขาดโดยรัฐที่เรามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พอเราลงนามในสัญญาแล้ว รัฐไทยก็ต้องปรับตัวครั้งสำคัญ เพราะรายได้หลักของเราที่มาจากระบบการค้าผูกขาดเช่นว่านั้นสูญหายไปชั่วพริบตา

เราต้องคิดใหม่ทำใหม่หลายเรื่องว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรจึงจะมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย

ขณะเดียวกันในภาคประชาชน ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยค้าขายโดยตรงกับพ่อค้าต่างชาติเลย ก็เกิดสถานการณ์ใหม่ที่คนไทยจะต้องปรับตัวและหัดค้าขายให้มากขึ้น หัดเจรจาต่อรอง รู้วิธีคิดกำไรขาดทุน รู้วิธีควบคุมต้นทุนการผลิต และต้องรู้อะไรอีกสารพัดเพื่อเอาตัวรอดในเมืองไทยยุคหลังสัญญาเบาว์ริ่ง

ด้วยมุมมองอย่างนี้ ผมจึงเห็นว่า แม้สัญญาเบาว์ริ่งจะมีโทษอยู่มาก แต่ก็มีคุณเจืออยู่ในเนื้อเรื่องมิใช่น้อย เพราะสัญญาเบาว์ริ่งเป็น “เครื่องมือเร่งรัด” อย่างสำคัญที่ทำให้รัฐไทยและคนไทยต้องปรับตัวให้ทันกับความเป็นไปในโลก

ต้องมีระบบกฎหมายที่ทันยุคทันสมัย ต้องคิดระบบจัดเก็บภาษีอากรที่มีประสิทธิภาพ ต้องหัดทำมาค้าขายให้ทันยุคทันเหตุการณ์

เรื่องเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นอานิสงส์จากสัญญาเบาว์ริ่งก็เห็นจะได้

มองให้กว้างไกลไปกว่านั้น ในวิกฤตก็มีโอกาสอยู่เสมอ

การไปมัวนั่งคิดนั่งแค้นอยู่กับวิกฤตจนกระทั่งละเลยการที่จะปรับตัวและนำวิกฤตมาเป็นโอกาส เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ

 

วิกฤตการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ (หรืออันที่จริงอาจจะเรียกว่าเป็นวิกฤตการค้าของโลกก็เห็นได้) เป็นจังหวะเวลาสำคัญที่เราต้องหวนกลับมาดูตัวเราเอง ด้วยระบบการผลิตในเรา ดูกำไรขาดทุน ดูความคุ้มค่าในการผลิต และอีกสารพัดดูที่ต้องเหลียวมองให้ทันท่วงทีว่าเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไรในช่วงเวลานี้และอนาคตในระยะยาว

การไหว้พระก่อนนอนด้วยวิธีการ ก้มลงกราบบนหมอน ภาวนาในใจว่า “เหมือนคืนก่อน” จบแล้วก็ล้มตัวลงนอน ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ต้องหาวิธีไหว้พระแบบใหม่แล้วล่ะครับ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568