
ผลสะเทือนของลัทธิมาร์กซ์ ต่อพรรคปีกก้าวหน้า ในยุโรปตะวันตก (2)

บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง
ผลสะเทือนของลัทธิมาร์กซ์
ต่อพรรคปีกก้าวหน้า
ในยุโรปตะวันตก (2)
สําหรับพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ ผลของการสนับสนุนรัฐบาลสหภาพโซเวียตในการปราบปรามประชาชนฮังการีในปี 1956 ความนิยมของพรรคก็ลดลงไปมาก
พรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษเกิดขึ้นในปี 1920 สะท้อนว่ารัสเซียได้ชัยชนะผ่านไป 3 ปีแล้ว เป็นรัฐสังคมนิยมเพื่อผู้ใช้แรงงานสามารถยืนหยัดอยู่ได้ การรวมตัวกันของกลุ่มกรรมกรและปัญญาชนก้าวหน้าเพื่อตั้งพรรคจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการและจริงจัง
และหลังจากสหภาพโซเวียต ล่มสลายในปี 1991 พรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษก็ถูกยุบ และเกิดพรรคประชาธิปไตยฝ่ายซ้าย (the Democratic Left) ในปีเดียวกัน
ทั้งได้เกิดพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 และอยู่ในระหว่างแสวงหาหนทางใหม่
ที่อิตาลี เมื่อต้องเผชิญกับรัฐบาลมุสโสลินี พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีก็กลายเป็นพรรคผิดกฎหมาย ต้องลงใต้ดิน นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1930s เป็นต้นมา
แนวคิดของพรรคแยกเป็น 2 กลุ่ม ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าแนวบอลเชวิกของเลนินซึ่งกำหนดให้ทุกหน่วยพรรคเคารพและขึ้นต่อคำสั่งของโคมินเทิร์นและมอสโก
ส่วนอีกฝ่ายเน้นแนวทางตามแนวคิดของอันโตนิโอ กรัมซี่ (A. Gramsci, 1891-1937)
เมื่อรัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินี (B. Mussolini, 1925-1943) ปราบปรามฝ่ายก้าวหน้า เริ่มในปี 1943 เป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีก็หันไปเลือกนโยบาย 1.สร้างสังคมนิยมแบบสันติและเน้นลักษณะเฉพาะของชาติ (Italian road to socialism) 2.เสนอโครงการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการประชาธิปไตย ไม่ใช้ความรุนแรง แต่อาศัยรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม
ในปี 1991 พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลียุบพรรคคอมมิวนิสต์ และสร้างพรรคใหม่ชื่อ พรรคประชาธิปไตยของฝ่ายซ้าย (The Democratic Party of the Left – PDS) จับมือกับพรรคสังคมนิยมและพรรคสังคมนิยมยุโรป
ขณะที่ฝ่ายนิยมแนวทางบอลเชวิกได้แยกไปตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ฐานใหม่ (The Communist Refoundation Party – PRC)
สําหรับพรรคคอมมิวนิสต์สเปนซึ่งก่อตั้งในปี 1921 ได้เป็นพรรคถูกกฎหมายในปี 1931 ตั้งแต่สเปนเป็นสาธารณรัฐที่ 2 ซึ่งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ
แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารในปี 1936 และสงครามกลางเมือง ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยถูกปราบปราม
นายพลฟรังโกเข้ายึดอำนาจ (General F. Franco, 1892-1975) พรรคคอมมิวนิสต์สเปนก็ถูกปราบปรามอย่างหนักและกลายเป็นพรรคที่ผิดกฎหมายอีกครั้ง
ในขั้นแรก พรรคเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่กำลังน้อยจึงถอยออกมาทำงานด้านกฎหมายแทน
เมื่อฟรังโกสิ้นอำนาจในปี 1975 กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ที่ 1 นำสเปนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์สเปนจึงได้เป็นพรรคที่ถูกกฎหมายอีกครั้งในปี 1977 พรรคคอมมิวนิสต์จึงสนับสนุนแนวทางนี้
ตั้งแต่ ค.ศ.1986 เป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์สเปนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพรรคก้าวหน้า จุดมุ่งหมายคือ เข้าร่วมแบบประชาธิปไตยในกระบวนการเปลี่ยนสังคมคือยกเลิกทุนนิยม และสร้างสรรค์สังคมนิยมทั่วโลก เพื่อทำให้การปลดปล่อยมนุษยชาติสู่คอมมิวนิสต์ปรากฏเป็นจริง
พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศยึดมั่นในการเป็นพรรคที่ปฏิวัติ, สากลนิยม, เน้นผนึกกำลังกันแน่น, สาธารณรัฐนิยม, สตรีนิยม และการแยกประชาสังคมกับศาสนาออกจากกันที่เรียกว่า secularist-laicite variety ถือเป็นทางเลือกใหม่
ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์โปรตุเกส ว่ากันว่าเป็นพรรคสายลัทธิมาร์กซ์และลัทธิเลนินรวมทั้งหลักการประชาธิปไตยรวมศูนย์ที่แข็งแกร่งที่สุดพรรคหนึ่งของยุโรป
พรรคคอมมิวนิสต์โปรตุเกสต้องเผชิญกับระบอบเผด็จการทหารนานถึงเกือบ 5 ทศวรรษ กลายเป็นพรรคผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 1926 สมาชิกจำนวนมากถูกกวาดล้าง
ในช่วงเวลาดังกล่าว กรรมการกลางของพรรคทั้งหมด 36 คนถูกจับกุมคุมขัง พวกเขาทั้งหมดถูกจับขังติดคุก เอาเวลาติดคุกรวมกันเป็นเวลาเกิน 300 ปี
จนเมื่อปี 1974 ได้เกิด Carnation Revolution (ทหารฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มทหารฝ่ายขวา) นำรัฐบาลใหม่เข้ายึดธนาคาร กิจการขนส่ง โรงงานเหล็ก เหมืองแร่ และธุรกิจติดต่อสื่อสาร และประเทศคืนสู่ประชาธิปไตยและให้เอกราชแก่อาณานิคมหลายแห่ง เช่น แองโกลา, โมซัมบิก และ Cape Verde
ตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา พรรคได้เข้าร่วมกลุ่มประชาธิปไตยที่รวมกันเรียกว่า Unitary Democratic Coalition (CDU) รวมทั้งกลุ่มกรีน (The Ecological Party – PEV) และพรรคได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองในทุกระดับ
ล่าสุดมีสมาชิกได้เป็นนายกเทศมนตรี รวม 18 คนจากเทศบาลระดับเมืองและหน่วยปกครองท้องถิ่นในชนบท (Parishes) โดยเน้นนโยบายจัดที่ดินเพื่อสหกรณ์ชาวนา คัดค้านการจัดระบบน้ำของเอกชน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมแท้องถิ่น ระบบการศึกษา สุขภาพอนามัย และการกีฬา และส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น
โครงการล่าสุด คือ Advanced Democracy for the 21st Century คือ ทำให้การทำแท้งถูกกฎหมาย, คุ้มครอบสิทธิคนงาน, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, เพิ่มค่ารักษาพยาบาล, เพิ่มค่าพยาบาลและการศึกษา ปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทางสังคม สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายไม่จำกัดยอดเงินบริจาคให้พรรคการเมือง และไม่เปิดเผยจำนวนเงินและชื่อของผู้บริจาค
พรรคคอมมิวนิสต์โปรตุเกสเป็นพรรคเดียวในสภาที่ไม่ประณามการเข้ายึดยูเครนของรัสเซีย แต่เห็นว่า สหภาพยุโรป องค์การนาโต และสหรัฐ เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ข้อ 2.3 ท่าทีและบทบาทของพรรคปีกก้าวหน้า
เนื่องจากแต่ละส่วนใน 4 ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ ได้มีการเอ่ยถึงไปแล้วไม่น้อย ยังมีอีกบางส่วนที่สมควรพูดถึง ต่อไปนี้จึงจะเป็นการประมวลและวิเคราะห์ภารรวมของปัจจัยที่ 3 และที่ 4 คือ
ข้อแรก การเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆ ที่สนใจในปัญหากรรมกร ปัญหาเศรษฐกิจทุนนิยม สังคมนิยมควรจะเป็นแบบใด และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่ตรงกันในประเทศต่างๆ และตื่นเต้นมากขึ้นเมื่อได้อ่าน “แถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์” (1848) ของมาร์กซ์-เองเกลส์ เพราะได้เกิดมุมมองใหม่ และมีทางเลือกใหม่ๆ มากมาย
นับตั้งแต่นั้น (1848) ก็กล่าวได้ว่าการโต้แย้งกันเรื่องแนวทางสร้าง สังคมนิยมของนักสังคมนิยมก่อนหน้านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ลาก่อน สังคมนิยมแบบยูโทเปีย ต่อไปนี้ ประเด็นสำคัญคือ แล้วเราจะสร้างสังคมนิยมให้ปรากฏเป็นจริงได้อย่างไร จึงขอเอ่ยนามของนักคิดนักปฏิบัติสำนักยูโทเปียไว้เป็นเกียรติ ณ ที่นี้ ได้แก่ Saint Simon,1760-1825, นักคิดสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส; Robert Owen, 1771-1858 เจ้าของแนวคิดสังคมนิยมแบบยูโทเปียและสหกรณ์คนงานแห่งเวลส์; Charles Fourier, 1772-1837 นักคิดคนสำคัญด้านสังคมนิยมแบบยูโทเปียชาวฝรั่งเศส ฯลฯ
ต่อจากนี้ไป จะเป็นการต่อสู้กันทางความคิดว่าด้วยแนวทางการทำให้สังคมนิยมที่เป็นธรรมเกิดขึ้น สิ้นสุดกันที ความอยุติธรรมในสังคม นักสู้และนักคิดฝ่ายสังคมนิยมและอนาธิปไตยต่อไปนี้ 6 คน ได้แก่
Pierre Proudhon, 1809-1865 ชาวฝรั่งเศส เจ้าของแนวคิดการปกครองตนเองของคนระดับล่าง
Mikhail Bakunin, 1814-1876 ชาวรัสเซีย ผู้คัดค้านแนวคิดเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ
Eduard Bernstein, 1850-1932 ชาวเยอรมัน ที่เห็นว่าระบบสังคมนิยมจะเกิดขึ้นได้ด้วยการต่อสู้แบบสันติ จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายทีละขั้นๆ เขาผู้นี้ถูกกล่าวหาว่า เป็นนักลัทธิแก้ (Revisionism) คนแรก
Karl Kautsky, 1854-1938 นักสู้นักคิดชาวเยอรมัน เป็นสายมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม (Orthodox) ที่คุมอิทธิพลทางความคิดของลัทธิมาร์กซ์ในช่วง 1985-1914 (หลังเองเกลส์เสียชีวิตจนถึงเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1
Georgi Plekhanov, 1856-1918 เจ้าของสมญาบิดาของลัทธิมาร์กซ์รัสเซีย ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะวิจารณ์การปฏิวัติ 1905 และ 1917 ว่าไม่สอดคล้องกับกฎประวัติศาสตร์ และไม่ยอมรับหลักการ Democratic Centralism ของเลนินก็ตาม เขาก็ยังคงโดดเด่นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของสหภาพโซเวียต
Rosa Luxemburg, 1871-1919 ชาวเยอรมัน จบปริญญาเอกด้านกฎหมายจากสวิส คัดค้านแนวทางสันติสู่สังคมนิยม เห็นว่าการต่อสู้แบบเป็นไปเองของกรรมกรสำคัญกว่าทัศนะพรรคกองหน้าของเลนิน
ความน่าสนใจของนักคิดและนักสู้ ทั้ง 6 คนนี้ก็คือ หลายคนอยู่ในยุคสมัยเดียวกันกับมาร์กซ์และเองเกลส์ ได้เห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองและสังคมในภูมิภาคยุโรปตะวันตกด้วยกัน เป็นนักสู้และนักคิดในวัยใกล้เคียง
หลายคนได้พบและสนทนากับทั้งมาร์กซ์และเองเกลส์ ได้ร่วมงาน และอ่านงานของกันและกัน และโต้แย้งถกเถียงกันหลายครั้ง
และมีบางคนได้พบเลนิน-ทรอตสกี้ และได้ติดตามสถานการณ์ในรัสเซีย ได้เสนอทัศนะต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกด้วย
น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เพลคานอฟและลักเซมเบิร์กเสียชีวิตเร็วเกินไป คนแรกล้มป่วย คนหลังถูกทางการเยอรมนีสั่งประหารหลังรัสเซียปฏิวัติ 1917
เริ่มต้นที่ พรูด็อง ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ ปรัชญาว่าด้วยความยากจน (The Philosophy of Poverty แล้วก็ปะทะกับมาร์กซ์ ซึ่งเขียนหนังสือโต้ชื่อ ความยากจนของปรัชญา (The Poverty of Philosophy)
พรูด็องสนับสนุนแนวคิดสภากรรมกร (workers’ councils) และสมาคมหรือสหกรณ์ (associations/cooperatives) เขายังเห็นด้วยกับการให้กรรมกร/ชาวนาเป็นเจ้าของสินทรัพย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้รัฐเข้าถือครองที่ดินรายใหญ่หรือธุรกิจรายใหญ่
เขาเห็นว่าการปฏิวัติสังคมเกิดขึ้นได้โดยสันติวิธี
เขาวิพากษ์อำนาจของรัฐ และสนับสนุนเสรีภาพในการนับถือศาสนา, การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม เขาเรียกหาสังคมที่ไม่ใช้อำนาจบังคับผู้ใด (society without authority)
ล้อมกรอบปิดท้าย
“การถูกปกครอง (To be Governed) คือ ถูกสอดส่อง, ตรวจสอบ, แอบดู, กำกับ, ถูกกฎหมาย, ระเบียบให้ทำหรือไม่ให้ทำ, ถูกจัดระเบียบ, อบรม, สั่งสอน, ประเมินหรือให้คะแนน… ทั้งหมดนี้ลงมือโดยบุคคลที่ไม่มีสิทธิ หรือสติปัญญา หรือคุณความดีอะไรมาทำเช่นนั้นได้…
การถูกปกครอง ก็คือ ให้รัฐปฏิบัติการได้ทุกเรื่อง มีการบันทึก, ลงทะเบียน, มีประทับตรา, เสียภาษี, ถูกประเมิน, อนุญาต, ออกคำสั่ง, เตือนแรง, ห้าม, ปฏิรูป, แก้ไขและลงโทษ, บีบคั้น, บีบเอา, ขูดรีด, ดุด่า, ถูกเหยียดหยาม, ปรับ, คุมขัง, ประหาร, เนรเทศ ฯลฯ นี่หรือคือการปกครองที่ยุติธรรม มีศีลธรรม??
ในปี 1863 (2 ปีก่อนจากไป) พรูด็องเขียนไว้ในงาน หลักการกระจายอำนาจ (The Principle of Federation) โดยเห็นว่า ต้องใช้เสรีภาพไปถ่วงดุลกับอำนาจ และเสนอว่ารัฐบาลกลางต้องกระจายอำนาจให้หน่วยต่างๆ… อนาธิปไตยคืออำนาจของตัวเอง (the government of each by himself) หมายถึงรัฐต้องดูแลพลเมืองให้ปลอดจากการเอาเปรียบของกลุ่มเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมืองจะต้องมีควบคู่ไปกับสิทธิทางเศรษฐกิจ… เสรีภาพที่ไม่มีการควบคุม ย่อมเกิดการแสวงหาอำนาจมากเกินไป เช่นเดียวกัน แต่ละฝ่ายย่อมต้องมีอำนาจในการควบคุมซึ่งกันและกัน…”
Proudhon, The Philosophy of Poverty (1847) and The Principle of Federation (1863)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022