
เมษา พฤษภา 2553 การเจรจา จุดเริ่ม ความล้มเหลว ต่างเป้าหมาย ต่างความต้องการ

ยุทธการ แดงเดือด
เมษา พฤษภา 2553
การเจรจา จุดเริ่ม ความล้มเหลว
ต่างเป้าหมาย ต่างความต้องการ
ในบรรยากาศแห่งการตั้ง “กำลัง” ประจันหน้าระหว่างรัฐบาลกับ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ฝ่ายหนึ่งรวมพลอยู่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ กระจายกำลังออกตลอดแนวถนนราชดำเนิน อีกฝ่ายหนึ่งแม้จะมีทำเนียบรัฐบาลเป็นสัญลักษณ์
แต่ภายหลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินก็มีกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์เป็นกองบัญชาการ
ที่ถนนราชดำเนินเป็นกำลัง “การเมือง” ที่ ร.11 รอ.เป็นกำลัง “ทางทหาร”
ในที่สุดการจัดตั้ง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานทำความตกลงเบื้องต้นก็นำไปสู่บทสรุปร่วมกัน
นั่นก็คือ การเจรจาในทางการเมืองระหว่าง 2 ฝ่าย
“มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2553 บันทึกรายละเอียดการเจรจาพร้อมกับอินโฟกราฟิกข้อเสนอจากรัฐบาล
ขอให้ศึกษาจังหวะก้าวและรายละเอียดจากแต่ละฝ่าย
วันที่ 28 มีนาคม 2553 รัฐบาลเปิดเจรจากับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ที่สถาบันพระปกเกล้า ตัวแทนของแต่ละฝ่ายประกอบด้วย
ฝ่ายรัฐบาล มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
ฝ่าย นปช.แดงทั้งแผ่นดิน มี นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นพ.เหวง โตจิราการ
โดยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตั้งแต่เวลา 16.30-20.00 น.
“มติชน” บันทึกประเทศไทยระบุว่า นับเป็นการเจรจาเพื่อหาทางออกทางการเมืองครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
ทำให้ประชาชนได้เห็นถึงท่าทีในการเจรจา การชิงไหวชิงพริบ ข้อเสนอและการดีเบตระหว่างกัน
เราจึงได้เห็นภาพ คณะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จับมือกับคณะของ นายวีระ มุสิกพงศ์ ก่อนที่จะเปิดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่สถาบันพระปกเกล้า ถนนแจ้งวัฒนะ
แม้จะยิ้มแย้มต่อกันและกัน แต่ทว่าผลการเจรจาในวันแรกไม่เป็นที่ยุติ จึงนัดเจรจากันอีกครั้งในวันถัดมา
การเจรจาในวันที่ 29 มีนาคม จึงทวีความร้อนแรงแหลมคมเป็นพิเศษ
ในวันที่ 2 ของการเจรจา ฝ่ายของรัฐบาลมาพร้อมกับการยอมรับของรัฐบาลที่จะยุบสภาภายใน 9 เดือนโดยข้อเสนอนี้ของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าผ่านความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้ว
จากนั้นก็แสดงกระบวนการดำเนินการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสู่การยุบสภาหากเป็นที่ตกลง
วันที่ 30 มีนาคม 2553 ครม.พิจารณาการออกเสียงประชามติ
จากนั้น วันที่ 1-2 เมษายน พบประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา จากนั้น วันที่ 5 เมษายน นายกรัฐมนตรีประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องประชามติ
กำหนดวันออกเสียงประชามติ มาตรา 5 ภายในไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วันนับจากวันที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเมื่อวันที่ 5 เมษายน เป็นวันที่ 11 กรกฎาคม เท่ากับ 98 วัน
วันที่ 20 กรกฎาคม นำผลประชามติเสนอ ครม.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
วันที่ 23 กรกฎาคม ส่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสภา
วันที่ 28 กรกฎาคม สภาพิจารณาวาระ 1 ตั้งคณะกรรมาธิการ ขณะเดียวกันวันที่ 30 กันยายน รับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 291 ระยะเวลา 45 วัน คณะกรรมาธิการพิจารณารายมาตราวาระ 2
เมื่อผ่านการพิจารณาวาระ 2 ต้องรอ 15 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 251
จากนั้น ในวันที่ 16 ตุลาคม สภาพิจารณาวาระ 3 ผ่านความเห็นชอบส่งสำนักราชเลขาธิการ คาดว่าภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็นำลงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 21 พฤศจิกายน ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 108 กำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
นั่นก็คือ เลือกตั้งภายในไม่เกินวันที่ 20 มกราคม 2554
“มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2553 ระบุว่า วันที่ 29 มีนาคม การเจรจาก็ยังไม่บรรลุข้อตกลง แถมบรรยากาศการพูดคุยมีการปะทะคารมกันดุเดือดกว่าวันแรก
นปช.แดงทั้งแผ่นดินยืนกรานให้ยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์
แต่ทางด้านรัฐบาลยืนยันให้ยุบสภาภายในอีก 9 เดือนข้างหน้าตามโรดแม็ปที่กำหนดรายละเอียด จากวันที่ 30 มีนาคมในการตระเตรียมเรื่องประชามติ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปสู่การยุบสภาในวันที่ 21 พฤศจิกายน
และกำหนดการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนมกราคม 2554
เมื่อไม่เป็นไปตามข้อเสนอทางฝ่าย นปช.แดงทั้งแผ่นดินที่นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ ก็ประกาศเลิกเจรจา
ผลที่ตามมาอย่างฉับพลันก็คือ
วันที่ 30 มีนาคม แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดินประกาศระดมมวลชนครั้งใหญ่ในวันที่ 3 เมษายน
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงว่ารัฐบาลยอมยุบสภาในวันที่ 6 ธันวาคม พร้อมกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในวันที่ 23 มกราคม 2554
เด่นชัดยิ่งว่า นปช.ต้องการยุบใน 2 สัปดาห์ รัฐบาลยืนยันภายใน 9 เดือน
หากพิจารณาผ่านแต่ละภาพและคำบรรยายอันปรากฏในภาพ ชีวิตและการต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง” นับแต่กลางเดือนมีนาคม 2553 เป็นต้นมา จะไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดรัฐบาลจึงตัดสินใจจัดโต๊ะเจรจา
ไม่เพียงเพราะ “คนเสื้อแดง” เรือนแสนจะปักหลักอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศและบนถนนราชดำเนิน หากแต่ยังได้เล็งไปยัง “แยกราชประสงค์” อีกด้วย
เมื่อเสื้อแดงเคลื่อนขบวนผ่านผู้คนแถวราชประสงค์ก็โบกไม้โบกมือให้
ยิ่งกว่านั้น นอกจากส่งกำลังส่วนหนึ่งไปยังหน้าบริเวณกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังนำคนเสื้อแดงไปยังสถานทูตสหรัฐยื่นหนังสือขอคำชี้แจง
กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อ้างข่าวจากทางการสหรัฐว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมก่อวินาศกรรมในประเทศไทย
จึงไม่แปลกที่เมื่อการเจรจาระหว่างคณะของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะของ นายวีระ มุสิกพงศ์ ล้มเหลว ในวันที่ 3 เมษายน 2553 นายขวัญชัย ไพรพนา นำคนเสื้อแดงไปชุมนุมหน้าสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
เรียกร้องให้หยุดเสนอข่าวบิดเบือนและให้ถอดรายการที่ไม่เป็นกลางออกจากผัง
ขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็เคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปยังแยกราชประสงค์ และตัดสินใจยึดพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์นับแต่วันที่ 3 เมษายน เป็นต้นไป
การชุมนุมของคนเสื้อแดงจึงมีทั้งที่ถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์
การตัดสินใจล้มการเจรจากับรัฐบาล ไม่เพียงแต่ทำให้ข้อเสนอในเรื่อง “ยุบสภา” ไม่เกิดขึ้นในทางเป็นจริง
หากแต่ทำให้เกิดลักษณะ “ยืดเยื้อ” ขึ้นใน “การเคลื่อนไหว”
ขณะเดียวกัน ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน “แกนนำ” จำนวนหนึ่งอย่างลึกซึ้งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการยุบสภาภายใน 9 เดือนกับฝ่ายที่ล้มการเจรจา
การเคลื่อนไหวในเดือนเมษายน 2553 จึงมากด้วยความร้อนแรง แหลมคม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022