เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

รัฐบาลทรัมป์กับมหาวิทยาลัยอเมริกัน

05.05.2025

บทความพิเศษ | ธงชัย วินิจจะกูล

 

รัฐบาลทรัมป์กับมหาวิทยาลัยอเมริกัน

 

ข่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดดื้อแพ่งต่อคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียพยายามผ่อนปรนยอมตามคำสั่งทำนองเดียวกันในระดับหนึ่ง

เกิดอะไรขึ้น?

รัฐบาลทรัมป์พยายามเข้าแทรกแซงมหาวิทยาลัยระดับนำในอเมริกาแทบทุกแห่ง หรือกล่าวได้ว่าแทรกแซงอุดมศึกษาของอเมริกันทั้งระบบก็ได้

ระบบอุดมศึกษาอเมริกันมีอิสระในการกำหนดหลักสูตร อิสระในการปฏิบัติการ ที่สำคัญคือคุ้มครองเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ค้ำจุนมหาวิทยาลัยของอเมริกามานานพอๆ กับอายุของประเทศสหรัฐอเมริกาถึงแม้ว่าจะมีการคุกคามขึ้นๆ ลงๆ บ้างเป็นบางครั้งก็ตาม

สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์พยายามทำคราวนี้ก็เพื่อบงการว่าอะไรสอนได้หรือไม่ได้ อะไรพูดได้และไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง (โปรดสังเกตว่าคำตอบของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอื่นๆ มิได้เอ่ยถึงสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการโดยเฉพาะเจาะจงเพราะเขาถือว่าเสรีภาพคือเสรีภาพ ไม่จำเป็นต้องแบ่งย่อยเป็นเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการแต่อย่างใด เพียงแต่เสรีภาพมีความสำคัญต่อวิชาชีพและชีวิตของมหาวิทยาลัยมากกว่าและในแง่ที่ต่างจากอีกหลายวิชาชีพ)

เหตุผลของรัฐบาลทรัมป์คราวนี้คือหยุดลัทธิเหยียดชาวยิว antisemitism ที่แพร่หลายในมหาวิทยาลัย

อะไรคือลัทธิเหยียดชาวยิว antisemitism?

 

ความหมายหลักๆ โดยพื้นฐานชัดเจน หมายถึง การเหยียดชนชาติยิว ชาวยิว ศาสนายิว แต่ทว่าความหมายที่เกี่ยวพันกับความหมายหลักนี้กลับต่างกันไปตามแต่สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของแต่ละแห่ง ความหมายที่ครอบคลุมกว้างมากอย่างที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาและในเยอรมนีนั้นครอบคลุมถึงการต่อต้านรัฐของชาวยิวซึ่งมีรัฐบาลอิสราเอลที่เทลอาวีฟเป็นตัวแทน ในขณะที่หลายสังคมหลายประเทศเห็นว่าการต่อต้านรัฐบาลอิสราเอลไม่ใช่ลัทธิเหยียดชาวยิว (ผมขอไม่อภิปรายปัญหานี้ในรายละเอียดเกินไปกว่านี้ เพราะในปัจจุบันสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายมาก)

ข้อกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งลัทธิเหยียดชาวยิวนั้นมาจากการประท้วงตามสถาบันต่างๆ ต่อปฏิบัติการของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ในกาซ่า ในสหรัฐอเมริกาเกิดการถกเถียงกันขนานใหญ่ว่าการประท้วงต่อต้านเช่นนั้นถือเป็นการเหยียดชาวยิวหรือไม่

ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับคือคำพูดบางคำของผู้ประท้วงบางคนและป้ายข้อความบางชิ้นเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือเป็นความผิดพลาดโดยไม่จงใจก็ตาม แต่รัฐบาลอเมริกันตั้งแต่สมัยไบเดนและผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งประชาชนจำนวนมากถือว่าการประท้วงทั้งหมดเป็นการเหยียดชาวยิว ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากรวมทั้งประชาคมมหาวิทยาลัยส่วนข้างมาก (ทั้งอาจารย์ นักศึกษา รวมถึงผู้บริหารหลายแห่งด้วย) ไม่ถือว่าการประท้วงนโยบายและการกระทำของรัฐบาลอิสราเอลเป็นการเหยียดชาวยิว และไม่เห็นด้วยกับการตีคลุมไปหมดเช่นนั้น

อาจารย์หลายคนไม่พอใจการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของตนลงโทษนักศึกษาที่ทำการประท้วงหรืออนุญาตให้ตำรวจเข้ามาจัดการกับนักศึกษาเหล่านั้นได้ ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาของอเมริกากลับถือว่าผู้บริหารเหล่านั้นสมรู้ร่วมคิดมีส่วนหนุนให้นักศึกษากระทำการเหยียดชาวยิว

เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอเมริกาล้วนถูกจำกัดนับแต่เริ่มเกิดการประท้วงเมื่อต้นปี 2024 เพราะมีการจับกุมนักศึกษาและให้ตำรวจเข้ามาปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยได้ ปีกว่ามาแล้วที่ประชาคมมหาวิทยาลัยโต้เถียงกันอย่างหนักว่าอะไรแค่ไหนจึงจะถือว่าเป็นการกระทำที่เหยียดชาวยิว

 

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งคนมักไม่ค่อยรู้ก็คือ ในบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอลและมีบทบาทแข่งขันในการประท้วงตามมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น จำนวนไม่น้อยเป็นชาวยิว กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ Jewish Voice for Peace (JVP) https://www.jewishvoiceforpeace.org/

เรื่องตลกพิลึกยังมีต่อมาอีกว่า พวกเขาโดนกล่าวหาว่าเป็นพวกเหยียดชาวยิว antisemitic ไปด้วย

รัฐบาลขวาจัดของทรัมป์เห็นว่าการประท้วงและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอลล้วนเป็นการเป็นการเหยียดชาวยิวทั้งสิ้น จึงฉวยโอกาสนี้เล่นงานชาวมุสลิมและลงมือใช้อำนาจแทรกแซงมหาวิทยาลัยเสียเลย ถึงขนาดออกคำสั่งให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนและให้รัฐบาลเข้าตรวจสอบได้

การใช้อำนาจเกินเหตุและความพยายามแทรกแซงเช่นนั้นถูกคัดค้านจากสมาคมนักวิชาการที่สำคัญๆ ทุกแห่ง รวมทั้ง The American Learned Society และ The American Academy of Arts and Sciences แต่ท่าทีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำแตกต่างกันไป ฮาร์วาร์ดเป็นรายสำคัญที่ออกมาดื้อแพ่งอย่างชัดเจน

ในขณะที่อีกหลายมหาวิทยาลัยพยายามหาทางออกอย่างอะลุ่มอล่วย หรือกระทั่งยอมตามรัฐบาลในระดับหนึ่งเช่น โคลัมเบีย เป็นต้น

 

ถึงตรงนี้ คงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาให้มากขึ้นสักหน่อย จึงจะช่วยให้เข้าใจว่ารัฐบาลมีอำนาจทำเช่นนั้นหรือไม่ ในระดับไหน และน่าจะส่งผลสะเทือนมากน้อยแค่ไหน

มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นก่อนการสถาปนาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาเสียอีก พูดง่ายๆ มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งเกิดก่อนประเทศ ทั้งฮาร์วาร์ด ปรินซ์ตัน เยล โคลัมเบีย เพนซิลเวเนีย เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเก่าแก่เหล่านั้นทั้งหมดเป็นของเอกชน (private university) ซึ่งหมายถึงกลุ่มองค์กรศาสนาหรือองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ (เข้าใจว่าไม่มีมหาวิทยาลัยเก่าแก่สักแห่งที่เป็นของเศรษฐีร่ำรวยบางคน)

สถาบันการศึกษาของรัฐ (หรือเป็นของสาธารณชน public university) ในอเมริกานั้น ไม่มีแม้แต่แห่งเดียวที่เป็นของรัฐบาลกลาง (Federal government) ของประเทศ แต่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมลรัฐ (States) ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนรัฐนั้นๆ (ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลทรัมป์จึงสามารถยุบกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางได้ตามนโยบายของทรัมป์ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลกลางเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจจัดการการศึกษาของมลรัฐต่างๆ)

รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจบงการหรือสั่งให้มหาวิทยาลัยไม่ว่าของมลรัฐหรือเอกชนซ้ายหันขวาหันหรือจัดการเรียนการสอนอย่างไรทั้งนั้น (รัฐบาลของมลรัฐมีอำนาจกำกับควบคุมมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นๆ มากกว่าด้วยมาตรการทางงบประมาณ) แต่รัฐบาลกลางเข้ายุ่มย่ามได้ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ

หนึ่ง มหาวิทยาลัยกระทำผิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง

สอง มหาวิทยาลัยนั้นๆ รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง

 

ในสถานการณ์การเงินปกติ สถาบันที่เรียกว่าเป็นของรัฐนั้นจะได้รับงบประมาณจากมลรัฐเพื่อจัดการเรียนการสอนและเพื่อทำโครงการต่างๆ รวมทั้งการวิจัยด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ห่างไกลลิบลับจากงบประมาณทั้งหมดที่ต้องการเพื่อดำเนินการของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ในปัจจุบันสถาบันเหล่านั้นรับเงินจากรัฐเพียงแค่ประมาณ 10 กว่าถึง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเพื่อดำเนินการทั้งหมด เงินที่เหลือต้องหาเอาเองจากแหล่งทุนอื่นๆ ทั้งจากการบริจาค (ของศิษย์เก่า) จากการสร้างรายได้วิธีต่างๆ จากค่าลิขสิทธิ์นับหมื่นแสนรายการ และจากดอกผลของกองทุนสะสม (endowment) จำนวนมากของแต่ละสถาบัน

รัฐบาลของมลรัฐต่างๆ การันตีงบประมาณพื้นฐานที่สุดของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ได้แก่ เงินเดือนของอาจารย์และพนักงาน และค่าใช้จ่ายพื้นฐานทั้งหมด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินตั้งต้นในการก่อสร้างต่างๆ ขั้นต่ำสุดเพื่อให้มหาวิทยาลัยของรัฐเหล่านั้นยังหายใจอยู่ได้ต่อให้สถานการณ์เลวร้ายสุดสุดที่ไม่มีเงินรายได้จากแหล่งอื่นเลยก็ตาม

ส่วนมหาวิทยาลัยที่เป็นของเอกชนนั้น จะต้องจัดการเรื่องการเงินของตนเพื่อให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ด้วยตนเอง มหาวิทยาลัยเก่าแก่หลายแห่งรวยยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยของหลายรัฐเพราะมีกองทุนสะสม (endowment) ขนาดใหญ่จำนวนมากที่ตั้งต้นมานานหลายร้อยปี อย่างไรก็ตามม หาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ก็ต้องหารายได้จากแหล่งต่างๆ ตลอดเวลายิ่งกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย

แหล่งทุนหนึ่งทั้งของมหาวิทยาลัยของมลรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนก็คือรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ให้กับโครงการและการวิจัยหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยแบบเน้นการวิจัย (research university) หลายร้อยแห่ง ซึ่งส่วนมากเป็นสถาบันชื่อดังที่เมืองไทยมักจะรู้จักกัน

รัฐบาลกลางใช้งบประมาณ (ภาษี) เพื่อสนับสนุนชักจูงให้มีการวิจัยและการสอนวิชาการด้านที่รัฐบาลกลางแต่ละคณะต้องการเน้น ใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการวิชาการบางแขนง โดยเฉพาะด้านมนุษยศาสตร์ ศิลปะ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนตระหนักความสำคัญ แต่ไม่สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้

ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลกลางใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยที่เล็งผลระยะยาว โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพราะงานค้นคว้าวิจัยแบบนี้มักไม่ออกดอกผลหรือไม่สามารถประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ได้ในเวลาสั้นๆ แต่คาดว่าจะสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวิทยาการด้านนั้นๆ ในอนาคต บ้างต้องบุกเบิกค้นคว้าต่อเนื่องกันนานนับสิบปี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือยา วัคซีนใหม่ๆ รวมถึงการวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ทางฟิสิกส์ เคมี หรือชีววิทยา เหล่านี้ล้วนแต่ไม่สามารถทำเงินแต่กลับต้องการอาศัยเงินงบประมาณจากรัฐบาลกลางมาช่วยลงทุนในการวิจัยต่อเนื่องระหว่างที่ยังไม่สามารถประยุกต์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งสิ้น

เหล่านี้คือบทบาทของรัฐบาลกลางที่มีต่อมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นแนวหน้าในการวิจัยและการผลิตนักเรียนปริญญาเอก

 

การศึกษาสังคมนานาชาติในโลก (international studies) และอาณาบริเวณศึกษา (area studies) ซึ่งสหรัฐอเมริกาจัดว่าเป็นแนวหน้ามานับแต่สงครามโลกครั้งที่สองนั้น แม้ว่าอาจารย์แทบทั้งหมดจะรับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยของตน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของมลรัฐหรือเอกชน แต่การเรียนการสอนในหลายด้านยังต้องอาศัยเงินทุนจากแหล่งอื่น เช่น กองทุนสะสมของมหาวิทยาลัยและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง

ที่สำคัญที่สุดคือการเรียนการสอนภาษาสารพัดของโลก เพราะแต่ละภาษามักมีผู้ลงทะเบียนเรียนจำนวนไม่มากนัก แต่การรู้ภาษาของสังคมอื่นเป็นรากฐานของการเรียนรู้จักสังคมนั้นๆ อย่างขาดไม่ได้ เพราะความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ (เช่น ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ) และศิลปะ ล้วนเป็นความรู้ที่สร้างขึ้นจากภาษาและความหมาย

อีกอย่างที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเป็นประจำคือทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ทำปริญญาเอก ซึ่งหลายคนสามารถสร้างผลงานวิจัยที่สำคัญได้ด้วย มีมหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยไม่กี่แห่งที่พอจะอุดหนุนทั้งภาษาและเงินทุนสำหรับนักเรียนปริญญาเอกได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งเงินรัฐบาลกลาง เช่น การศึกษาเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด โคลัมเบีย เป็นต้น

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษานั้น คงมีคอร์เนลเพียงแห่งเดียวที่พึ่งพิงรัฐบาลกลางน้อยกว่าที่อื่นซึ่งล้วนต้องพึ่งพิงพอสมควรจนถึงพึ่งพิงมาก บางแห่งคงกระเทือนอย่างหนักหากรัฐบาลกลางยุติการสนับสนุน ตัวอย่างเช่น การสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าที่ไหนก็มีจำนวนนักเรียนลงทะเบียนไม่มากนัก ต้องการเงินอุดหนุน

(ในขณะที่องค์กรของหลายประเทศ เช่น Japan Foundation และ Korean Foundation เสนอตัวเข้าอุดหนุนการสอนภาษาญี่ปุ่น เกาหลีในหลายสถาบันเพราะตระหนักว่าการเรียนภาษาแต่ละแห่งเป็นฐานของการขยาย soft power ของประเทศนั้นๆ แต่เรื่องนี้คงจะยังไม่เคยอยู่ในหัวคณะกรรมการ soft power ของไทยเลย)

โปรแกรมนานาชาติศึกษาเหล่านี้อยู่ได้ด้วยการผสมผสานระหว่างเงินทุนจากหลายแหล่ง ไม่ใช่รัฐบาลกลางแห่งเดียว แต่หากรัฐบาลกลางงดการสนับสนุนก็อาจทำให้กระเทือนหนักจนถึงหนักมาก บางแห่งอาจจะพิการไปเลยก็เป็นได้

จนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่ชัดว่าเงินอุดหนุนนานาชาติศึกษาและอาณาบริเวณศึกษาจะถูกกระทบมากขนาดไหน

 

รัฐบาลทรัมป์อาศัยข้ออ้างเรื่องลัทธิเหยียดชาวยิวหวังเข้าควบคุมการเรียนการสอนเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลทรัมป์ยังแสดงออกชัดเจนว่าต้องการเข้ามาควบคุมการเรียนการสอนและการวิจัยอีกหลายโครงการ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า “ซ้าย” หรือสนับสนุนความคิดที่เรียกกันว่า “ตื่นรู้” (woke) เช่น สตรีศึกษา และ LGBTQ+ศึกษา เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทรัมป์ยังต้องการควบคุมการเรียนการสอนและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่ทรัมป์ต่อต้าน ได้แก่ climate change และการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนอีกด้วย

ความพยายามของรัฐบาลทรัมป์เป็นการขยายและต่อยอดจากความเชื่อของพรรครีพับลิกันที่มีมานานแล้วว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาที่ประชาชนเอาไปทำมาหากินได้ ซึ่งไม่รวมถึงวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน การเรียนรู้สังคมนานาชาติหรือการเรียนรู้ภาษาต่างๆ ในโลก พรรคนี้ได้พยายามตัดการสนับสนุนเหล่านี้ทั้งในระดับมลรัฐและโดยรัฐบาลกลางมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ในภาพรวมที่น่าตกใจก็คือ รัฐบาลต้องการบังคับบงการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำตามที่ตนต้องการโดยยึดเอาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบางแขนงเป็นตัวประกัน เช่น การวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ประชาชนในประเทศเห็นพ้องกันว่าควรดำเนินต่อไป เช่น เกี่ยวกับโรคมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆ เอาการวิจัยเหล่านั้นเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้มหาวิทยาลัยยอมให้รัฐบาลเข้าบงการวิชาการแขนงอื่น

การวิจัยที่ตกเป็นตัวประกันเหล่านั้นกำลังถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง (politicized) เพื่อหวังผลให้ทำลายการเรียนการสอนและการวิจัยตามที่ฝ่ายขวาไม่เห็นด้วย

 

ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกากำลังเดินตามประเทศไทยในแง่สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว (climate of fear) กำลังย้อนกลับไปเป็นทำนองเดียวกับยุคลัทธิแม็กคาร์ธี (McCarthyism) ในทศวรรษ 1950 ซึ่งทำให้ความกลัวคอมมิวนิสต์แผ่ไปทั่วเพื่อเข้าควบคุมบงการกิจการทางปัญญารวมทั้งมหาวิทยาลัยและการสร้างสรรค์งานทางศิลปะ

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยในอเมริกาเป็นแนวหน้าในวิชาการแขนงต่างๆ ได้เพราะสามารถคว้าตัวเอานักวิจัยนักวิชาการชั้นเยี่ยมในแขนงวิชานั้นๆ จากที่ต่างๆ ในโลกได้ หมายความว่าจุดแข็งของระบบอุดมศึกษาอเมริกานั้นอยู่ได้ด้วยนักวิชาการที่ไม่ใช่คนอเมริกันหรือไม่ได้เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก

ณ บัดนี้ คนเหล่านั้นกลับมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับจ้อง สอดส่อง แทรกแซง รังแกจากรัฐบาลเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พวกเขาจำเป็นต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือจำกัดการพูด การกระทำ หรือการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพวกเขาและครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะทำร้ายอุดมศึกษาซึ่งเป็น soft power ของสหรัฐอเมริกาในที่สุด

เพราะใครเล่าอยากจะมาทำงานหรือเรียนหรือทำวิจัยปริญญาเอกในประเทศที่ปกคลุมไปด้วยบรรยากาศของความกลัว

ผู้อพยพทั้งหลายไม่ว่าที่ไหนในโลกล้วนมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรู้สึกไม่มั่นคงถ้าหากรัฐบาลนั้นๆ จับจ้องพวกเขาเป็นพิเศษ ลองนึกถึงชาวจีนในไทยช่วงทศวรรษ 1930-1950 ภายใต้รัฐบาลหลายชุดนับจากปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงรัฐบาลพิบูลสงครามช่วงสงครามโลกและช่วงต้นสงครามเย็น

การปราบปรามชาวจีนด้วยการอ้างว่าปราบปรามคอมมิวนิสต์หลายระลอกระหว่างทศวรรษดังกล่าว ส่งผลให้ชาวจีนในไทยถูกบังคับให้ต้องเงียบหรือยอมอ่อนน้อม พลังทางปัญญาและอุตสาหะได้รับการปลดปล่อยก็ต่อเมื่อการคุกคามความเป็นอยู่เช่นนั้นยุติลงในทศวรรษต่อๆ มา

ลัทธิแม็กคาร์ธี 2.0 กำลังก่อตัวในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ เราคงบอกไม่ได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สั้นๆ หรือจะยาวนานนับทศวรรษกว่าเสรีภาพจะฟื้นคืนกลับมาอีกในมหาวิทยาลัย ไม่นานมานี้เองที่สังคมอเมริกันยังพูดถึงลัทธิแม็กคาร์ธีด้วยความรังเกียจ เป็นอดีตที่ไม่พึงปรารถนาจะให้เกิดขึ้นอีก แต่อเมริกากำลังถอยหลังลงอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยที่สุดผลกระทบต่ออุดมศึกษาเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว คงต้องรอดูต่อไปว่าจะมากน้อยแค่ไหน

ในระยะสั้นจะมีนักศึกษาต่างชาติยินดีจะไปอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวเช่นนั้นมากอย่างที่เคยเป็นมาหลายทศวรรษหรือ? จะมีนักวิชาการชั้นเยี่ยมจากทั่วทุกมุมโลกอยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ถูกจำกัดเสรีภาพและตกอยู่ภายใต้ความกลัวสักกี่คน?

ทั้งหมดนี้เตือนใจเราว่าประชาธิปไตยและการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่ (Rule of Law) ต้องการความระแวดระวังและต้องปกป้องทำให้เข้มแข็งอยู่เสมอ อย่าชะล่าใจ

แม้กระทั่งในสังคมซึ่งเคยเชื่อว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยและระบบกฎหมายเป็นใหญ่ได้ลงหลักปักฐานฝังรากอย่างเข้มแข็งแล้ว ก็อย่าได้ชะล่าใจอย่างเด็ดขาด

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

เมื่อ AI รับตำแหน่ง CEO!
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา จากแว่นของสหรัฐอเมริกาและจีน
เจาะโครงการ ‘น้ำ-คมนาคม’ ของบประมาณ 1.57 แสนล้าน เร่งปั๊ม ศก.-รักษาฐานเสียง รบ.
ชายแดนใต้ ‘เทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา’ ระเบิด เชือดสัตว์พลีทาน และฟุตบอล
ลูกหลานเราจะเติบโตอย่างไร ถ้าเราดูแลครูของเราไม่ดี
MatiTalk ‘เสธ.หิ’ หิมาลัย ผิวพรรณ เปิดใจจุดพลิกผันในชีวิต จากทหารสู่เวทีการเมือง มองอนาคตพรรค ‘รทสช.’
‘ถกเขมรเถียงสยาม’ บทสนทนาสร้าง ‘สติ-ปัญญา’ ในภาวะขัดแย้ง ‘ไทย-กัมพูชา’
‘ครู นักเรียน และ AI’ แค่ไหนเรียกว่าโกง
ดาวกับดวง วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2568 โดยพิมพ์พรร
“พีระพันธุ์” เรียกประชุมด่วน หลังอิหร่านเตรียมปิดช่องแคบฮอร์มุซเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคาและปริมาณสำรองหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร