เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

โลกป่วนจีน-สหรัฐชิงการนำ อินเดียได้เวลาขยับ

06.05.2025

บทความพิเศษ | พาราตีรีตีส

 

โลกป่วนจีน-สหรัฐชิงการนำ

อินเดียได้เวลาขยับ

 

ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เราได้เห็นปรากฏการณ์ทางภูมิรัฐศาตร์-เศรษฐศาสตร์ ทั้งสงครามเย็น 2.0 ระหว่างจีน-สหรัฐ ความขัดแย้งในตะวันออกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามยิบย่อยในแอฟริกาและเมียนมา และการจับกลุ่มความร่วมมือที่มีนัยยะการแข่งขันทางอำนาจ (อย่างเช่น G7 vs BRICs ที่เป็นภาพแทนการเผชิญหน้ากันระหว่าง ซีกโลกเหนือ-ใต้)

สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงภาวะ “โลกหลายขั้ว” พร้อมกับ “วิกฤตซ้อนชั้น”

ท่ามกลางการแสดงอิทธิพลของชาติมหาอำนาจในแบบต่างๆ “อินเดีย” เป็นชาติหนึ่งที่กำลังเติบโตแต่กลับได้รับผลกระทบจากการเผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจน้อยที่สุด ทำไมอินเดีย (ชาติที่คนไทยรับรู้ในมิติการเมืองโลกน้อยที่สุด) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

อินเดียสามารถขึ้นเป็นอำนาจใหม่ได้หรือไม่ และเป็นทางเลือกสำหรับไทยได้มากแค่ไหน?

 

ในช่วงการประชุมสุดยอดความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ บิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา แม้ว่าครั้งนี้ เมียนมา ชาติสมาชิกที่มีผู้นำจากรัฐบาลทหาร และถูกประณามจากนานาชาติจากการก่ออาชญากรรมสงครามและมีหมายจับจากไอซีซี ได้เข้าร่วมตามคำเชิญจากเจ้าภาพคือ รัฐบาลไทย (ซึ่งก็โดนประณามจากฝ่ายกองทัพปฏิวัติในเมียนมาและองค์กรสิทธิฯ ว่าฟอกขาวฆาตกรมือเปื้อนเลือดประชาชน) จนกลายเป็นประเด็นออกสื่อแทนที่จะรู้ว่าสาระประชุมคืออะไร

ในช่วงการประชุมนี้เอง อินเดีย ชาติสมาชิกในกลุ่มได้นำเสนอแผนปฏิบัติ 21 ข้อ โดยล้อตามชื่อย่อของ BIMSTEC

ที่น่าสนใจคือ อินเดียเลือกใช้การประชุมนี้ ประกาศทิศทางความร่วมมือทางการค้าเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในแถบอ่าวเบงกอล เช่น การจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติที่เป็นเลิศ การศึกษาสกุลเงินท้องถิ่น การเชื่อมต่อระบบจ่ายเงินดิจิทัลของอินเดีย หรือยูพีไอ เข้ากับระบบการเงินออนไลน์ที่ใช้ในชาติสมาชิก หรือการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

อินเดียกำลังนำเสนอ “พื้นที่ใหม่และปลอดภัย” ที่เชื่อมประสานทุกฝ่าย โดยหลักคิดที่มุ่งเน้น การพัฒนาและสร้างความร่วมมือแบบเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน

และมีความต่างกับวิธีปฏิบัติที่จีนใช้กับหลายประเทศ ที่พูดด้วยภาษานิ่มนวลว่าไม่ครอบงำ ไม่แทรกแซง เคารพอธิปไตยชาติ แต่ในทางปฏิบัติใช้หลายเครื่องมือในการกดดันบังคับ แทรกแซงผ่านนอมินีกลืนกินอย่างช้าๆ

อย่างล่าสุดที่เมืองลาเชี่ยวในเมียนมา จีนกดดันกองทัพโกก้างจนยอมถอนทัพสละเมืองให้กับรัฐบาลทหาร เกิดภาพขบวนรถของรัฐบาลจีนวิ่งเข้าสู่เมืองลาเชี่ยว

 

แนวทางที่อินเดียเสนอ แสดงให้เห็นถึงความสนใจจริงจังของอินเดียต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเป็นหลัก ด้วยความเชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศจะเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจอื่นได้ดีกว่า ทะเยอทะยานขึ้นเป็นใหญ่ด้วยการกดทับเหยียบย่ำคนอื่น

วิธีคิดในมิติการเมืองโลกของอินเดียนี้ เอส. ไจแชนการ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียที่นั่งในตำแหน่งนี้นานที่สุด เคยแสดงมุมมองอินเดียต่อการเมืองโลกในงาน Raisina Dialogue ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า

“อินเดียได้ก้าวเดินในโลกที่ไม่ได้ใจดีกับพวกเขา อินเดียจึงต้องพัฒนาทักษะเชิงกลยุทธ์และมุมมองระยะยาวที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ เขากำหนดให้สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญของมุมมองนโยบายต่างประเทศของอินเดีย ควบคู่ไปกับประสบการณ์อาณานิคม ประชาธิปไตย และความปรารถนาที่จะเป็นมหาอำนาจชั้นนำ”

โลกสำหรับอินเดียในตอนนี้ คือพื้นที่คาดเดาไม่ได้ และมีภัยคุกคามที่ต้องรับมือ (ในทีนี้อาจหมายถึงจีน ปากีสถาน และบังกลาเทศหลังชีก ฮาซินา สิ้นอำนาจ) อินเดียจึงต้องเดินหน้าการทูตเพื่อประสานประโยชน์ ทั้งการหารือระดับสูงกับอียู อังกฤษ เพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือกับไทยที่ได้พบกับมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความร่วมมือดิจิทัล

อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน คาร์ล บิลด์ กล่าวว่า ปี 2568 จะเป็น “ปีแห่งการพัฒนา” ในความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรป เป็นเรื่องยากมาก ต้องอาศัยการประนีประนอมทั้งจากฝั่งยุโรปและอินเดีย แต่ในภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนสำหรับการค้าโลกที่มีภาษีศุลกากร ผมคิดว่า (การร่วมมือ) นี่จะสำคัญมาก

ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ดุเดือดและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ที่ถอยห่างจากยุโรปจนอียูต้องแสวงหาหุ้นส่วนใหม่ จีนที่กำลังหาเพื่อนเพื่อเอาตัวเองให้รอดจากการถูกรุมสกรัม

อินเดียได้เข้ามาเป็นตัวแปรในสมการการเมืองโลกในเวลานี้

 

หากเราพิจารณาปัจจัยที่อินเดียมีในเวลานี้ ศักยภาพภายในของอินเดียกำลังเติบโตทั้งพลังเศรษฐกิจ ศักยภาพด้านกำลังการผลิต แรงงาน ทุน นวัตกรรม มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและเคยผ่านบททดสอบที่นเรนทรา โมดี หวังให้พรรคบีเจพีครองเสียงข้างมากในสภา แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะประชาชนอินเดียไม่เอาด้วยกับนโยบายชาตินิยมฮินดู

ในมิติการเมืองโลก อินเดียเข้าหาได้ทุกชาติ ทั้งชาติตะวันตก รัสเซีย จีน แอฟริกา (อินเดียเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ด้วย) ล่าสุด โมดีได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบีย จับมือทำข้อตกลงการค้า ระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป ความมั่นคงและพลังงาน

สิ่งที่การันตีได้คือ อินเดียได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสงครามภาษีที่สหรัฐ-จีนที่ผลัดกันขึ้น ก่อนที่สหรัฐเลือกเป็นฝ่ายถอย (แหล่งข่าวระบุว่า คนในทำเนียบขาวอาศัยจังหวะที่ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐและคนต้นคิดนโยบายกำแพงภาษีกับจีนไม่อยู่ในห้อง ไปโน้มน้าวจนโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจเลิกเพิ่มอัตราภาษี)

ด้วยปัจจัยเพียงแค่นี้ น่าจะบอกได้ว่าทำไมอินเดียจึงเป็นที่น่าจับตามองในการเมืองโลก

 

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็มีปัญหาของตัวเองเหมือนเช่นที่ทุกประเทศมีและโดนโจมตี ทั้งความสัมพันธ์กับปากีสถานที่ยังระหองระแหงกันถึงทุกวันนี้ บังกลาเทศที่อินเดียต้องการรักษาอิทธิพลไว้พร้อมสกัดกระแสอิสลามสุดโต่ง และปัญหาพื้นที่จัมมู-แคชเมียร์ที่รอวันปะทุประเด็นพิพาทดินแดนระหว่างปากีสถานกับจีน แต่หากคิดเป็นสัดส่วนแล้ว อินเดียยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับทุกคน รวมถึงไทย

ในห้วงสงครามการค้าที่ไทยกังวลกับทุนจีนเทา สินค้าจีนที่ทะลัก และการไหลบ่าของชาวจีนที่มาตั้งรกรากในไทยพร้อมกับสร้างปัญหามากขึ้น รวมถึงกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนร่วมก่อสร้างด้วย ล่าสุดคือขึ้นบริการทำบัตรประชาชนของไทยให้ชาวจีนมีชื่อไทยบนโลกออนไลน์ นี่คือสถานการณ์ที่น่ากังวลของไทย และคนไทยกำลังหมดความอดทนมากขึ้นเรื่อยๆ

ไทยจะเลือกเดินหมากการเมืองโลกยังไง ถึงตอนนี้น่าจะคิดได้แล้ว ว่าต้องใส่ใจและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ทุกครั้งที่เดิน ต้องจบที่ตกเป็นเครื่องมือให้อีกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ไทยกลับเสียความน่าเชื่อถือ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568