เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

คนญี่ปุ่นสูงวัยกับโซเชียลมีเดีย

07.05.2025

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

 

คนญี่ปุ่นสูงวัยกับโซเชียลมีเดีย

 

โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างขาดไม่ได้ของผู้คนทั่วทุกมุมโลกไปเสียแล้ว ในญี่ปุ่นก็เช่นกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวเท่านั้น ยังขยายรวมไปถึงคนสูงวัยด้วย

ญี่ปุ่นมีการสำรวจคนวัย 10-60 ปี ใช้อินเตอร์เน็ตไปกับเรื่องใดมากที่สุด คำตอบคือ การดูคลิปต่างๆ

นอกจากนี้ มีสถิติการดูยูทูบ (YouTube) ของคนญี่ปุ่นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า คนวัย 60 ปี คุณลุง คุณป้า มีอัตราการเข้าดูยูทูบเพิ่มขึ้นสูงสุดจาก ราว 20% ในปี 2014 เป็น 66.3% ในปี 2023 คนวัย 50 ปี เพิ่มขึ้นจากประมาณ 50% เป็น 80% แต่สำหรับคนวัยหนุ่มสาว 20 ปี นิยมดูยูทูบตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมาอย่างไรก็ไม่มีลดลงเลย จาก 90% เป็น เกือบ 100% ทีเดียว

อยากรู้ว่าคนญี่ปุ่นวัยกลางคนจนถึงสูงวัยใช้โซเชียลมีเดีย ดูคลิปวิดีโอ ยูทูบ อะไรบ้าง

ได้คำตอบว่า คุณปู่ คุณย่า วัย 80 ปี ชอบดูการวิเคราะห์ข่าวสถานการณ์ทันโลก อย่างนี้น่าชื่นชมจริงๆ แก่แต่วัย แต่ยังพยายามทำความเข้าใจความเป็นไปรอบตัว รอบโลกด้วย

ส่วนวัย 70 ปี มีหลายกลุ่ม บ้างชอบติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของนักเบสบอลมือหนึ่งชื่อดังของญี่ปุ่น คือ โชเฮ โอทานิ (大谷翔平) บ้างก็ชอบดูคลิปแนะนำเกี่ยวกับจักรยานยนต์ บ้างก็ดูคลิปแนะนำสถานที่รับพลัง (Power Spot) เพื่อหาโอกาสไปเยือนด้วยตนเอง

ส่วนคุณลุง คุณป้าวัย 60 ปี ชอบดูคลิปสอนโยคะ และพยายามฝึกตามไปด้วย บางกลุ่มสนใจฟังเพลง ดนตรีของศิลปินที่ชื่นชอบ

 

คนสูงวัยไม่ได้เป็นเพียงผู้ชมเท่านั้น แต่ยังผลิตคอนเทนต์เอง บางคนมีผู้ติดตามจำนวนมาก

คุณยายมิชิโกะ วัย 90 ปี ชาวจังหวัดคานากาวา อาศัยอยู่เพียงลำพังคนเดียวในแมนชั่น หลังจากสามีเสียชีวิตไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณยายเริ่มเข้าสู่วงการเมื่ออายุ 85 ปี เริ่มจากช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปนอกบ้านไม่ค่อยได้ ก็เลยอยู่บ้านเพลิดเพลินกับการดูยูทูบเกี่ยวกับอาหาร งานอดิเรก และฟังเพลง

คุณยายบอกว่า อยู่คนเดียว ไม่รู้จะพูดกับใคร พอได้ดูยูทูบจากสมาร์ตทีวี สนุกเพลิดเพลิน ได้ร้องเพลงที่ชอบตามไปด้วย เปิดหูเปิดตา และคลายเหงาไปได้มาก

คุณยายเป็นผู้ชมที่ดีมาตลอด จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเกิดความคิดอยากทำคลิปสารพัดเรื่องในชีวิตประจำวันของตัวเองดูบ้าง จึงทดลองทำโดยเริ่มจากเรื่องอาหาร งานฝีมือ การแต่งบ้าน เป็นต้น ปัจจุบันเผยแพร่รวมแล้วกว่า 80 คลิป มีผู้ติดตามมากกว่า 1.6 แสนคนทีเดียว

งานนี้คุณยายต้องมีผู้ช่วยคนสำคัญคือ หลานชายวัย 19 ปี เป็นผู้ถ่ายทำ ตัดต่อ และอัพโหลดให้

“วันนี้คุณยายทำเมนูอะไรครับ” “ทำไก่ทอดคาราอาเงะ กับซุปผัก น้ำซุปนี่ต้มได้ที่แล้วปิดไฟ พอเย็นลง ผักจะได้รสชาติหอมอร่อยเลย” คุณยายตอบพร้อมกับภาพไก่เหลืองกรอบและซุปผักร้อนๆ แถมด้วยรอยยิ้มอิ่มใจบนใบหน้าเหี่ยวย่น

ตอนแรก คุณยายคิดเพียงแค่อยากส่งข่าวให้ญาติพี่น้องที่อยู่ทางตอนใต้ ทางเกาะคิวชู และคนรู้จักที่อยู่ห่างไกลกันได้เห็น ได้รับรู้ว่าคุณยายยังแข็งแรงสบายดี หรือไม่เช่นนั้นก็สามารถเก็บคลิปเหล่านี้ไว้ดูตอนคุณยายจากโลกนี้ไปแล้ว ดูให้คิดถึงคุณยายบ้างก็พอแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะมีคนอื่นๆ เข้ามาชมกันมากมาย ก็เมื่อทำคลิปที่ 7 แสดงงานฝีมือเย็บปักถักร้อย และภาพวาดสีน้ำ งานอดิเรกต่างๆ ของคุณยาย ที่วางประดับในบ้าน มีการเข้าชมแล้วเกิน 2.6 ล้านครั้ง คุณยายบอกว่าไม่นึกไม่ฝันเลย

ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่ายินดีมากอย่างหนึ่งคือ คุณยายได้รับไปรษณียบัตรจากอาจารย์ที่เคยสอนวาดภาพสีน้ำเมื่อ 40 ปีก่อน และได้ติดต่อกับเพื่อนเก่าหลายคนที่ห่างหายกันไปนานอีกครั้ง คุณยายบอกว่าเมื่อถึงตอนใกล้จะหมดลมหายใจ อาจจะนอนดูยูทูบอยู่บนเตียงก็เป็นได้

 

นอกจากคุณยายมิชิโกะแล้ว ยังมีคุณป้า วัย 50 ปี ที่ชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากอัพโหลดคลิปของตัวเองอย่างไม่ตั้งใจ

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยามะ แม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูก 2 คน ถูกเลิกจ้างงานกะทันหันในวัย 50 ปี เพื่อนร่วมงานบอกอย่างไม่แยแสว่า ไม่มีเธอคนในทีมก็ทำงานได้

เธอรู้สึกทุกข์ใจมากจนเจ็บป่วย ฉุกคิดได้ว่าการระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจออกไป คงทำให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง ถึงแม้ว่าเขียนลงโซเชียลหรือทำคลิปก็คงไม่มีใครสนใจสักเท่าไร อาจจะมีคนเข้ามาวิจารณ์ก็ได้

แต่ผิดคาด…ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีคนเข้ามาให้กำลังใจอย่างล้นหลามเกินกว่า 500 คน

“เห็นใจคุณมาก เราอยู่ในวัยเดียวกัน” “คุณสู้มาเต็มที่แล้ว อย่าท้อนะ” “คงจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นข้างหน้า” คำให้กำลังใจดีๆ หลั่งไหลเข้ามาจากคนที่ไม่เคยรู้จัก โดยเฉพาะจากผู้หญิงในวัยเดียวกัน ที่รับรู้ความทุกข์ของเธอ จนรู้สึกตื้นตันใจมาก ทำให้มีกำลังใจลุกขึ้น ตั้งใจเดินหน้าต่อไป ไม่จมอยู่ในความทุกข์อีก ปัจจุบันป้ายามะ ทำคลิปเกี่ยวกับชีวิตประจำวันและแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แน่นอนว่าเธอมีความสุขกับสิ่งที่ทำ

นี่เป็นตัวอย่าง คนที่ได้รับกำลังใจจากโซเชียลมีเดีย แต่คงไม่ใช่ทุกคน…

ยูทูบเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีคำเตือนอย่างห่วงใยถึงผู้สูงวัยญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่เพลิดเพลินกับยูทูบ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ควรระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการรับชมด้วย เรื่องไหนควรเชื่อ ไม่ควรเชื่อ ทำตามหรือไม่ทำตาม

ผู้สูงวัยจะได้เพลิดเพลินกับโซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย…



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568