เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

พระอินทร์องค์ใหม่ และพระอินทร์ตัวปลอมที่วัดระฆัง

06.05.2025

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดระฆัง” นั้นไม่ได้ชื่อว่าวัดระฆังมาแต่เดิม เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าเดิมวัดนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดบางหว้าใหญ่” ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่า วัดระฆัง นั้นเป็นเพราะมีตำนานเล่าว่ามีการขุดพบระฆังที่นี่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่างหาก

ว่ากันว่า “ระฆัง” ที่ถูกขุดพบจากวัดแห่งนี้มีเสียงดังกังวาลไพเราะยิ่ง จึงได้ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ที่หอระฆัง ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้วมรกต” และจะถูกใช้งานเฉพาะก็ต่อเมื่อมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เท่านั้น (โดยจะตีนับจำนวนครั้ง ตามลำดับของสมเด็จพระสังฆราชองค์นั้น ว่าเป็นองค์ที่เท่าไหร่ของกรุงรัตนโกสินทร์)

แต่ตำนานเรื่องนี้ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก เพราะทางฝั่งวัดสระเกศก็มีตำนานอ้างว่า เป็นระฆังที่ได้มาจากวัดสระเกศต่างหาก นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลในกลอนเพลงยาวของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ที่กล่าวถึงระฆังใบเดียวกันนี้เอาไว้ว่า

“แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้ สิบเจ็ดปีที่เป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง”

ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ระฆังที่วัดพระแก้วมรกตนี้ ควรจะเป็นระฆังที่หล่อใหม่ขึ้น (ซึ่งเชื่อว่าควรจะหล่อในสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นแหละ) ไม่ได้พบจากทั้งวัดระฆัง หรือวัดสระเกศเสียหน่อย?

 

แต่ไม่ว่าการเรื่องการค้นพบระฆังดังกล่าวที่วัดระฆัง จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ ดร.อาร์เซนิโอ นิโคลาส (Arsnio Nicolas) นักดนตรีชาติพันธุ์ และนักโบราณคดีทางดนตรี ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นนักวิชาการอาวุโส (Senior Lecturer) จากหลายสถาบัน ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เก่าแก่ของจีนมักจะอ้างว่า ยุคสมัยของการปกครองที่ดีจะมีการพบเครื่องดนตรีมีค่าที่เก่าแก่โบราณ ส่วนในยุคที่ข้าวยากหมากแพงนั้น เครื่องดนตรีเหล่านี้จะสูญหายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

แน่นอนว่า การปกครองที่ดีตามคติของจีนโบราณนั้น ก็ย่อมมาจากจักรพรรดิที่ดี แถมเจ้าเครื่องดนตรีดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีกระจอกที่ไหนก็ได้นะครับ เพราะจะต้องเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี หรือเพอร์คัสชั่น (percussion) ที่ทำมาจากหิน หรือโลหะ

และที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นเครื่องดนตรีเพอร์คัสชั่นประเภทที่ใช้ “แขวน” แล้วค่อยตีเท่านั้นด้วยอีกต่างหาก

แน่นอนว่า “ระฆัง” นั้น จึงเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องตรงสเป๊กกันกับความเชื่ออย่างนี้ของวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก และก็ดูจะเข้ากันได้ดีกับชุมชนที่เคยตั้งอยู่ที่ฟากตรงข้ามของริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาของวัดระฆัง ที่ในยุคปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเคยถูกเรียกว่า “บางจีน”

ที่เรียกว่า “บางจีน” นั้น ก็เป็นเพราะเป็นชุมชนของชาวจีนนั่นแหละครับ

เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวัง ขึ้นคร่อมทับบริเวณแห่งนี้ โดยโปรดให้ย้ายชุมชนจีนที่นี่ ไปอยู่ที่บริเวณ “สำเพ็ง” ที่มีวัดสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา (ย่านตลาดน้อย) เป็นศูนย์กลาง จนเกิดเป็นวลีในสมัยนั้นว่า “ไล่ที่ทำวัง”

การค้นพบระฆังที่วัดบางหว้าใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีฐานะอะไรไม่ต่างไปจากการค้นพบช้างเผือกในระหว่างที่ครองราชย์ และสำคัญพอที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ให้เป็นชื่อ “วัดระฆัง” นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ มีประวัติด้วยว่า เมื่อสมัยที่รัชกาลที่ 1 ยังรับราชการเป็น “พระราชนรินทร” ในกรมพระตำรวจ ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ได้ทรงยกเรือนไม้ 3 ห้อง อันเป็นตำหนักที่ประทับของพระองค์ (เข้าใจว่า หมายถึงที่ประทับตรงที่ปัจจุบันเป็นวัดวงศมูลวิหาร ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตกรมอู่ทหารเรือ) ให้กับวัดบางหว้าใหญ่ ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆัง

และนับจากนั้นเป็นต้นมา เรือนไม้ 3 ห้องนี้ ได้ถูกใช้เป็น “หอไตร” ของวัดบางหว้าใหญ่เรื่อยมา จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังในภายหลัง

หลังจากรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 ปี ตรงกับเรือน พ.ศ.2327 ก็ทรงโปรดให้มีการบูรณะหอไตร ที่วัดบางหว้าใหญ่ หรือวัดระฆัง โดยการบูรณะในครั้งนี้ ทรงโปรดให้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ภายในหอไตรด้วย

มีประวัติเล่าว่า ผู้ที่ทำการเขียนภาพจิตรกรรมภายในหอไตรนี้ คือครูช่างใหญ่ ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยาอย่าง “พระอาจารย์” ซึ่งครองเพศเป็นสมณสงฆ์ โดยคงมีนายช่างฝีมือดีท่านอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย

ผลงานทั้งจิตรกรรม ลวดลายสลัก และฝีมือช่างต่างๆ ที่หอไตร วัดระฆัง จึงถูกยกย่องว่าเป็นผลงานชั้นยอด ถึงขนาดผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” อย่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เคยตรัสเอาไว้ว่า

“ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้ว (หมายถึง หอไตร วัดระฆัง-ผู้เขียน) จะไม่อยากกลับบ้าน”

 

เฉพาะในส่วนของภาพจิตรกรรมที่ถูกเขียนอยู่ภายในหอไตร ที่ว่ากันว่าเป็นฝืมือของพระอาจารย์นาคนั้น มีกลุ่มภาพเขียนที่น่าสนใจซึ่งผมอยากจะกล่าวถึงในที่นี้อยู่ 2 ภาพ หนึ่งคือ ภาพวาดชาดก (หมายถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้า) เรื่อง มฆมานพ และอีกหนึ่งคือภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์

เรื่องของมฆมาณพ ที่ว่าด้วยเศรษฐีผู้บำเพ็ญบารมีจากการสร้างสาธารณูปโภคอย่างศาลาที่พัก จนกระทั่งได้เสวยชาติเป็นพระอินทร์หลังจากที่เสียชีวิตไป

ที่สำคัญยิ่งก็คือ ในความเชื่อแบบพุทธ “พระอินทร์” คือตำแหน่งของ “เทวราช” บนสรวงสวรรค์ ไม่ใช่ชื่อเฉพาะตนของเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง

ภาพจิตรกรรมตอนนี้เขียนรูปตอนที่บรรดาคนงานของมฆมาณพกำลังสร้างศาลาหรือเรือนพัก ไม่ต่างไปจากภาพในจินตนาการว่ารัชกาลที่ 1 พระองค์ท่านทรงโปรดให้รื้อเรือนพักเดิมของพระองค์มาถวายเป็นพุทธบูชาให้แก่วัดแห่งนี้ แล้วก็ค่อยเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็น “พระมหากษัตริย์” เหนือผู้คนทั้งหลาย ไม่ต่างกับมฆมานพที่กลายไปเป็น “เทวราช” บนสรวงสวรรค์ โดยเฉพาะเมื่อเมืองที่รัชกาลที่ 1 ครองราชย์นั้นคือ “กรุงเทพพระมหานคร” หรือเมืองของหมู่เทพ

บรรดาคนงานของมฆมาณพช่วยกันก่อสร้างศาลาธรรม โดยมีมฆมาณพเป็นผู้ควบคุมดูแล จิตรกรรมฝาผนังหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม /ภาพประกอบ: Art work of Siam

และก็อย่างที่บอกนะครับว่า ตามคติพุทธเถรวาทแล้ว “พระอินทร์” เป็นตำแหน่ง ดังนั้น ก่อนที่มฆมานพจะเป็นเทวราชได้ก็จึงต้อง “รัฐประหาร” พระอินทร์องค์เก่าเสียก่อน โดยเรื่องนี้ก็มีเล่าอยู่ในอรรถกถาของพระธรรมบท และทั้งมีอยู่ในชาดกเรื่องมฆมานพเองด้วยเช่นกัน

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า “มฆมาณพ” และพวกพ้องอีก 32 หน่อ อยากจะขึ้นไปครองดาวดึงส์พิภพ อันเป็นสรวงสวรรค์ที่งดงามบนยอดเขาพระสุเมรุ จะติดอยู่ก็แค่ว่าสัมภาราสูรยังคงครองอำนาจบนดินแดนสวรรค์ที่เรียกว่า “ดาวดึงส์” (คำว่า ดาวดึงส์ แปลว่า 33 เท่ากันกับจำนวนของพวกมฆมานพ) จึงวางอุบายโดยทำทีว่าไปเยี่ยมสัมภารสูร บนยอดเขาพระสุเมรุ พร้อมกับได้นำ “น้ำอมฤต” คือสุรายาเมา ติดไม้ติดมือขึ้นไปร่วมเลี้ยงฉลองกันด้วย สัมภาราสูรและพวกพ้องเห็นดังนั้น ก็พาซื่อกรอกสุราเลี้ยงฉลองกันจนเมามายไปเสียหมด

ดังนั้น พวกมฆมาณพจึงช่วยกันคนละไม้คนละมือ โยนพวกขั้วอำนาจเก่าตกสวรรค์ ลงไปอยู่ที่ส่วนลึกของโลก ใต้เขาพระสุเมรุกันอย่างขะมักเขม้น จากนั้น “มฆมานพ” ก็ได้เถลิงราชย์ขึ้นเป็นพระอินทร์องค์ใหม่

ถึงแม้ว่าเรื่องราวในส่วนนี้จะไม่ถูกพระอาจารย์ขีดเขียนเป็นภาพลงไปที่ฝาผนังของหอไตร วัดระฆัง แต่ภาพวาดที่อยู่ที่ฝาผนังต่อเนื่องกันกับภาพเรื่องมฆมานพนั้น ก็ถูกเขียนไว้ด้วยรูปเขาพระสุเมรุ และแผนที่เชิงเขาพระสุเมรุอย่างน่าสนใจ

 

ส่วนภาพจิตรกรรมกลุ่มที่ 2 คือภาพเรื่องรามเกียรติ์นั้นมีอยู่ 2 ภาพ คือตอน สุครีพถอนต้นรัง (เมื่อคราวรบกับกุมภกรรณ) และภาพศึกอินทรชิต (อันเป็นตอนต่อเนื่องหลังจากกุมภกรรณสิ้นชีวิตลง)

แน่นอนว่า ที่เกี่ยวข้องกับเราในที่นี้คือ “ศึกอินทรชิต” เพราะเกี่ยวข้องกันกับเรื่องของ “พระอินทร์”

ตามความในรามเกียรติ์ของไทยแล้ว “อินทรชิต” เดิมชื่อ “รณพักตร์” (ในรามายณะของอินเดียว่าชื่อ เมฆนาท) เป็นบุตรของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ที่ไปร่ำเรียนกับพระฤๅษีจนสำเร็จวิชามนต์มหากาลอัคคี แล้วค่อยไปบำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3

โดยพระอิศวรได้ประทานศรพรหมาสตร์ และพรให้แปลงกายเป็นพระอินทร์ได้

ส่วนพระพรหมได้ประทานศรนาคบาศ และให้พรว่าถ้าเศียรของอินทรชิตตกถึงพื้นจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก ต้องใช้พานแว่นฟ้าของพระพรหมรองรับเศียรเอาไว้จึงจะแก้ฤทธิ์ของพรข้อนี้ได้

ในขณะที่พระนารายณ์เพียงแค่ประทานศรวิษณุปาณัมเพียงอย่างเดียว

ด้วยพรต่างๆ อินทรชิตจึงเหิมเกริมขึ้นไปรบกับพระอินทร์ จนเอาชนะพระอินทร์ได้ ทศกัณฐ์จึงเปลี่ยนชื่อจาก “รณพักตร์” มาเป็น “อินทรชิต” หมายถึง “ผู้พิชิตพระอินทร์”

 

รามเกียรติ์ฉบับไทยเล่าว่า ในศึกคราวพระรามยกทัพมากรุงลงกา อินทรชิตสามารถรบชนะพระลักษมณ์ได้หลายครั้ง (แน่นอนว่าในท้ายที่สุด พระลักษมณ์ก็สังหารอินทรชิตได้สำเร็จ)

โดยครั้งหนึ่ง อินทรชิตได้จำแลงร่างเป็นพระอินทร์ แล้วให้เสนายักษ์คู่ใจอย่างการุณราช แปลงเป็นช้างเอราวัณ ส่วนไพร่พลทหารที่เหลือก็แปลงเป็นเทวดา นางฟ้า คนธรรพ์ทั้งหลาย เข้าต่อรบกับพระลักษมณ์ หนุมาน และพรรคพวก

ศึกในครั้งนี้หนุมานหมายจะหักคอช้างเอราวัณปลอม แต่กลับถูกอินทรชิตในคราบของพระอินทร์ฟาดเสียจนสลบเหมือดไปนาน จนกระทั่งพระรามมาพบแล้วเสกมนต์เป่าปากจนฟื้นขึ้นมาได้

ส่วนพระลักษมณ์นั้นอาการหนักยิ่งกว่า เพราะถูกอินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ใส่เสียจนหมดสติไป จนเมื่อหนุมานฟื้นแล้วต้องเหาะไปหายามาแก้ จึงค่อยฟื้นคืนสติ

แต่ก็แปลกดี ที่ช่างกลับเลือกที่จะเขียนภาพฉากศึกที่อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์มันเสียอย่างนั้น?

น่าสนใจนะครับว่า ถ้าภาพของ “มฆมานพ” คือ “พระอินทร์องค์ใหม่” ภายในหอไตร วัดระฆัง จะเปรียบเทียบได้กับ “รัชกาลที่ 1” แล้ว “อินทรชิต” ที่เป็น “พระอินทร์จอมปลอม” จะหมายถึงใครได้หรือเปล่า?

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม วัดที่รัชกาลที่ 1 ทรงได้เคยถวายเรือนพักเดิมมอบให้ไว้ย่อมกลายเป็นวัดที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์แน่ ดังนั้น ถ้าจะมีเรื่องซุบซิบเล่าลือกันว่า มีการขุดค้นพบระฆังโบราณ อันแสดงถึงบุญญาบารมีของกษัตริย์ ในวัดที่เขียนรูปของพระอินทร์องค์ใหม่เอาไว้อย่างนี้ ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหน •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

เมื่อ AI รับตำแหน่ง CEO!
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา จากแว่นของสหรัฐอเมริกาและจีน
เจาะโครงการ ‘น้ำ-คมนาคม’ ของบประมาณ 1.57 แสนล้าน เร่งปั๊ม ศก.-รักษาฐานเสียง รบ.
ชายแดนใต้ ‘เทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา’ ระเบิด เชือดสัตว์พลีทาน และฟุตบอล
ลูกหลานเราจะเติบโตอย่างไร ถ้าเราดูแลครูของเราไม่ดี
MatiTalk ‘เสธ.หิ’ หิมาลัย ผิวพรรณ เปิดใจจุดพลิกผันในชีวิต จากทหารสู่เวทีการเมือง มองอนาคตพรรค ‘รทสช.’
‘ถกเขมรเถียงสยาม’ บทสนทนาสร้าง ‘สติ-ปัญญา’ ในภาวะขัดแย้ง ‘ไทย-กัมพูชา’
‘ครู นักเรียน และ AI’ แค่ไหนเรียกว่าโกง
ดาวกับดวง วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2568 โดยพิมพ์พรร
“พีระพันธุ์” เรียกประชุมด่วน หลังอิหร่านเตรียมปิดช่องแคบฮอร์มุซเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคาและปริมาณสำรองหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร