

‘ตาด’ หรือ ‘ผ้าตาด’ ราคาสูง เป็นสินค้าต่างประเทศที่มีใช้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ดังที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเล่าไว้เป็นระยะๆ ในพระนิพนธ์เรื่อง “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” ตอนหนึ่งทรงชมเชยว่านางผู้เป็นที่รักรู้จักประดิษฐ์ผ้าให้งดงามโดยนำ ‘ตาด’ มาขลิบริมผ้าสีชมพู
“๏ ชมพู่ชมพูนาง ช่างย้อมร่ำก่ำสีใส
แปลบปลาบทราบอกใจ ติดขลิบตาดประหลาทดี ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
การขลิบตาดเป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ก่อนที่ขุนแผนและพลายงามจะยกทัพไปเผชิญทัพเชียงใหม่ ก็แต่งตัวเตรียมพร้อมออกศึก
“นุ่งผ้าตามตำรารณรงค์ เข็มขัดลงยันต์คาดสะอาดงาม
เสื้อลงเลขยันต์ใส่ชั้นใน เสื้อนอกดอกใหญ่ทองอร่าม
แหวนมณฑปนพเก้าดูวาววาม สังวาลสามสายแย่งตะแบงมาน
สวมสายประคำทองเข้าคล้องคอ ทั้งลูกพ่อองอาจชาติทหาร
ใส่หมวกขลิบตาดพระราชทาน ถือฟ้าฟื้นยืนตระหง่านสง่าดี”
จะเห็นได้ว่า ‘ตาด’ ยังคงเป็นผ้าสูงค่าในสมัยรัตนโกสินทร์ หมวกที่ข้าราชบริพารเช่นขุนแผนและลูกชายสวมใส่หาใช่หมวกธรรมดาๆ ไม่ แต่เป็นหมวกพระราชทานที่ขลิบตาดงามประณีต เป็นเกียรติยศและสิริมงคลแก่ตนเอง
นอกจากนี้ ‘ผ้าตารางไหม’ ในบทละครนอกครั้งกรุงเก่าเรื่อง “สังข์ทอง” ที่ยายเฒ่าสุเมธาหมอเสน่ห์นุ่งเข้าวัง “เข้าไปในทับจับย่ามยา แล้วจึงนุ่งผ้าตารางไหม” พบในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากตอนที่พระยาสุโขทัยและภรรยาพาหลานชายไปฝากให้ร่ำเรียนธรรมกับสังฆราชา กวีบรรยายการแต่งกายของยายพลายชุมพล ดังนี้
“ยายเพ็ญจันทร์นั้นนุ่งตารางไหม ห่มปักตะนาวใหม่สมภูมิฐาน”
ใช่จะมีแต่ภรรยาเจ้าเมืองสุโขทัยเท่านั้นที่ใช้ผ้าชนิดนี้ แม้แต่ ‘อีไหม’ บ่าวรับใช้คนสนิทของนางสร้อยฟ้าเมียพระไวย ก็แต่งตัวด้วยผ้าดังกล่าวก่อนไปหาเถนขวาด
“ลูบตัวหัวใส่น้ำมันตะนี ห่มสีนกกะลิงดูพริ้งเพรา
ผ้านุ่งพุ่งไหมตาตาราง สอดซับในบางชมพูเข้า”
จะเห็นได้ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ ‘ผ้าตารางไหม’ ยังคงเป็นที่นิยมทั่วไปตั้งแต่ระดับภรรยาเจ้าเมืองไปจนถึงสาวลาวบ่าวรับใช้ที่มาจากต่างเมือง
มาถึงตอนนี้ขอกลับมาคุยต่อเรื่อง ‘ความนิยมผ้านอกในสังคมไทย’ นอกจากผ้าตาด ยังมี ‘ผ้าที่ทำจากขนสัตว์’ ดังที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพรรณนาไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนหนึ่งว่า
“๏ เห็นสมุนเจ้าอุ่นเนื้อ คิดสมุนเสื้อเมื่อซับทรง
ขนกลับเข้ากับองค์ เสื้อริ้วทองปล้องน้อยงาม ฯ
“๏ เห็นสมุนอุ่นแอบเนื้อ แนบนอน
คิดสมุนเสมอสมร ใส่เสื้อ
ขนกลับเข้ากับอร องค์อ่า
เสื้อริ้วทองน้อยเนื้อ เอกปล้องขจิตงาม ฯ”
ครั้งแรกที่เห็นตัวอย่างนี้ บอกตรงๆ ว่างงเหลือหลาย ‘สมุน’ คืออะไรกันแน่ ทำไมถึงมีประสิทธิภาพทำให้ร่างกายอุ่นได้ ความที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน จึงไม่เคยคิดไปถึงขนสัตว์ที่ใช้ทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของเมืองหนาว
แต่พอได้อ่านบทความของศาสตราจารย์กุสุมา รักษมณี (ราชบัณฑิต) เรื่อง ‘ขนสมุน’ จาก “ค้นคำไขความ ๒๙” ของสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561 อะไรๆ ที่เคยมืดมัวก็หายสิ้น ท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับตัวอย่างข้างต้นว่า
“วรรณคดีเรื่องนี้เป็นบทพรรณนาธรรมชาติที่ทำให้กวีมีจิตประหวัดถึงหญิงคนรัก เช่น “นกขมิ้นคิดขมิ้นเจ้า” “บัวขาวคิดผ้าน้อง” “นางนวลนึกนิ่มเนื้อ” เมื่อเห็น ‘สมุน’ ที่เป็นสัตว์ก็นึกถึงขนสมุนที่ทำเป็นเสื้อผ้าของนาง จากกาพย์ห่อโคลงบทนี้ ได้ความชัดขึ้นว่า สมุนเป็นสัตว์ที่มีขนยาวปกป้องกายให้อุ่น ขนใช้สำหรับ ‘ซับ’ เสื้อผ้าประดับให้งาม เป็นของสูงค่าคู่กับ ‘ริ้วทอง’ ที่เป็นลายเสื้อ
แล้ว ‘สมุน’ คือสัตว์ชนิดใด หาคำตอบจากพจนานุกรมคำไทยยังไม่พบ แต่ไปพบในภาษาเปอร์เซียซึ่งอ้างว่ามาจากคำอาหรับอีกที
คือคำว่า Samuur ในพจนานุกรมภาษาอาหรับและพจนานุกรมภาษาเปอร์เซียอธิบายไว้สอดคล้องกันว่าเป็นชื่อเรียกสัตว์ชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษว่า sable มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Martes zibellina
ในที่นี้จะขอเรียก sable ว่า ‘สมุน’ เพราะเสียงคำใกล้กับ samuur ในภาษาอาหรับและเปอร์เซีย อีกทั้งในภาษาไทยยังหาคำแปลของคำว่า sable ไม่ได้
ค้นต่อไปได้ความว่า ‘สมุน’ อยู่ในวงศ์ Mustelidae (วงศ์เดียวกับนาก) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตัวเล็ก ขนสีน้ำตาลไหม้ก็มี ดำก็มี หางเป็นพวงยาวงาม แต่ก่อนคนชั้นสูงนิยมนำ ‘ขนสมุน’ มาประดับเสื้อผ้า เพราะขนนุ่ม สวยงาม และราคาสูงกว่าขนสัตว์อื่น
‘ขนสมุน’ มักใช้เป็นเครื่องบรรณาการและของกำนัลสูงค่า นอกจากใช้ประโยชน์แล้ว ยังแสดงให้เห็นรสนิยมสุนทรีย์ของผู้ใช้ด้วย………ฯลฯ………
คำว่า ‘ขนสมุน’ มีที่มาจากชื่อ samuur. ในภาษาอาหรับ/เปอร์เซียหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานมากไปกว่านี้ เพียงแต่อาจสันนิษฐานโดยอนุมานจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างราชสำนักเปอร์เซียกับสยามในสมัยอยุธยา ซึ่งคงทำให้คนไทยเคยรู้จักคำนี้บ้างแล้ว จึงได้ปรากฏในวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายดังกล่าวนั้น”
รายละเอียดบางส่วนจากบทความของศาสตราจารย์กุสุมา รักษมณี (ราชบัณฑิต) ช่วยยืนยันว่าผ้าต่างประเทศที่มีขนสัตว์เป็นส่วนประกอบ น่าจะมีบทบาทต่อราชสำนักไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังจะเห็นได้จากที่กวีพรรณนาว่า
“๏ เห็นสมุนเจ้าอุ่นเนื้อ คิดสมุนเสื้อเมื่อซับทรง”
‘ผ้านอก’ มิได้มีแค่ผ้าจาก ‘ขนสมุน’ เท่านั้น ‘ส่าน’ หรือ ‘ผ้าส่าน’ ก็อย่ามองข้าม
ติดตามฉบับหน้า •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022