

สังคมไทยกับเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่จีนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมาทีหลัง เงียบๆ และลงลึก
ว่าไปแล้วขบวนธุรกิจจีนสู่ไทยเป็นไปอย่างคึกคัก และครึกโครมในช่วงเวลากระชั้น เพิ่งผ่านไปเพียงราวทศวรรษเดียว ตามยุทธศาสตร์และแผนการใหญ่ขยายตัวสู่ภูมิภาค
กล่าวอย่างเจาะจง ผู้นำ ผู้อยู่หัวขบวนคือ บริษัทรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise – SOE)
ธนาคาร
ICBC (Industrial and Commercial Bank of China) ว่ากันว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมูลค่าสินทรัพย์ และเป็นหนึ่งใน Big Four Banks ของจีน (นอกจาก Bank of China, China Construction Bank และ Agricultural Bank of China)
หลังจากเข้าตลาดหุ้น (2548-รายละเอียดกล่าวไว้ในตอนที่แล้ว) ไม่นาน ICBC ได้เริ่มต้นขยายเครือข่ายในต่างประเทศ ประเดิมด้วยเข้าซื้อกิจการ Bank Halim ในอินโดนีเซีย (2550) ก่อนจะมาไทยในจังหวะและโอกาสที่มาถึง
ช่วงเวลาระบบธนาคารไทยปรับตัวครั้งใหญ่ อันเป็นผลพวงมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสังคมธุรกิจไทย ธนาคารต่างชาติเข้ามามีอิทธิพล หลังจากผ่านยุคอาณานิคมไปแล้วเกือบศตวรรษ
ในปี 2553 ICBC ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารสินเอเชีย (ACL Bank) ธนาคารใหม่ซึ่งทางการเปิดช่องให้เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังเว้นวรรคไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยจากตระกูลโสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ
จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นที่น่าสังเกตในช่วงเวลาต่อเนื่องกันนั้น ธนาคารกรุงเทพได้เป็นธนาคารไทยแห่งแรก ได้รับอนุมัติจากทางการจีน ให้ดำเนินกิจการธนาคารเต็มรูปแบบในจีนแผ่นดินใหญ่
จุดเริ่มต้น ไอซีบีซี (ไทย) มีสาขา 11 แห่ง ล่าสุด (2024) ขยายสาขาเป็น 22 แห่ง (ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, ภูเก็ต) โดยมีสินทรัพย์รวมราว 1.2 แสนล้านบาท
กิจการดำเนินไปด้วยดีในช่วงเกือบๆ ทศวรรษมานี้ พร้อมๆ กับการมาถึงของเครือข่ายธุรกิจ และนักท่องที่ยวจีน จากกำไร 450 ล้านบาท (2558) เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เป็น 1,200 ล้านบาท (2566)
ยานยนต์
ปี 2556 SAIC Motor-CP Co., Ltd. ก่อตั้งขึ้นเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง SAIC Motor ของจีนและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แทบจะทันที ได้สร้างโรงงานผลิต (2567) ณ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นับเป็นฐานการผลิตใหม่แห่งแรกนอกประทศจีน ตั้งใจให้เป็นฮับอาเซียน ก่อนจะขยายฐานไปยังเอเชียใต้ในเวลาต่อมา ที่อินเดีย (2562)
แผนการในไทยข้างต้น ถือว่ามีความสำคัญ เป็นจุดตั้งต้นในการขยายเครือข่าย ขยายตลาดต่างประเทศ ต่อเนื่องจากกรณี SAIC เข้าซื้อ MG Rover แห่งอังกฤษ (2550) และได้แบรนด์ MG (Morris Garages)
SAIC Motor-CP ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะ EV จีนในไทย ในเวลาต่อจากนั้น เครือข่ายธุรกิจยานยนต์จีนรายอื่นๆ ก็ตามกันมาเป็นขบวน
สื่อสาร
เช่นกันเมื่อเข้าตลาดหุ้นระดับโลกแล้ว China Mobile ได้มีแผนการก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจกว้างขึ้น ตามแบบแผน SOE ของจีน มีเป้าหมายประเทศในเอเชียและแอฟริกา เปิดฉากอย่างสำคัญที่ประเทศปากีสถาน (2550) โดยการซื้อกิจการ Paktel เป็นเครือข่ายของ Cable and Wireless แห่งอังกฤษ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ZONG
ปี 2557 China Mobile ได้เข้ามาถือหุ้นบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE บริษัทแกนของธุรกิจสื่อสารในเครือซีพี ในช่วงที่ต้องการเงินทุนจำนวนมาก เข้าประมูลคลื่นความถี่ 4G (2558) ซึ่ง TRUE หมายมั่นปั้นมือเป็นพิเศษ จะเป็นจังหวะและโอกาสขยับฐานะจากผู้ตาม ผู้มาทีหลัง
“กลุ่มทรูได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียซึ่งถือหุ้นทรูในสัดส่วนร้อยละ 56 และ China Mobile ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งถือหุ้นทรูในสัดส่วนร้อยละ 18 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มทรูมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วทั้งสิ้น 133,473 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทมิได้มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจอื่นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญ มีเพียงความสัมพันธ์กันแต่เพียงครั้งคราวเฉพาะบางธุรกรรมเท่านั้น” ข้อความตอนหนึ่งในรายงานประจำปี 2559 บริษัททรูคอร์ปอเรชั่นว่าไว้
ในช่วงกระบวนการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC (2563-2565) ปรากฏว่า China Mobile ลดบทบาทลงบ้าง เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการถือหุ้น
ล่าสุดลดลงมาเหลือเกือบ 8% คงเป็นสัดส่วนมีนัยยะ สามารถมีตัวแทนหนึ่งคนในคณะกรรมการบริษัทซึ่งปรับโครงสร้างใหม่แต่ชื่อเดิม
ก่อสร้าง
หากเทียบกับแล้ว China Railway Group Limited (CREC) มีบทบาททั้งในและต่างประเทศตามยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลจีนมากกว่า SOE รายอื่นที่กล่าวมา
แผนการขยายกิจการในต่างประเทศ เริ่มต้นอย่างคึกคัก ราวทศวรรษเดียวมานี้ โดยมีบทบาทอย่างสำคัญเกี่ยวกับ Belt and Road Initiative (BRI) หรือ “One Belt One Road” ยุทธศาสตร์การลงทุนระดับโลกของจีน เริ่มต้นในปี 2556 โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในแผนการสร้างเครือข่ายการค้า การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมจีนกับโลก โดยเฉพาะเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้
“ปัจจุบัน CREC ดำเนินงานใน 33 ประเทศและภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์ Belt and Road กำลังดำเนินการมีถึง 165 โครงการในต่างประเทศ ด้วยมูลค่า 19.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” ข้อมูลทางการ CREC (www.crecg.com) ระบุไว้ โดยให้ความสำคัญ ยกตัวอย่าง (อ้างเฉพาะในอาเซียน) รถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย ระหว่างจาการ์ตา-บันดุง รถไฟจีน-ลาว ระหว่างเวียงจันทน์-บ่อเต็น รถไฟรางเบาฮานอยในเวียดนาม และรถไฟสายใต้ ในมาเลเซีย
CREC ไม่เพียงมีบทบาทสร้างทางรถไฟ หากครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน อสังหาริมทรัพย์ และระบบสาธารณูปโภค
Deep Seek ให้ข้อมูลข้างต้นเกี่ยวกับโครงการอื่นๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ขอคัดกรองเฉพาะโครงการในประเทศอาเซียน อาทิ ปรับปรุงและขยายสนามบินนานาชาติเวียงจันทน์ในลาว (2558-2561) โรงไฟฟ้าถ่านหิน Sihanoukville ในกัมพูชา (2560-2564) ศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียม New Klang Valley ในมาเลเซีย (2561-2565) และโครงการเมืองใหม่ Diamond Island ในกัมพูชา (2563-ปัจจุบัน) เป็นต้น
ส่วนประเทศไทย อยู่ในระหว่างก่อสร้าง เป็นงานใหญ่ เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นชิ้นส่วนในยุทธศาสตร์ BRI คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง ว่าไปแล้วน่าจะเป็นโครงการใช้เวลา เจรจา ดีล และกว่าจะดำเนินการ นานที่สุดโครงการหนึ่งก็ว่าได้ ในบรรดางานใหญ่ ซึ่ง CREC ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ
เมื่อถาม Deep Seek ย้ำว่า “ทั้ง 4 บริษัทที่อ้างถึงข้างต้น ถือเป็นกิจการประเภทเดียวกันใช่ไหม” ได้คำตอบอย่างชัดเจนว่า “ใช่ ทั้ง 4 บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจจีน…ICBC SAIC Motor China Mobile และ CREC จัดเป็น State-Owned Enterprises (SOEs) ของจีน โดยรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือควบคุมนโยบายหลัก แต่มีรายละเอียดแตกต่าง”
ในความแตกต่างที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เรียกว่า “ระดับการแทรกแซงของรัฐ” Deep Seek ระบุว่า ICBC และ SAIC Motor “รัฐควบคุมน้อย” เน้นกำไรในตลาดที่มีการแข่งขัน
ส่วน China Mobile และ CREC “รัฐควบคุมสูง” เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและโครงสร้างพื้นฐาน •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022